คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ป.วิ.พ.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 269 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 เมื่อศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเดียวกันแล้ว
ก่อนจำเลยยื่นคำร้องคดีนี้ จำเลยเคยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยข้ออ้างในคำร้องทั้งสองฉบับจำเลยกล่าวอ้างว่า ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยผิดระเบียบอย่างเดียวกัน แม้คำร้องในคดีนี้ จำเลยจะขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการบังคับคดี ส่วนคำร้องฉบับก่อนดังกล่าว จำเลยขอให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบ แต่ก็เป็นคำขออันเป็นผลมาจากข้ออ้างในเรื่องเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำร้องฉบับก่อนของจำเลย และยกคำร้องของจำเลยแล้วเช่นนี้ การที่จำเลยกลับมาดำเนินกระบวนพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นเป็นคดีนี้อีก จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่โจทก์มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5858/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: การฟ้องแบ่งสินสมรสที่ดินแปลงต่างกัน แต่มีมูลเหตุเดียวกัน ศาลฎีกาตัดสินว่าฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตั้ง ป. เป็นทนายความให้มีอำนาจใช้สิทธิในการฎีกาได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่เคยตั้งให้ ป. เป็นทนายความมาแต่แรก แม้ฎีกาทำเป็นฉบับเดียวลงชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ฎีกา โดยมี ป. ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ และระบุชื่อของจำเลยที่ 2 ไว้ในฎีกาหน้าแรกว่าเป็นผู้ที่ขอยื่นฎีกาด้วยก็ตาม กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วย ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาเท่านั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง เรื่องขอแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์กับ น. เป็นที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจที่ 191/2553 หมู่ที่ 7 ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 79 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโต้แย้ง ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอแบ่งที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ น. เป็นที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจที่ 96/2553 หมู่ที่ 5 (เดิมหมู่ที่ 2) ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา โดยจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรโต้แย้ง แม้การฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดี เป็นการขอให้แบ่งที่ดินต่างแปลงกัน แต่มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องโดยการยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินสมรส คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 104/2555 ต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4108/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบพยานหลักฐานนอกคำให้การ การแปลงหนี้ และข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87
ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ใช้ในกรณีที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐาน แต่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานให้ถูกต้องไว้ตามมาตรา 88 และในกรณีที่คู่ความมิได้ส่งสำเนาเอกสารล่วงหน้าตามมาตรา 90 ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยาน หลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานให้ถูกต้องและมิได้นำส่งสำเนาเอกสารล่วงหน้านั้นได้
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ จำเลยให้การต่อสู้คดีโดยรับว่าทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จริงแต่ชำระแล้ว แต่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 500,000 บาท ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ 960,000 บาท แทนสัญญากู้ฉบับเดิม จึงเป็นการนำสืบว่ามีการแปลงหนี้ใหม่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว โดยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ แม้จำเลยได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกคำให้การซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยนำสืบพยานหลักฐานฝ่าฝืนบทบัญญัติตาม มาตรา 88 และ มาตรา 90 เมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยชำระหนี้เงินยืมตามฟ้องแก่โจทก์แล้ว ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์นั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลเรื่องรวมหรือแยกขายทอดตลาดเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง ศาลไม่รับฎีกา
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแบ่งที่ดินที่ยึดออกเป็น 3 แปลง แล้วขายแยกทีละแปลงเพื่อให้ขายทรัพย์สินได้ในราคาที่สูงขึ้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจแยกการขายทอดตลาดทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอได้ เนื่องจากที่ดินทั้งสามแปลงเป็นส่วนประกอบของสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการโรงแรม การแยกขายที่ดินไม่มีประโยชน์แก่การบังคับคดีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการขายทอดตลาดทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งชี้ขาดในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาด จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ประเด็นใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น ถือเป็นการต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225
ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การไว้ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ส่วนเรื่องแย่งการครอบครองนั้นเป็นคำให้การของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72673 ย่อมไม่อาจถือได้ว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยแย่งการครอบครองมาจากโจทก์แล้วจึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14296/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. กรณีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท และหน้าที่การยื่นคำร้องขอรับรองเหตุอุทธรณ์
คดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติข้อยกเว้นให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณีซึ่งการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้นั้นมาตรา 224 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียได้ตามมาตรา 242 (1) ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์มาโดยไม่ชอบนั้น มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 (1) อันจะเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบฉันทะขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ป.วิ.พ. และ พ.ร.บ.ทนายความ
การที่ ศ. ทำคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยลงชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนโดยอาศัยใบมอบฉันทะของจำเลยที่ 2 ที่ระบุไว้ให้ทำคำร้องได้นั้น เป็นกิจการอื่นนอกจากที่ ป.วิ.พ. มาตรา 64 บัญญัติไว้ และเป็นกิจการสำคัญที่คู่ความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเอง ไม่อาจแต่งตั้งให้บุคคลทำการแทนได้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวไม่ทำให้ ศ. อยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) เมื่อ ศ. มิใช่ผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ และมิได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น การเรียงคำร้องอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่จำเลยที่ 2 ของ ศ. ดังกล่าวจึงขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 ดังนั้น คำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12516/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. เนื่องจากทุนทรัพย์แต่ละส่วนไม่เกิน 200,000 บาท และเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่สหกรณ์การเกษตร ว. จำกัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่พิพาทคืนแก่กองมรดก ท. นั้น เป็นการฟ้องเรียกที่พิพาทให้ได้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสอง คดีของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่พิพาท จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์หรือฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อโจทก์ทั้งสองตีราคาที่พิพาทรวมกันมามีราคา 312,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องคดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทแปลงที่ห้าตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่จำเลยที่ 1 รับโอนมาทางมรดกจาก ท. และโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้อง มีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ทรัพย์มรดกของ ท. เจ้ามรดกยังไม่มีการแบ่งปันกันระหว่างทายาท โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิติดตามเอาคืนที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคน เพราะจำเลยที่ 1 โอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยทายาทคนอื่น ๆ ไม่ได้ให้ความยินยอมและไม่รับทราบ รวมทั้ง ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกก็ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว โดยขอให้ศาลฎีกาได้โปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และมีคำพิพากษาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6955/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์: ข้อจำกัดการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 และการไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามสิบออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ร่วม อันเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ในคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสามสิบแต่ละคนครอบครองนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมอาจนำออกให้เช่าได้ในอัตราเดือนละเท่าใด แต่ปรากฏว่าโจทก์เช่าที่ดินทั้งหมดจากโจทก์ร่วมในราคา 450 บาท ต่อปี ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสามสิบในแต่ละคนจึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง การที่จำเลยทั้งสามสิบอุทธรณ์ว่า สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์และโจทก์ร่วมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสามสิบเข้าไปปลูกไม้ดอกไม้ประดับในที่ดินพิพาทตามโครงการเฉลิมพระเกียรติของอำเภอตั้งแต่ปี 2540 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสิบดังกล่าวมาก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสามสิบจึงฎีกาในปัญหานี้ต่อมาไม่ได้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17522/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องคัดค้านคำสั่งบังคับคดีซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.ม.144 หากเป็นประเด็นเดิมที่เคยถูกวินิจฉัยแล้ว
คำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว เป็นการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ดำเนินการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4692 ของจำเลยเช่นเดียวกับคำร้องนี้ แม้จะเป็นการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีคนละคราวกัน แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงเดียวกันโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าทรัพย์จำนองไม่เพียงพอชำระหนี้โจทก์ ซึ่งคำร้องฉบับหลังโจทก์อ้างเพียงว่ามีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นอันมีผลสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง โดยความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยนี้มีมาแต่เดิมและมีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 คำร้องของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
of 27