คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นับโทษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 212 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4333/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อจากคดีอาญาเดิม แม้ฟ้องไม่ระบุรายละเอียดคำพิพากษาเดิม ย่อมชอบด้วยกฎหมายหากจำเลยยอมรับ
โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดดังกล่าวมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-นับโทษคดีเช็ค: การฟ้องคดีเช็คใหม่ที่ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และประเด็นการนับโทษเมื่อคดีก่อนถอนฟ้อง
คดีก่อน โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมเช็ค 3 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายพร้อมสัญญากู้เงินก่อนทำหนังสือรับสภาพหนี้และสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง เมื่อเช็คที่โจทก์ทั้งสองนำไปฟ้องจำเลยในคดีก่อนเป็นเช็คคนละฉบับกับที่มาฟ้องเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นการกระทำต่างกัน แม้จำเลยจะออกเช็คเพื่อชำระหนี้อันมีหนี้มาจากหนี้กู้ยืมเช่นเดียวกันก็ตาม โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษคดีที่เกี่ยวพันกัน & การใช้กฎหมายขณะกระทำผิด แม้แยกฟ้อง & มีการแก้ไขกฎหมาย
ป.อ. มาตรา 91 ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปืนอัดลมไม่ใช่ 'อาวุธปืน' ตามกฎหมาย ศาลยกฟ้องความผิดมีอาวุธปืน และพิพากษาให้นับโทษคดีอื่น
แม้ความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อมีการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในข้อหาชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนและโดยใช้ยานพาหนะแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยใช้ปืนอัดลมขู่ผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืนจนผู้เสียหายเกิดความกลัว แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าปืนอัดลมดังกล่าวมีคุณสมบัติและระบบการทำงานซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนได้ อันจะเป็นอาวุธปืนตามบทนิยามคำว่า "อาวุธปืน" แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กรณีจึงไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้ และคดีต้องฟังข้อเท็จจริงว่าปืนอัดลมดังกล่าวมิใช่อาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แต่เป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืน อันถือไม่ได้ว่าเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อเมื่อศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิต และการฟ้องซ้ำในความผิดต่างกรรม
คดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตจำเลย จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะให้นับต่อกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง และโดยสภาพของโทษประหารชีวิตกับโทษจำคุกนั้นก็ไม่อาจนับโทษต่อกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกคดีอาญาต่างสำนวนที่ไม่เกี่ยวพันกัน ศาลสามารถนับโทษต่อกันได้โดยไม่จำกัด 20 ปีตาม ป.อ. มาตรา 91(2)
การรวมโทษของจำเลยทุกคดีแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) นั้น จะต้องปรากฏว่าการกระทำความผิดของจำเลยทุกคดีมีลักษณะเกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ แต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคดีนี้และคดีที่นับโทษต่อ จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนกัน คดีแต่ละสำนวนไม่เกี่ยวพันกันและไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ศาลย่อมนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันอันอาจทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกทุกคดีเกิน 20 ปีได้ หาได้อยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451-4453/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและร่วมกันลักทรัพย์ การหักวันคุมขังและการนับโทษ
ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก ไม่ได้บัญญัติให้ศาลต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเสมอไป ศาลมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกหรือไม่ในแต่ละคดี เพียงแต่บัญญัติบังคับไว้ว่า หากเห็นว่าไม่สมควรหักก็ให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษา
จำเลยที่ 8 ถูกขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาในคดีสำนวนนี้และสำนวนอื่นในเวลาเดียวกันตามหมายขัง 134 คดี เป็นการขังซ้อนกันไป เมื่อศาลได้หักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในคดีกลุ่มอื่นแล้ว การที่จะหักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในสำนวนนี้อีกจึงเป็นการหักที่ซ้ำซ้อนซึ่งทำให้การบังคับโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เป็นไปตามความจริง ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจโดยกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า ไม่หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาคดีนี้ เนื่องจากหักวันคุมขังในกลุ่มคดีอื่นที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังแล้ว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและยุติธรรมดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษหลายกระทงความผิดที่ผู้เสียหายต่างรายกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่านับโทษรวมได้เกิน 20 ปีได้หากคดีไม่เกี่ยวพันกัน
แม้การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับคดีอื่น ๆ ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ จะเป็นการกระทำด้วยเจตนาเหมือนกัน และมีการดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายต่างรายกัน ทั้งการกระทำความผิดเกิดขึ้นคนละสถานที่และต่างวันเวลากัน คดีแต่ละสำนวนจึงมิได้เกี่ยวพันกัน แม้โดยรูปคดีอาจพิจารณาไปด้วยกันได้ก็เป็นเพราะจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แล้ว มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินกว่า 20 ปี ก็ย่อมพิพากษาให้บังคับเช่นนี้ได้ หาได้อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมและใช้โฉนดที่ดินปลอม การรับคำสารภาพ และผลกระทบต่อการนับโทษและคำขอชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) เพราะโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลงข้อความเท็จในเอกสารบริษัท, ผู้สนับสนุน, การนับโทษต่อคดีอื่น, และการใช้ดุลพินิจศาล
จำเลยที่ 2 นำหุ้นที่โจทก์เป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ร่วมมือกับจำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากจำเลยที่ 2 เป็นชื่อจำเลยที่ 3 ทั้งหมดจำนวน 255,000 หุ้น ซึ่งมีส่วนของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยไม่ปรากฏว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง อันเป็นการทำเอกสารเท็จ จำเลยที่ 3 ซึ่งรับว่าเป็นสามีใหม่ของจำเลยที่ 2 เบิกความเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่าเป็นผู้ดำเนินการจัดทำเอกสารเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทนำไปให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อที่เรือนจำ ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในวิสัยดำเนินการเองได้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมมือกับจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าว จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่โดยฐานะจำเลยที่ 3 มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 86
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท กระทำ หรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้...(2) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ ฯ บริษัท" แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดไว้ว่าต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท จึงจะลงโทษเป็นตัวการกระทำผิดได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้จะร่วมกันกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ คงลงโทษจำเลยที่ 3 ได้เพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลงข้อความเท็จของบริษัท
of 22