คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไขข้อบังคับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10192/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สหภาพแรงงาน: คุณสมบัติสมาชิกต้องเป็นลูกจ้างในกิจการประเภทเดียวกัน การแก้ไขข้อบังคับต้องไม่ขัดกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 88 มาตรา 89 วรรคหนึ่ง และมาตรา 95 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าสหภาพแรงงานมี 2 ประเภท คือ 1. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน 2. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน โจทก์เป็นสหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน ดังนั้นคุณสมบัติของสมาชิกโจทก์ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน เมื่อโจทก์ยอมรับว่ากิจการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นกิจการคนละประเภทกับที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโจทก์ขอจดทะเบียนไว้ โจทก์ไม่อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองไม่รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10192/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สหภาพแรงงาน: คุณสมบัติสมาชิกต้องเป็นลูกจ้างในกิจการประเภทเดียวกัน การแก้ไขข้อบังคับต้องไม่ขัดกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 88, 89 วรรคหนึ่ง และ 95 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่า สหภาพแรงงานมี 2 ประเภท คือ 1. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ก็จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และ 2. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ก็จะต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน เมื่อโจทก์เป็นสหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน ดังนั้นคุณสมบัติของสมาชิกโจทก์ก็ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และเมื่อโจทก์ยอมรับว่ากิจการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นกิจการคนละประเภทกับที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโจทก์ขอจดทะเบียนไว้ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ข้อ 6 ซึ่งกำหนดว่า "สมาชิกของสหภาพแรงงานต้องมีคุณสมบัติเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการผลิตและ/หรือประกอบชิ้นส่วนยานยนต์" เป็นว่า "สมาชิกของสหภาพแรงงานต้องมีคุณสมบัติเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หรือชิ้นส่วนโลหะ" จึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396-8399/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่แก้ไขแล้วแต่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาให้ใช้ข้อบังคับเดิมแทน
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมิฉะนั้นจำเลยจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 จนมีการเจรจาตกลงกัน หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ดังกล่าว การที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าว ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบาจึงไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงต้องใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบา และรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5 และ 23 ส่วนรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ข้อ 22 และ 25 ไม่มีผลบังคับ ดังนั้น บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.9 ที่จำเลยทำกับสหภาพแรงงานโรงแรม อ. ข้อ 3 ที่มีข้อความว่า "สภาพการจ้างใดไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้มีผลบังคับตามเดิม..." จึงมีความหมายว่า สภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบา และรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงที่กำหนดไว้ในข้อ 5 และ 23 ยังคงใช้บังคับตามเอกสารหมาย จ.2 เช่นเดิม ส่วนรายละเอียดความผิดโทษร้ายแรง ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ข้อ 23 และ 25 ไม่มีผลใช้บังคับ
แม้ว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานโรงแรม อ. ที่ยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.2 โจทก์ทั้งสี่ถูกผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ตกลงกันได้ตามเอกสารหมาย ล.9 แต่เมื่อจำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนที่ไม่เป็นคุณไม่มีผลใช้บังคับมาใช้บังคับแก่ลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง
อนึ่ง การที่จำเลยประกาศให้ลูกจ้างนำหนังสือคู่มือพนักงานฉบับเก่ามาเปลี่ยนเพื่อขอรับหนังสือคู่มือพนักงานฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.3 แสดงว่าจำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (คู่มือพนักงาน) เอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 บังคับแก่ลูกจ้างทุกคน เมื่อเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบาและรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงข้อ 5, 22, 23 และ 25 ไม่มีผลใช้บังคับ ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย เห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396-8399/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อบังคับการทำงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หากไม่เป็นไปตามขั้นตอน ถือเป็นข้อตกลงที่ไม่ชอบ
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 108 บังคับให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และมาตรา 110 บัญญัติเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว โดยให้นายจ้างประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้บัญญัติถึงกระบวนการที่นายจ้างและลูกจ้างต้องปฏิบัติเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กระบวนการดังกล่าวได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หมวด 1 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าในสถานประกอบกิจการมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ ให้ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมิฉะนั้นจำเลยจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างตามมาตรา 13 จนมีการเจรจาตกลงกัน หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต่อไป
จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.2 ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 การที่จำเลยประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 โดยวิธีปิดประกาศให้ลูกจ้างมารับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (หนังสือคู่มือพนักงาน) ฉบับใหม่ มิใช่การดำเนินการแจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือให้ฝ่ายลูกจ้างทราบตามขั้นตอนมาตรา 13 ทั้งการแก้ไขก็ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างจึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
เมื่อจำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนที่ไม่เป็นคุณไม่มีผลใช้บังคับมาใช้บังคับแก่ลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 บังคับแก่ลูกจ้างทุกคน เมื่อเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบา และรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรง ข้อ 5, 22, 23, 25 ไม่มีผลใช้บังคับ ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจแก้ไขข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร - ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 10 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ข้อ 41 ระบุว่า "การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับให้กระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกและมติเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต้องได้รับคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม" เมื่อปรากฏตามรายงานการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 155 เสียง ต่อ 10 เสียง อันเป็นคะแนนเสียงมากกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมตามที่ข้อบังคับข้อ 41 กำหนดไว้ มติดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้" บทกฎหมายมาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้นตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไป ไม่มีข้อความใดที่ระบุห้ามมิให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรกระทำการดังกล่าว แม้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจะเป็นผู้รับโอนสาธารณูปโภคมาจากผู้จัดสรรที่ดินตามมาตรา 44 (1) แต่ก็มีที่มาต่างกันโดยมาตรา 4 กำหนดคำนิยามของ "ผู้จัดสรรที่ดิน" หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินและให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนใบอนุญาตด้วย ส่วน "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม มาตรา 45 และ 46 แม้มีหน้าที่รับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคตามมาตรา 44 (1) ด้วยก็ตาม แต่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้เป็นผู้จัดสรรที่ดินโดยตรง และไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ดังนั้น "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" จึงไม่ใช่ "ผู้จัดสรรที่ดิน" ตามนัยของกฎหมายข้างต้น บทบัญญัติมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่อาจนำมาบังคับใช้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 48 ที่บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค... (5) จัดให้มีบริการสาธารณะเพื่อสวัสดิการของสมาชิกหรือจัดสรรเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสาธารณะประโยชน์...." ก็มิได้มีบทบังคับว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 43 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผู้จัดสรรที่ดินเป็นเพียงผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเป็นบุคคลภายนอกเมื่อจัดสรรที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตเสร็จสิ้นครบถ้วนแล้วก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินจัดสรรอีก แต่สำหรับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรหรือสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ดินจัดสรรและสิ่งปลูกสร้างซึ่งต้องอยู่ร่วมกันกับสมาชิกอื่นด้วย สมาชิกแต่ละคนจึงมีสิทธิในทรัพย์สินส่วนกลางและมีดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางที่จะกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินส่วนกลาง และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดำเนินการตามอำเภอใจไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิก มาตรา 48 วรรคท้าย ก็กำหนดว่าการดำเนินการใดบ้างจะต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่สมาชิก อันเป็นหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมระบอบประชาธิปไตย นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกย่อมมีอำนาจวางข้อกำหนดเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกจำกัดด้วยมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกจำเลยที่ 1 มีมติให้แก้ไขข้อบังคับข้อ 40 แม้การแก้ไขดังกล่าวจะมีผลทำให้การใช้ประโยชน์จากสาธารณประโยชน์ลดน้อยลงก็มีอำนาจกระทำได้
of 2