คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ครอบครอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,140 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4019/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันเพื่อจำหน่ายยาเสพติด การครอบครองเพื่อจำหน่าย และการส่งมอบระหว่างผู้กระทำผิด
จำเลยกับ ป. ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์โต้ตอบกัน เนื่องจาก ศ. ไปขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ป. ที่บ้านจำเลย แต่ ป. ไม่ทราบว่าจำเลยซุกซ่อนไว้ที่ใด บ่งชี้ว่า ป. ทราบดีว่าจำเลยเก็บเมทแอมเฟตามีนไว้ภายในบ้านและ ป. ต้องการนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่ ศ. ซึ่งจำเลยก็ประสงค์ให้ ป. นำเมทแอมเฟตามีนที่เก็บไว้ไปจำหน่ายให้แก่ ศ. เช่นกัน พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ส่วนการที่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ป. เสพที่บ้านจำเลยและให้ ป.จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อไปด้วย จึงเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน ไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย เพราะคำว่า จำหน่าย ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หมายถึง การจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดก, การครอบครองทรัพย์มรดก, ผู้จัดการมรดก, สิทธิในการแบ่งมรดก
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกทอดได้แก่ ค. บิดาของโจทก์ และของ ห. แทนที่ ค. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน ห. เจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของ ห. ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ระหว่างจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ ห. เฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ให้แก่โจทก์ อันถือได้ว่าเป็นคดีมรดก หาใช่เป็นการฟ้องเรียกให้ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ทั้งเรื่องนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว
โจทก์ทำงานและพักอาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. เลย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. มาโดยตลอดนับแต่ ห. ถึงแก่ความตายโดยโจทก์และทายาทอื่นไม่เคยครอบครองหรือร่วมครอบครองทำประโยชน์ด้วย เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายวันที่ 6 ธันวาคม 2532 โจทก์มาร่วมงานศพ ห. ถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของ ห. เจ้ามรดก แต่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 จึงเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งทรัพย์มรดก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามมาตรา 1754 สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. จึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยสมบูรณ์ แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วถึง 24 ปี นับจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และเป็นเวลาภายหลังจากสิทธิของโจทก์ขาดอายุความมรดกไปแล้ว ทั้งการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากการจัดการมรดกของ ห. มีเหตุขัดข้อง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกไม่ยินยอมให้จัดการมรดก แจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกไปแสดงเสียก่อน ซึ่งก็ปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิสมบูรณ์ในที่ดินทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เป็นการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น และผู้จัดการมรดกครอบครองที่ดินมรดกไว้แทนทายาทอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2374/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินโดยการยกให้และครอบครองเพื่อตน มิใช่การครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน คดีไม่ขาดอายุความ
ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายได้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 บางส่วน และยกที่ดินพิพาทให้แก่นาย ส. หลังจากนั้นนาย ส. ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อมาอย่างเป็นเจ้าของโดยที่ทายาทอื่นของผู้ตายไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง การครอบครองที่ดินพิพาทของนาย ส. และจำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นทายาทของนาย ส. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น กรณีมิใช่การครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน สำหรับปัญหาตามฎีกาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เมื่อนาย ส. กับจำเลยทั้งแปดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของโดยการยกให้จากผู้ตายมิได้เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นแล้ว จึงมิใช่เป็นกรณีที่ทายาทครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน กรณีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2196/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อาวุธปืนผิดกฎหมาย: แก้ไขโทษกรรมเดียวจากครอบครองอาวุธปืน วัตถุระเบิด และยุทธภัณฑ์
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นความผิดและระวางโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 55 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดดังกล่าวในขณะเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ซึ่งต้องลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองอาวุธปืน: โจทก์ต้องพิสูจน์เจตนาครอบครองของจำเลย นอกเหนือจากหลักฐานการพบเจอ
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (6) ให้ความหมายของคำว่า "มี" ไว้ว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกในการมีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางดังกล่าว ประกอบกับการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้ชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยเพื่อให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ลำพังเพียงจำเลยซึ่งเป็นภริยา อ. ไปกับ อ. ในวันที่มีการซื้อขายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง และจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุซึ่งตรวจค้นพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง โดยที่บ้านดังกล่าวเป็นบ้านที่ อ. พักอาศัยอยู่ด้วยนั้น พฤติการณ์แห่งคดียังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท: การครอบครองโดยชอบธรรมและผลของการโอนที่ดิน
