พบผลลัพธ์ทั้งหมด 206 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางซื้อขายกิจการหลีกเลี่ยงกฎหมายต่างด้าว สัญญาเป็นโมฆะ เงินชำระหนี้คืนไม่ได้
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางการกู้ยืม, สัญญาขายฝาก, ดอกเบี้ยเกินอัตรา, บุคคลภายนอก, การชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืนเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากสัญญาขายฝากเป็นเอกสารสัญญามหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จากทางนำสืบของโจทก์ โจทก์โอนเงินดอกเบี้ย 2 ครั้ง ให้ ฉ. และ ฉ. โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน จากต้นเงิน 350,000 บาท ซึ่งโอนหลังจากหักดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือนแล้ว ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำสัญญาขายฝากจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีการผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กันเพราะการขายฝากที่ดินพิพาทสามารถชำระเงินสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝากได้ในคราวเดียวหรือนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ในคราวเดียวกันไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยรายเดือน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมที่มีที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยึดถือเป็นหลักประกัน โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืม 350,000 บาท แต่การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมเป็นโมฆะ การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 โจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกคืนได้ แต่ต้องนำเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระไปหักเงินต้นดังกล่าว และเมื่อนิติกรรมการขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันจึงตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยข้างต้น ทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์ทั้งสองไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่อาจเปิดช่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคิดตามราคาประเมินตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอและให้นำไปหักเงินกับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระตามสัญญากู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพราง: การกู้ยืมเงินเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการถือครองที่ดินของคนต่างด้าว และกรรมสิทธิ์รวม
แม้โจทก์จะประกาศด้วยวาจาในวันแต่งงานกันตามประเพณีว่าจะซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยแต่ตามพฤติการณ์หลังจากโจทก์จำเลยสมรสกันตามประเพณีแล้ว จำเลยไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ที่ประเทศสวีเดน และร่วมกันทำธุรกิจร้านอาหารโดยใช้ชื่อของจำเลยว่า บริษัท อ. ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสวีเดนโดยมีข้อตกลงเป็นสัญญาก่อนสมรสว่า บริษัทดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ประกอบกับโจทก์โอนเงิน 2,300,000 บาท จากประเทศสวีเดนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัท บ. ที่ประเทศไทย เพื่อนำไปชำระค่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาท แล้วบริษัท บ. ถอนเงินนำเงินไปจ่ายให้แก่ผู้ขายที่ดินและบ้านพิพาทโดยตรงไม่ผ่านจำเลย เมื่อจำต้องให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 2,400,000 บาท โดยโจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินไว้ และจดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีค่าตอบแทนตลอดชีวิต จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อเป็นสินสอดแก่จำเลยหรือการให้โดยเสน่หา ที่ดินและบ้านพิพาทจึงมิใช่สินสอดหรือเป็นการให้โดยเสน่หาตาม ป.พ.พ. มาตรา 521 และมาตรา 1437 แต่การที่โจทก์นำเงินที่จำเลยมีส่วนในการทำมาหาได้ร่วมกันจากการประกอบธุรกิจร้านอาหารดังกล่าวระหว่างเป็นสามีภรรยากับโจทก์ไปซื้อที่ดินและบ้านพิพาทก่อนจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายแห่งประเทศสวีเดน จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและบ้านพิพาทกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1356 และมาตรา 1357
การที่โจทก์ยอมให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทแต่เพียงผู้เดียวเนื่องเพราะโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวไม่สามารถมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ตาม ป.ที่ดิน จึงจำต้องหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ กับจดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีค่าตอบแทนตลอดชีวิต ทั้งโจทก์ยังยึดถือโฉนดที่ดินไว้ เพื่อเป็นการบังคับควบคุมมิให้จำเลยบ่ายเบี่ยงบิดพลิ้วจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินและบ้านพิพาทแก่บุคคลอื่น นิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้และโจทก์จำเลยไม่สมัครใจให้ผูกพันกันอันเป็นนิติกรรมอำพราง นิติกรรมอันแท้จริงคือ โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนซื้อและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทแทนโจทก์กึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 สัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องบังคับกันตามนิติกรรมที่แท้จริงตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยเรื่องตัวแทน ซื้อขาย กรรมสิทธิ์รวม และ ป.ที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา 94 เรื่องการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวและการจำหน่ายที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง จำจะต้องไปว่ากล่าวเอาความแก่กันต่างหากจากคดีนี้
