คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คู่สมรส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 194 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสและการเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสซ้อน: การสมรสที่เกิดขึ้นในขณะที่มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นโมฆะ แม้จะกระทำโดยสุจริต
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น แม้จำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้ว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมาถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจดทะเบียนสมรสบัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะ
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมี บ. เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่าง อ. กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินให้คู่สมรสเป็นสินส่วนตัว และการยินยอมโดยปริยายต่อการนำเงินจากการขายทรัพย์สินไปใช้เลี้ยงดูบุตร
โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ให้แก่จําเลย มิใช่ให้จําเลยถือครองที่ดินแทนโจทก์ และตามสำเนาโฉนดที่ดินระบุว่า โจทก์ได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 30376 ดังกล่าวมาโดยการรับโอนมรดก ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จําเลยโดยไม่ได้ระบุว่า ให้เป็นสินสมรส ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจําเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) และ 1474 (2) จําเลยย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวได้เอง ตามมาตรา 1473 ดังนั้น การที่จําเลยจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ผ. ไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่จําต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้ให้ความยินยอมในการขายที่ดินของจําเลยหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวแก่จําเลยในระหว่างสมรส อันเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกล้างเสียในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่เมื่อจําเลยได้ขายที่ดินไปเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ประกอบกับหลังจากปี 2559 โจทก็ไม่ได้ส่งค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่จําเลย เนื่องจากจําเลยผิดข้อตกลงเรื่องหย่า และโจทก์คิดว่าจําเลยมีเงินส่งเสียบุตร เพราะจําเลยขายที่ดินที่โจทก์ยกให้ไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมโดยปริยายให้นําเงินที่ได้จากการขายที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูจําเลยและบุตรของโจทก์ เฉพาะอย่างยิ่งบุตรโจทก์กําลังศึกษาอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงไม่เป็นกรณีที่โจทก์จะฟ้องขอให้จําเลยคืนเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้สัตยาบันแก่หนี้ของคู่สมรส: ต้องมีหนี้เกิดขึ้นก่อนจึงจะให้สัตยาบันได้
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) มิได้ให้นิยามหรือคำจำกัดความของคำว่าสัตยาบันไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งพอสรุปได้ว่า สัตยาบัน คือ การยืนยันรับรองความตกลงหรือการรับรองนิติกรรม และเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า บุคคลจะยืนยันรับรองความตกลงหรือรับรองนิติกรรมใดได้ ย่อมต้องมีข้อตกลงหรือนิติกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันของสามีหรือภริยาแก่หนี้ที่อีกฝ่ายก่อขึ้นตามมาตรา 1490 (4) ย่อมมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ต้องมีหนี้เกิดขึ้นเสียก่อนสามีหรือภริยาถึงจะให้สัตยาบันได้ การให้ความยินยอมในขณะที่ยังไม่มีความตกลง ไม่มีนิติกรรมหรือไม่มีหนี้เกิดขึ้น ย่อมไม่ต้องด้วยความหมายของการให้สัตยาบัน โจทก์ไม่อาจถือเอาหนังสือยินยอมคู่สมรสที่จำเลยที่ 7 ทำไว้ต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 มาเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 และวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)
of 20