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รู้จักและคบหาโจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยร่วมลงทุนทำธุรกิจ และอยู่กินฉันสามีภริยาและลงทุนทำธุรกิจร่วมกันตลอดมา โดยอยู่อาศัยร่วมกันที่บ้านเช่าของจำเลยแล้วร่วมกันซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยใช้เงินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แต่จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว จึงตกลงให้โจทก์เป็นผู้มีชื่อในที่ดินและบ้านพิพาท หลังจากนั้นโจทก์กระทำการอันเป็นความผิดร้ายแรงต่อจำเลยและบุตรสาวเป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปได้ จำเลยให้โจทก์ออกจากที่ดินและบ้านพิพาท ก่อนที่โจทก์จะย้ายออก โจทก์บอกว่าโจทก์ยกที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการชดเชยกับสิ่งที่โจทก์ทำกับจำเลยและบุตรสาว แต่จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว ไม่สามารถจดทะเบียนมีชื่อในโฉนดที่ดินโดยยังไม่ได้รับอนุญาต โฉนดที่ดินจึงยังเป็นชื่อของโจทก์ โดยจำเลยครอบครองอยู่อาศัยอย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตลอดมา คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่ขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลย มิใช่ขอให้ส่งมอบแก่เด็กหญิง ก. จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนในภายหน้าจำเลยจะยกที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใดย่อมเป็นสิทธิส่วนตัวของจำเลย ชอบที่จะต้องรับฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้ไว้พิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแบ่งมรดก-ทรัพย์สินที่ยังไม่ได้แบ่ง-การครอบครองทรัพย์มรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1754 การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกัน มีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เว้นแต่กรณีตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งระหว่างทายาท คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 4 และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงต้องรับฟังว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 เป็นทรัพย์มรดกของ ผ. ที่ยังมิได้แบ่งปันระหว่างทายาท โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปัน ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทั้งมีผลถึงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นคู่ความร่วม โจทก์ทั้งห้าจึงสามารถฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทได้ แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6278 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้โจทก์ทั้งห้าสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของ ผ. ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทด้วยกัน จึงต้องดำเนินคดีภายใน 1 ปี หรือ 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับการฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 จึงขาดอายุความ ทั้งกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ผ. แล้วหรือไม่ เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ผ. 2 ใน 3 ส่วน ซึ่งเกินกว่าที่โจทก์ทั้งห้าขอมาเพียงกึ่งหนึ่งนั้นเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือไม่ แม้ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลย แม้จะอ้างว่าทรัพย์มรดกมีเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ทรัพย์มรดกมีจำนวน 2 ใน 3 ส่วน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทรัพย์มรดกมี 2 ใน 3 ส่วน แล้วแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทตามสิทธิที่มีอยู่นั้น จึงหาเกินคำขอไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนำข้าวเปลือก/ข้าวสาร: สัญญาไม่ระงับ หากทรัพย์ยังอยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำ
จำเลยที่ 1 นำข้าวเปลือกและข้าวสารไปจำนำเป็นประกันหนี้ตามสัญญาสินเชื่อของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แล้วโจทก์ทำสัญญาเช่าโกดังของจำเลยที่ 1 เป็นที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำ แม้จำเลยที่ 1 ผู้จำนำมีสิทธิเข้าออกโกดังที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำได้ตลอดเวลา แต่สัญญาจำนำไม่ได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ การนำทรัพย์จำนำออกจากสถานที่เก็บรักษาเพื่อการไถ่ถอนทรัพย์จำนำก็ดี การนำทรัพย์จำนำไปขาย จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดภาระผูกพันหรือบุริมสิทธิใด ๆ กับทรัพย์จำนำก็ดี หรือการนำทรัพย์จำนำเข้าออกจากสถานที่เก็บรักษาก็ดี ล้วนแต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนทั้งสิ้น และไม่ถือว่าทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญารักษาทรัพย์จำนำก็ระบุให้ผู้รักษาทรัพย์จำนำดูแลและรักษาทรัพย์จำนำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และแทนโจทก์เท่านั้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนว่าผู้รักษาทรัพย์จำนำมิได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ครอบครองและดูแลรักษาทรัพย์จำนำแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้รักษาทรัพย์จำนำไม่มีสิทธิเคลื่อนย้าย นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดภาระใด ๆ แก่ทรัพย์จำนำได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทรัพย์จำนำอยู่ในครอบครองของโจทก์ตลอดเวลา โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำทรัพย์จำนำไปใช้ประโยชน์ในทางใด ๆ ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของจำเลยที่ 1 สัญญาจำนำจึงหาระงับสิ้นไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกและการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท
ระหว่างมีชีวิต พ. ยังไม่ได้ยกหรือส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย แม้ พ. เคยสั่งเสียให้ทายาททุกคนทราบว่า พ. จะยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แต่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ พ. ตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวแทนทายาท แม้ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า จำเลยไม่มีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนทายาทต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ การเสียภาษีบำรุงท้องที่มิได้เป็นข้อสันนิษฐานหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้เสียภาษีมีสิทธิครอบครองที่ดิน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต้องแบ่งปันแก่บรรดาทายาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครองกับการมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกัน
นอกจากจำเลยจำหน่ายซากเป็ดแดง 54 ซาก ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมไปตรวจค้นที่บ้านของจำเลยยังพบนกอีโก้ง 2 ตัว ที่ยังมีชีวิตอยู่ในกรงขังภายในบริเวณบ้านของจำเลย การที่จำเลยมีนกอีโก้งซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีไว้เพื่อการค้า จึงเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาในการกระทำความผิดต่างกัน ประกอบกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บัญญัติแยกไว้คนละมาตรา โดยความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ในมาตรา 17 และมาตรา 92 ส่วนความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในมาตรา 29 และมาตรา 89 วรรคหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละความผิดต่างกระทงกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กรณีไม่ต้องด้วยบทนิยามของคำว่า "ค้า" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
of 214