คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,226 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: การดื่มสุราในที่ทำงาน ไม่ถึงขั้นร้ายแรงพอที่จะเลิกจ้างได้
แม้ผู้คัดค้านซึ่งทำงานเป็นพนักงานเย็บจักรจะดื่มสุราและชักชวนผู้อื่นดื่มสุราในขณะปฏิบัติงานในสถานประกอบการของผู้ร้องอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องก็ตาม แต่ผู้คัดค้านก็สามารถปฏิบัติงานโดยเย็บเก้าอี้โซฟาได้ถูกต้องตามแบบที่กำหนด และลักษณะงานที่ผู้คัดค้านปฏิบัติโดยสภาพไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านมีอาการเมาสุราจนถึงขั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง และในวันเกิดเหตุเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งผู้ร้องให้พนักงานทำงานจนถึงเวลา 14 นาฬิกาเท่านั้น แล้วจัดให้มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และให้พนักงานเล่นน้ำสงกรานต์ภายในบริษัทผู้ร้อง ทั้งโทษสถานหนักตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องก็มีระดับโทษตั้งแต่ตัดโบนัส งดโบนัส งดขึ้นเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ปลดออกและไล่ออก การที่ผู้ร้องขอเลิกจ้างผู้คัดค้านอันเป็นระดับโทษหนักที่สุดจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยไม่ได้ให้การถึงการทำงานของโจทก์ในเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหลังจากครบกำหนดการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วโจทก์กระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง
ค่าชดเชยที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (2) เป็นค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายและไม่เกินสามแสนบาท จึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 216 (พ.ศ.2509), ฉบับที่ 217 (พ.ศ.2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10553/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการขนส่ง-ช่วงสิทธิประกันภัย: จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายตามสภาพรถยนต์จริง
ตามหนังสือมอบอำนาจช่วง และฟ้องเดิมของโจทก์ระบุว่าฟ้อง นางสาวดารุณีเป็นจำเลยที่ 1 โดยให้รับผิดในมูลละเมิด ระบุว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยแก้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นนางดารุณีหรือนางสาวดรุณี และขอแก้ไขภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ซึ่งภูมิลำเนาตามที่ขอแก้ไขตรงกับภูมิลำเนาปัจจุบันของจำเลยที่ 1 ที่ให้การระบุว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าย้ายมาจากบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ทำละเมิดในคดีนี้ ดังนี้จึงเป็นการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล และภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเดิมซึ่งเป็นจำเลยคนเดียวกัน มิใช่แก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 1 จากนางสาวดารุณี เป็นนางสาวดรุณี ซึ่งเป็นคนละคนกันแต่อย่างใด อีกทั้งการที่โจทก์ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของจำเลยที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจช่วงและคำฟ้องเดิมผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น ก็เป็นการสะกดชื่อตัวผิดเล็กน้อยจาก "นางสาวดรุณี" เป็น "นางสาวดารุณี" พอถือว่าเป็นชื่อเดียวกันนั้นเอง ส่วนชื่อสกุลสะกดผิดจาก "สังข์แก้ว" เป็น "สังข์ทอง" ก็ผิดเฉพาะพยางค์ท้ายเท่านั้น พยางค์หน้าเป็นคำเดียวกัน ชื่อสกุลจึงคล้ายคลึงกันมาก แสดงว่าที่ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลจำเลยที่ 1 ผิดเกิดจากการสับสนเข้าใจผิดในชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงถูกตัวและถูกต้องชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10161/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกของลูกจ้างมีผลสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน แม้จำเลยให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนกำหนดก็ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โดยให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ จึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ และไม่อาจถอนเจตนานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานย่อมจะมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 แม้จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวตามที่โจทก์ประสงค์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ก็มีผลทำให้โจทก์เสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะออกเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันมีผลที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8792/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานใหม่ในคดีแรงงานอุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างต้องเป็นคู่ความในคดี
โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 8 (4) ซึ่งการพิจารณาคดีแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ วิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ หลักในการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้แล้วหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เพราะการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการสอบสวนไว้โดยเฉพาะ ทั้งกระทำการสอบสวนและใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเพียงลำพังคนเดียว การสอบสวนหาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงอาจมีข้อบกพร่องได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงานคู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น
ผลของคดีที่นายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานอาจกระทบถึงสิทธิจากลูกจ้าง หากนายจ้างมิได้ฟ้องลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยในคดีด้วยศาลแรงงานก็ควรที่จะเรียกลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมอยู่แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้อง ณ. ลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยที่ 2 แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในชั้นตรวจรับคำฟ้องจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนเสียด้วยเพื่อให้ ณ. ลูกจ้างยังคงเป็นคู่ความในคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8788/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: ความรับผิดในการจ่ายเงินสะสมให้ลูกจ้าง แม้มีหนี้สินกับนายจ้าง
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จำเลยที่ 2 และมีบริษัทหลักทรัพย์ บ. เป็นผู้บริหารกองทุน จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 เป็นจำนวนเงิน 33,858.84 บาท มีระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อออกจากงาน จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 เป็นผลให้โจทก์สิ้นสุดสมาชิกภาพ ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามระเบียบของจำเลยที่ 2 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ที่จ่ายเข้ากองทุนทั้งหมดคืนเป็นจำนวน 33,858.84 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์สิ้นสมาชิกภาพ ดังนี้ การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ให้ ไม่ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือผู้จัดการกองทุนจะได้ส่งเงินและผลประโยชน์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ จำนวน 33,858.84 บาท การที่จำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคาร ก. สาขาสีลม และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อให้โจทก์มารับไป แต่โจทก์มีภาระหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 979,820 บาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิยึดหน่วงเงินจำนวน 33,858.84 บาท โดยครอบครองเช็คที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้โจทก์ไว้ไม่ส่งมอบแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเช็คไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ เงินจำนวน 33,858.84 บาท เป็นหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้าง: ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้าง แม้ได้รับเงินเดือน
โจทก์เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่เริ่มบริษัทจำนวน 16,000 หุ้น เป็นอันดับสามจากผู้ถือหุ้น 8 คน แต่ในปี 2544 ถือหุ้นจำนวน 40,000 หุ้น เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันเริ่มตั้งบริษัทจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2546 โจทก์ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ ก. โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงเดือนมกราคม 2546 การบริหารงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน โจทก์จึงมิใช่พนักงานที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยจึงมิใช่ได้รับในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ส่วนการที่โจทก์บริหารงานภายใต้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นเพียงวิธีการครอบงำบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1144 เท่านั้น หาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8629/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องพิจารณากำหนดค่าเสียหายเมื่อเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้ลูกจ้างได้งานใหม่แล้ว
การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยเห็นว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้ว ประกอบกับที่โจทก์ได้งานใหม่ทำแล้วภายหลังถูกเลิกจ้างเพียงหนึ่งเดือนจึงไม่ได้รับความเนียหายนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8587-8591/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานฝ่าฝืนข้อบังคับบริษัทเรื่องการพนัน ถือเป็นการเลิกจ้างชอบธรรม ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์ทั้งห้าร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ในวันทำงานปกติช่วงเวลาพักเที่ยงภายในลานจอดรถยนต์ในบริเวณที่ทำการของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ทั้งห้าได้พร้อมอุปกรณ์เล่นการพนัน เมื่อโจทก์ทั้งห้าเล่นไฮโลว์อันเป็นการพนันตามบัญชี ก. ท้าย พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แม้จะเล่นนอกเวลาปฏิบัติงาน แต่เล่นภายในบริเวณบริษัทจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ห้ามพนักงานเล่นการพนันภายในบริเวณบริษัทจำเลย และการพนันเป็นสาเหตุแห่งการวิวาทบาดหมาง ชักนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมอื่นได้ และมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลย การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ทั้งห้าดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396-8399/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อบังคับการทำงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หากไม่เป็นไปตามขั้นตอน ถือเป็นข้อตกลงที่ไม่ชอบ
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 108 บังคับให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และมาตรา 110 บัญญัติเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว โดยให้นายจ้างประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้บัญญัติถึงกระบวนการที่นายจ้างและลูกจ้างต้องปฏิบัติเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กระบวนการดังกล่าวได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หมวด 1 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าในสถานประกอบกิจการมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ ให้ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมิฉะนั้นจำเลยจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างตามมาตรา 13 จนมีการเจรจาตกลงกัน หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต่อไป
จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.2 ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 การที่จำเลยประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 โดยวิธีปิดประกาศให้ลูกจ้างมารับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (หนังสือคู่มือพนักงาน) ฉบับใหม่ มิใช่การดำเนินการแจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือให้ฝ่ายลูกจ้างทราบตามขั้นตอนมาตรา 13 ทั้งการแก้ไขก็ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างจึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
เมื่อจำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนที่ไม่เป็นคุณไม่มีผลใช้บังคับมาใช้บังคับแก่ลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 บังคับแก่ลูกจ้างทุกคน เมื่อเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบา และรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรง ข้อ 5, 22, 23, 25 ไม่มีผลใช้บังคับ ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53
of 223