คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนเงิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12164/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: การโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตและการผิดนัดชำระหนี้
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในข้อที่ 1 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,150,000 บาท โดยแบ่งชำระงวดที่ 1 ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เป็นเงิน 600,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ท. สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) ของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 2 กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินว่า จำเลยที่ 2 จะชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เมื่อการชำระหนี้กระทำโดยจำเลยที่ 2 โอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันดังกล่าวก็ต้องปรากฏยอดเงินที่จำเลยที่ 2 โอนไป จึงจะถือว่าจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตรงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
เงื่อนไขการโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตกำหนดว่า หากลูกค้าทำรายการภายในเวลา 22 นาฬิกา ของวันทำการ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีผู้รับโอนภายในวันทำรายการที่ 2 ถัดจากวันที่กำหนดโอนเงิน ลูกค้าที่สมัครวิธีโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจะต้องรับทราบเงื่อนไขและขั้นตอนการโอนเงินของธนาคาร โดยลูกค้าจะต้องลงลายมือชื่อรับทราบไว้ จำเลยที่ 2 รู้เงื่อนไขของธนาคารว่าเงินที่จำเลยที่ 2 โอนจะเข้าบัญชีของผู้รับโอนเมื่อใด แม้จำเลยที่ 2 จะโอนเงินก่อนวันถึงเวลากำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ 1 วัน แต่เงินที่โอนนั้นเข้าบัญชีโจทก์เมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระเงินถึง 4 วัน จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำหรือไม่? การโอนเงินโดยไม่มีนิติสัมพันธ์ และผลผูกพันตามคำพิพากษาเดิม
ประเด็นตามคำฟ้องคดีก่อนเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในแบบคำขอสินเชื่อ หนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเอกสารประกอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ เท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามฟ้อง ส่วนฟ้องโจทก์คดีนี้ โจทก์ยอมรับผลของคำพิพากษาคดีก่อนว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์และกล่าวอ้างว่าการที่โจทก์โอนเงิน 600,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลย โดยโจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยผลของคำพิพากษาคดีก่อนมาเป็นมูลฟ้องร้องในคดีนี้ แม้เงินที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในคดีนี้จะเป็นเงินจำนวนเดียวกับในคดีก่อนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการฟ้องโดยอาศัยสภาพแห่งข้อหาที่ต่างกัน ไม่ถือเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
ส่วนปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดคืนเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน เมื่อพยานหลักฐานในคดีก่อนฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับเงินตามฟ้องจากโจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินตามฟ้องแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในละเมิดจากการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้กระทำละเมิดและผลกระทบของการชดใช้ค่าเสียหายบางส่วน รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือตามจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ว่า ในคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ตามสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ท้ายคำแถลง เมื่อคดีอาญาในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้จำหน่ายคดีไปโดยไม่ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงอันถึงที่สุดในคดีอาญาที่ศาลในคดีนี้จำต้องถือตาม การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ
of 2