คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,226 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9770/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างในการได้รับใบสำคัญแสดงการทำงานและดอกเบี้ยเงินประกันการทำงานหลังลาออก
หลังจากการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงด้วยการลาออก จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ตามที่ขอ โจทก์ชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 585
ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ตรงกับเนื้อหาส่วนคำวินิจฉัยที่ให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามฟ้อง ทั้งเมื่อโจทก์ลาออกมีผลในวันที่ 7 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันลาออกดังกล่าว คือต้องคืนเงินประกันการทำงานภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2552 หากจำเลยที่ 1 ไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายในวันดังกล่าวจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 10 วรรคสอง กรณีดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9384/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ห้ามหักค่าใช้จ่ายสวัสดิการลูกจ้างจากค่าจ้าง หากไม่ใช่การชำระภาษีหรือหนี้ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยตรง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (3) หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง ตามหนังสือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตากขอความร่วมมือไปยังนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าว ให้จัดหาที่พักให้แก่แรงงานต่างด้าวเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชุมชนและเป็นไปเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกจ้างในการที่จะทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ทั้งโจทก์ก็ได้รับประโยชน์เป็นตัวเงินได้เพราะมีผลทำให้จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดน้อยลงด้วย หนังสือดังกล่าวมิใช่กฎหมายแต่เป็นเพียงหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการไปยังผู้ประกอบกิจการเอกชนเท่านั้น ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ และค่าใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวจึงมิใช่เงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ลูกจ้างต้องชำระและนายจ้างชำระแทนลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) หากแต่เป็นสวัสดิการที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจัดหาให้แก่ลูกจ้าง เพื่อให้ความสะดวกแก่โจทก์สามารถจ้างงานลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้องตามที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตากมีหนังสือขอความร่วมมือโดยโจทก์ได้รับประโยชน์จากการออกค่าใช้จ่ายนั้นด้วย เงินดังกล่าวจึงมิใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (3) โจทก์จึงไม่สามารถหักเงินค่าใช้จ่ายนั้นออกจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้
การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ย่อมหมายความว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลแรงงานพิจารณาทบทวนคำสั่งของจำเลยว่าถูกต้องหรือไม่ หากจำเลยมีคำสั่งไม่ถูกต้องศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของจำเลยได้ โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องเพราะหนี้ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องบางส่วนขาดอายุความและโจทก์มีสิทธินำค่าใช้จ่ายหักจากหนี้ดังกล่าวโจทก์จะไม่มีเงินค้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลยและขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยให้การว่าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องยังไม่ขาดอายุความและโจทก์ไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่าย แม้ศาลแรงงานภาค 6 จะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุที่ต้องแก้ไขคำสั่งของจำเลยหรือไม่ แต่การที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามที่อ้างมาหักจากเงินที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างได้ แต่ที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ลูกจ้างโดยนำเอาหนี้ตามสิทธิเรียกร้องบางส่วนที่ขาดอายุความมาคิดคำนวณด้วยไม่ถูกต้องนั้น ก็เกี่ยวเนื่องโดยตรงที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังคำฟ้องหรือคำให้การว่าคำสั่งของจำเลยถูกต้องหรือไม่ เมื่อเห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องบางส่วน ศาลแรงงานภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำสั่งของจำเลยในส่วนที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวโดยมิต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งหมดได้ กรณีมิใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8759/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายสถานประกอบการมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง สิทธิในการได้รับค่าชดเชยพิเศษ
กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึงนายจ้างได้ปิดสถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมแล้วย้ายไปเปิดในที่แห่งใหม่อันมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่จอดเก็บรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.507 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจะต้องเริ่มต้นมาที่อู่ปากน้ำ เวลา 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นกะแรกเพื่อลงชื่อก่อนทำงานแล้วรับรถขับออกจากอู่ไปยังปลายทางสายใต้ใหม่แล้วขับวนกลับมาที่อู่ปากน้ำ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วโจทก์จะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำรถไปจอดเก็บไว้ที่อู่ปากน้ำจึงกลับบ้านได้ เมื่อจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่จำเลยใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นแล้ว เมื่อโจทก์มีบ้านอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร โดยโจทก์พักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและโจทก์ต้องดูแล เมื่อพิจารณาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นมาทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว แสดงว่าหากโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการจากอู่ปากน้ำไปที่อู่สายใต้ใหม่ ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่โจทก์หรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือครอบครัว หากโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยโดยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้มีผลในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว
ค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) เป็นเงิน 145,175 บาท เมื่อคิดเป็นค่าชดเชยพิเศษคือร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับจะได้เป็นเงิน 72,587.50 บาท การที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเป็นเงิน 72,587.50 บาท แก่โจทก์ แม้เกินไปจากที่โจทก์มีคำขอบังคับ แต่เป็นการกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามจำนวนเงินที่ถูกต้องแท้จริง จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันสังคมและการพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยมิได้เป็นผู้มีคำวินิจฉัยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำวินิจฉัย แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ลักษณะ 2 หมวด 1 บัญญัติให้เรื่องการเป็นผู้ประกันตนอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของสำนักงานประกันสังคมจำเลย และยังให้สิทธิว่าหากไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่สั่งการตามกฎหมายฉบับนี้ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา 85 คณะกรรมการอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 86 ก็เป็นคณะกรรมการของจำเลยโดยผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการเพื่อต้องการให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งในหน่วยงานของจำเลย นอกจากนี้มาตรา 87 วรรคท้าย ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้อีกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ดังนี้ เมื่อจำเลยแจ้งยกเลิกการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ นอกจากจะพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย เมื่อโจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท ต. ไม่ต้องลงเวลาทำงาน สามารถตัดสินใจในกิจการของบริษัทได้โดยลำพังไม่ต้องปรึกษาผู้ใด โดยโจทก์มีหน้าที่ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัท และงบดุลของบริษัท ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวมีรายได้จากการขายสินค้าแต่อย่างใด แสดงว่าลักษณะการทำงานของโจทก์นั้น โจทก์จะทำงานอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน ก็ไม่มีการให้คุณให้โทษแก่โจทก์ อันแสดงให้เห็นว่าการทำงานของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท ต. ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาห้ามแข่งขันหลังพ้นงาน: การจำกัดสิทธิลูกจ้างต้องเป็นธรรมและมีระยะเวลาที่สมเหตุสมผล มิฉะนั้นอาจเป็นโมฆะ
โจทก์ผลิตเครื่องสำอางซึ่งในการประกอบกิจการโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ด้วยการทำข้อตกลงกับจำเลยในการห้ามประกอบกิจการหรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์ สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานของนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์นั้น เมื่อข้อตกลงมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 1 ปี ถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร ไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
หลังจากจำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ภายใน 1 ปี แล้วไปทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะทางการค้าคล้ายกัน เข้าเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง แต่ข้อตกลงในสัญญาที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงินจำนวน 500,000 บาท เป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามมาตรา 383 แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาห้ามแข่งขันหลังพ้นงาน: ข้อตกลงที่เป็นธรรมและเบี้ยปรับสูงเกินไป
โจทก์ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันรักษาความลับในทางการค้าได้ จำเลยเป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว มีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าได้ เมื่อพิจารณาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพพนักงานภายในหนึ่งปี จำเลยจะไม่เป็นพนักงานนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน กำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่หนึ่งปีเป็นกำหนดเวลาพอสมควร สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งผลประโยชน์ดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี อย่างไรก็ตามข้อตกลงที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงิน 500,000 บาท นั้นเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงาน เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: นายจ้างต้องสอบสวนลูกจ้างด้วยความเป็นธรรม หากไม่ทำ อาจถูกฟ้องและเลิกจ้างได้
นายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาโดยตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนในการพิจารณาว่าจะลงโทษทางวินัยต่อลูกจ้างผู้นั้นหรือไม่ ซึ่งการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงนั้นจะต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรมให้โอกาสลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาชี้แจงแสดงหลักฐานโดยปราศจากการกลั่นแกล้งบังคับข่มขู่ การที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ดำเนินการดังกล่าวและทำให้ลูกจ้างผู้นั้นได้รับความเสียหาย ถือได้ว่านายจ้างผิดสัญญาจ้างและอาจถูกลูกจ้างฟ้องร้องให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ทั้งยังกระทบต่อระบบการระงับความขัดแย้งหรือข้อพิพาทแรงงานในองค์กรของจำเลยอันเป็นผลให้ลูกจ้างและบุคลากรหรือบุคคลอื่นที่รับทราบขาดความไว้วางใจในการบริหารจัดการองค์กรของจำเลย เมื่อโจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นอินโดจีนซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยและมีผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากได้รับมอบหมายจากจำเลยให้สอบสวนกรณีการแจกรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พ. ลูกจ้างที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ การสอบสวนของโจทก์จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง โจทก์มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวน พ. ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมปราศจากการกลั่นแกล้งบังคับข่มขู่รวมทั้งเปิดโอกาสให้ พ. ชี้แจงแสดงหลักฐาน แต่โจทก์ดำเนินการสอบสวนโดยไม่รับฟังคำชี้แจงของ พ. และไม่นำเสนอหลักฐานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. แจกรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ให้แก่ร้าน ศ. ไปโดยลำพัง โดย พ. ไม่ได้เบียดบังเอารางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ไป และโจทก์กลั่นแกล้งกล่าวหา พ. ว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้วให้เขียนใบลาออก ทำให้ พ. ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารของจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจำเลยอาจถูกฟ้องร้องให้รับผิดจากการกระทำของโจทก์ได้ และเล็งเห็นผลได้อีกว่าจำเลยอาจได้รับผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการข้อพิพาทแรงงานและระบบการบริหารงานบุคคลในองค์กร กรณีมิใช่เป็นความขัดแย้งหรือการกลั่นแกล้งที่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวระหว่างลูกจ้างด้วยกันที่ไม่มีผลกระทบต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5501-5502/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างพักงาน-ค่าจ้าง-วันหยุดพักผ่อนประจำปี กรณีเลิกจ้าง-ความผิดร้ายแรง-เจตนาของระเบียบ
ขณะจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มีระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 บังคับใช้ โดยข้อ 21 กำหนดว่า "ถ้ารัฐวิสาหกิจเลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 46 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ด้วย" และข้อ 46 ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดกรณีรัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้หลายกรณีรวมทั้งการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ดังนั้นกรณีการเลิกจ้างที่รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีต้องเป็นกรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจทำผิดร้ายแรงเท่านั้น เมื่อคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวด 3 ข้อ 2.3.2 กำหนดว่า "ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะไม่จ่ายเงินตอบแทนให้แก่พนักงานผู้ซึ่งสมัครใจไม่หยุดพักผ่อนประจำปีเว้นแต่ในกรณีที่พนักงานออกจากงานระหว่างปีโดยไม่มีความผิดและยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี" จึงต้องแปลให้สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าวว่าการออกจากงานโดยไม่มีความผิดตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น หมายถึงไม่มีความผิดร้ายแรงนั่นเอง
ตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 8 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ ข้อ 2.9 กำหนดแนวทางพักงานระหว่างสอบสวนไว้ว่า "การพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้บริษัทสืบสวนและสอบสวนโดยอิสระว่าพนักงานกระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ซึ่งโดยปกติจะใช้เมื่อมีความผิดร้ายแรง พนักงานซึ่งถูกสั่งพักระหว่างสอบสวนแม้ว่าจะยังไม่ถือเป็นการลงโทษ แต่บริษัทจะพิจารณาจ่ายเงินเดือนให้เพียงร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในขณะพักงานพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะทราบผลการสอบสวนแน่ชัดว่าพนักงานไม่มีความผิดแล้วจึงจะจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบของค่าจ้างสำหรับระยะเวลาที่ถูกพักงานให้" จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้การสอบสวนกระทำโดยอิสระป้องกันไม่ให้พนักงานที่ถูกกล่าวหาไปยุ่งกับพยานหลักฐาน สำหรับการจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบนั้น คู่มือและระเบียบการพนักงานดังกล่าว หมวดที่ 9 ข้อ 2.9 กำหนดว่าจะจ่ายให้เมื่อพนักงานไม่มีความผิดอันมีความหมายอยู่ในตัวว่าพนักงานผู้นั้นไม่มีความผิดใดเลยไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้างขณะขับรถ แม้หลังเลิกงาน หากยังไม่ได้ส่งคืนรถ
ความหมายของคำว่า "ในทางการที่จ้าง" มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้าง จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าการกระทำละเมิดเกิดขึ้นในทางการที่นายจ้างว่าจ้าง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏไว้เลยว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างหรือไม่ อย่างไร ในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถือว่าฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิด กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
of 223