การที่โจทก์ยอมให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทแต่เพียงผู้เดียวเนื่องเพราะโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวไม่สามารถมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ตาม ป.ที่ดิน จึงจำต้องหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ กับจดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีค่าตอบแทนตลอดชีวิต ทั้งโจทก์ยังยึดถือโฉนดที่ดินไว้ เพื่อเป็นการบังคับควบคุมมิให้จำเลยบ่ายเบี่ยงบิดพลิ้วจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินและบ้านพิพาทแก่บุคคลอื่น นิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้และโจทก์จำเลยไม่สมัครใจให้ผูกพันกันอันเป็นนิติกรรมอำพราง นิติกรรมอันแท้จริงคือ โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนซื้อและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทแทนโจทก์กึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 สัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องบังคับกันตามนิติกรรมที่แท้จริงตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยเรื่องตัวแทน ซื้อขาย กรรมสิทธิ์รวม และ ป.ที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา 94 เรื่องการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวและการจำหน่ายที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง จำจะต้องไปว่ากล่าวเอาความแก่กันต่างหากจากคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำ: สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ
พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความยันกันอยู่ว่าโจทก์จำนำหรือขายฝากรถยนต์ ยากที่รับฟังว่าฝ่ายใดเบิกความตามจริง แต่ตามคำเบิกความของโจทก์และ ส. ได้ความว่า โจทก์ชำระหนี้จำนำรถยนต์แก่จำเลย 5 ครั้ง และ ส. เบิกความตอบคำถามติงทนายโจทก์ว่าโจทก์และจำเลยเข้าใจตรงกันว่าให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน นอกจากนั้น จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่า โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์เป็นการติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลย โดยข้อความดังกล่าวระบุว่าเป็นการโอนเงินชำระดอกเบี้ยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าซื้อรถยนต์คืนจากจำเลย ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้อันเป็นการจำนำรถยนต์ อีกทั้งการขายฝากนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก แต่ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ปรากฏว่าจำเลยหักเงินที่จ่ายให้โจทก์เป็นค่าจอดรถยนต์และค่าดูแลรักษาไว้ด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยถือว่ารถยนต์ดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามสำเนาสัญญาขายฝากรถยนต์ มีข้อความว่า "ข้อ 1 ผู้ขายตกลงขายฝากและผู้ซื้อตกลงซื้อรถยนต์...ในราคา 90,000 บาท...ผู้ขายได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบรถพร้อมใบคู่มือจดทะเบียน...ให้แก่ผู้ซื้อไว้เพื่อกระทำการโอนรถได้หากพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว ข้อ 2 ผู้ขายฝากจะกระทำการไถ่รถในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ทำสัญญามิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์ ข้อ 6 ถ้าในระหว่างสัญญาขายฝาก...จะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้รถที่ขายฝากไม่สามารถที่จะกระทำการโอนได้ในภายหลังที่ผู้ขายฝากสละสิทธิ์ไถ่รถ...ผู้ขายฝากจะต้องคืนเงินที่รับไปตามข้อ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ย...ให้แก่ผู้ซื้อ..." ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า โจทก์จะยอมให้รถยนต์ตกไปยังจำเลยก็ต่อเมื่อโจทก์ไม่ชำระเงิน 90,000 บาท คืนแก่จำเลยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกไปยังจำเลยทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์อาจไถ่รถยนต์นั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาผูกพันตามสัญญาจำนำ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายฝากไม่ สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่รับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือกับขอให้จำเลยคืนรถยนต์ตามฟ้องได้ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพราง: สัญญา กู้ยืมเงินเพื่อปิดบังเจตนาในการร่วมลงทุน ทำให้สัญญาเงินกู้เป็นโมฆะ
แม้สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แต่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย กรณีเชื่อว่าก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมลงทุนกันจริงโดยมีการส่งมอบเงินตามสัญญากู้เป็นเงินร่วมลงทุนเบื้องต้น และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาผูกพันกันตามนิติกรรมร่วมลงทุน แต่ทำนิติกรรมกู้ยืมเงินเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญา นิติกรรมกู้ยืมจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการร่วมลงทุน นิติกรรมการกู้เงินย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ" แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางและเจตนาลวงในสัญญากู้ยืม ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาปล่อยเงินกู้ จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเป็นการแสดงเจตนาลวง โจทก์จำเลยไม่มีเจตนากู้ยืมเงินกัน เป็นการอำพรางนิติกรรมที่โจทก์ให้เงินแก่จำเลยเพื่อไปซื้อยางก้อนถ้วยมาส่งให้แก่โจทก์ โดยจำเลยจะได้รับค่าตอบแทน ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นการแสดงเจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว โดยเนื้อหาที่บรรยายมาในคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น และเมื่ออ่านอุทธรณ์ทั้งฉบับโดยเฉพาะในหน้าที่ 14 และหน้าที่ 15 แล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นการแสดงเจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งแล้ว
อนึ่ง คดีนี้จำเลยฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาล 66,375 บาท แต่เมื่อศาลฎีกาย้อนสํานวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ เช่นนี้ จำเลยชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย
อนึ่ง คดีนี้จำเลยฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาล 66,375 บาท แต่เมื่อศาลฎีกาย้อนสํานวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ เช่นนี้ จำเลยชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย