คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,226 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดนายจ้างในฐานะผู้รับผิดชอบการกระทำของลูกจ้าง ต้องเริ่มนับจากวันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 นายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องในวันที่ 22 เมษายน 2545 และบรรยายคำฟ้องว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แม้การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. โดยศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสก็ตาม แต่การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตาม ป.อ. ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง นั้น หมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายความถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำผิดด้วย ดังนี้ การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 ซึ่งต่อสู้เรื่องอายุความจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดเมื่อเกิน 1 ปี โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ย่อมขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดนายจ้างจากเหตุลูกจ้างกระทำละเมิด: ใช้อายุความ 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิด
การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้นหมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3039/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักเงินค่าจ้างเป็นเงินประกันโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างต้องคืนเงินให้ลูกจ้าง
จำเลยที่ 2 เป็นช่างซ่อมบำรุง ไม่ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์ ที่โจทก์หักค่าจ้างร้อยละ 5 ไว้เป็นเงินประกันหรือเงินสะสมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10, 76 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะดำเนินธุรกิจแข่งขันกับโจทก์ในขณะที่ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยที่ 2 ใช้เวลาทำงานไปทำกิจการส่วนตัวอันเป็นการทุจริตเวลาทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 10.2 หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์เพื่อปฏิเสธที่จะคืนเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์หักไว้ หากจำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นลูกจ้างโจทก์ก็ชอบที่โจทก์จะดำเนินคดีฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังที่ได้ดำเนินคดีไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง โจทก์ต้องคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่จำเลยที่ 2 คดีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้โจทก์คืนเงินที่โจทก์หักจากค่าจ้างของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวล่วงหน้าเลิกจ้างมีผลเมื่อลูกจ้างได้รับทราบ และสิทธิในการคิดดอกเบี้ยจากสินจ้างแทนการบอกกล่าว
การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง เพียงแต่ให้คู่สัญญาฝ่ายที่จะเลิกสัญญาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา โดยต้องบอกกล่าวในเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งอันจะก่อให้เกิดผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าภายในเวลางานตามปกติแต่อย่างใด การบอกกล่าวเลิกสัญญาจึงมีผลนับแต่ที่คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับการบอกกล่าวได้รับทราบการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น โจทก์รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และจำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ 25 ของเดือน การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผลให้เลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 53 วัน
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่เมื่อทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งพักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่การเลิกจ้าง สิทธิการเรียกร้องค่าชดเชย
โจทก์เคยกระทำผิดวินัยหลายครั้งและจำเลยได้สั่งพักงานโจทก์โดยในระหว่างที่พักงานนั้นจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์มาโดยตลอด ต่อมาโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและส่งฟ้องต่อศาลแขวงสมุทรปราการในข้อหาเล่นการพนันในวันพิจารณาคดีโจทก์ไม่ได้มาทำงาน วันรุ่งขึ้นโจทก์มาทำงาน ฉ. ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยจึงได้สั่งพักงานโจทก์ โดยสั่งในลักษณะเดียวกันกับโจทก์เคยกระทำความผิดอื่นมาก่อนทุกครั้ง โดยไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าคุ้มครองแรงงานฯ นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์เพียงแต่การกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยสั่งพักงานตามที่อุทธรณ์มาแต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์ประการนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
โจทก์ไปทำงานในวันรุ่งขึ้น แต่จำเลยปฏิเสธที่จะให้โจทก์เข้าทำงาน โดยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลานานหลายวันโดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง ระบุว่า "การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด..." นั้น มีความหมายว่า เป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย ซึ่งสภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลงไม่ใช่เรื่องการให้ลูกจ้างหยุดงานเพียงชั่วคราวซึ่งสภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลง และลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ระหว่างให้หยุดงานชั่วคราว ลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกเอาได้ แม้การพักงานครั้งก่อนหน้านี้โจทก์ได้รับค่าจ้างระหว่างการพักงาน และในการสั่งพักงานครั้งนี้โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยทวงถามค่าจ้างระหว่างการพักงานแล้วจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังโจทก์แอบมาขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ทำงานในเวลากลางคืน ถือว่าเป็นเจตนาของโจทก์ที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป ดังนี้ การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยจึงเป็นการให้โจทก์หยุดงานชั่วคราว สภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างในระหว่างพักงานยังคงมีอยู่ ไม่ใช่เป็นกรณีจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปโดยเด็ดขาด การสั่งพักงานโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4245-4248/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายเดือน จำเลยผิดนัดชำระ มีหน้าที่จ่ายเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายเดือนในอัตราที่แน่นอน โดยจำเลยมีหน้าที่โอนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสี่ทุกวันสิ้นเดือน อันเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนมกราคม 2560 โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสี่ในวันที่ 31 มกราคม 2560 เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง ไม่ปรากฎว่ากิจการของจำเลยขาดทุนจนไม่มีเงินหมุนเวียนที่จะนำมาจ่ายค่าจ้าง เมื่อจำเลยได้จ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้แก่ลูกจ้างอื่นทุกคนแล้วแสดงว่าจำเลยมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างเดือนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ด้วย ทั้งจำเลยมิได้โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสี่ก่อนหรือภายในวันที่ 31 มกราคม 2560 อันเป็นวันที่ครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง การที่จำเลยเพิ่งอ้างเหตุไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสี่ในภายหลังว่า ยังมีปัญหาว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ก็ดี โจทก์ทั้งสี่จะต้องคืนทรัพย์สินและเอกสารของจำเลยหรือไม่ก็ดี และจะนำค่าจ้างดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้ตามที่โจทก์ทั้งสี่ทำให้จำเลยเสียหายได้หรือไม่ก็ดี เป็นข้ออ้างที่ไม่สุจริตเพราะจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้โจทก์ทั้งสี่ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2560 อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการคืนทรัพย์สินหรือเอกสารกับการหักกลบลบหนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสี่ออกจากงานไปแล้ว ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน เมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างต้องรับผิดต่อละเมิดจากลูกจ้างที่ขับรถปฏิบัติงาน แม้มีการเบิกถอนเงินส่วนตัวช่วงปฏิบัติงาน
ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง โดยให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปที่ป่าบุห้าร้อยบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วยและขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับไปที่หน่วยห้วยคำภู ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปและอยู่ที่หน่วยดังกล่าวคนเดียวจนถึงวันเกิดเหตุ ทั้งที่ ม. เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่กลับยินยอมให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปคันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันในหน้าที่เดิมอย่างไม่ขาดตอน พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงในการทำงานกับจำเลยที่ 2 อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หาได้มีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ เพราะการว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวอันถือเป็นการจ้างแรงงานนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 มิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ คำเบิกความของ ม. ที่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 อยู่ที่หน่วยห้วยคำภูเพื่อรอขนย้ายสิ่งของเท่านั้น จึงขัดต่อพฤติการณ์ที่ ม. สั่งให้จำเลยที่ 1 นั่งรถกระบะคันเกิดเหตุไปยังบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวน กับสั่งให้ขับรถกระบะคันเกิดเหตุกลับไปที่หน่วย พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบยังไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ตามคำสั่ง 96/2557 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน ม. จึงมีอำนาจใช้และมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบรถกระบะคันเกิดเหตุ การที่ ม. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะดังกล่าวไปที่หน่วยห้วยคำภู และอยู่ประจำที่หน่วยดังกล่าวเพื่อรอรับ ม. กับเจ้าหน้าที่อื่นพร้อมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับ การขับรถกระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปเบิกถอนเงินแม้เป็นธุระส่วนตัว และบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในเขตทำการที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบ แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปกลับเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 2 นายจ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3115-3126/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชุมนุมประท้วงในพื้นที่ส่วนบุคคลและการละเมิดสิทธิของนายจ้างต่อกรรมการลูกจ้าง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กับพวกนัดหยุดงานโดยชอบตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34 แต่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กับพวกเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวในการนัดหยุดงานนั้น ย่อมมีสิทธิใช้สอยพื้นที่ของตน รวมทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เข้าไปร่วมชุมนุมนัดหยุดงานในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 แม้ว่าจะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการนัดหยุดงานโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 หรือมีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 รวมทั้งรื้อถอนเต็นท์ เคลื่อนย้ายรถยนต์ สุขาเคลื่อนที่ พร้อมสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกไป แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ใช้พื้นที่ของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการจงใจทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เข้าไปชุมนุมนัดหยุดงานในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทางเข้าโรงงานของโจทก์ที่ 2 โดยนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและรถยนต์สุขาเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นทำการชุมนุมปราศรัยห่างจากโรงงานของโจทก์ที่ 2 ประมาณ 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับโรงงานของโจทก์ที่ 2 ย่อมทำให้โจทก์ที่ 2 และลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในโรงงานได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2การพิจารณาว่ากรณีมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างหรือไม่ ประกอบกับโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 13 ศาลแรงงานภาค 2 จึงไม่จำต้องพิพากษาถึงค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ว่ากรณีมีเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 กล่าวปราศรัยด่า ด. ส. และ พ. ว่า "ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ไอ้ผู้หญิงขายตัว ไอ้พวกขายตัว" และจำเลยที่ 8 แต่งภาพของ ส. ซึ่งเป็นผู้บริหารโดยใส่จมูกเป็นจมูกสุนัข มีการแต่งหน้าใส่รูปจมูกสุนัข ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 3 และการกระทำของจำเลยที่ 8 แล้ว เป็นการดูหมิ่นผู้บริหารของโจทก์ทั้งสองโดยเปรียบเทียบว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานชั้นต่ำ เป็นคนขายตัว เป็นคนไม่มีคุณค่า และเปรียบเทียบ ส. ว่าเป็นสัตว์ประเภทสุนัข การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 8 เป็นการก้าวร้าวไม่เคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชา มิใช่เป็นเพียงวาจาไม่สุภาพ และเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมนัดหยุดงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นการเข้าไปในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ยินยอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104-3105/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่แทนนายจ้างในการสั่งทำงานล่วงเวลา/วันหยุด และการเป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา/ทำงานในวันหยุด
การพิจารณาว่า ลูกจ้างซึ่งดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารจะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 และมาตรา 66 โดยมาตรา 65 บัญญัติว่า "ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63... (1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง...ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง" และมาตรา 66 บัญญัติว่า "ลูกจ้างตามมาตรา 65 (1) ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 62 เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง" ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (1) นั้น ต้องได้ความว่า สำหรับกรณีการจ้าง ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจจ้างลูกจ้างที่จะเข้าทำงานกับนายจ้างได้ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่การคัดเลือกลูกจ้าง การกำหนดค่าจ้าง และการอนุมัติให้จ้างลูกจ้าง สำหรับกรณีการให้บำเหน็จ ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจประเมินผลงานแล้วมีอำนาจเลื่อนเงินเดือนให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ และสำหรับกรณีเลิกจ้าง ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ หากลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจคัดเลือกลูกจ้างที่จะเข้าทำงาน แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเพื่ออนุมัติการจ้าง หรือมีอำนาจประเมินผลงานและเสนอเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเป็นผู้อนุมัติให้เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาของลูกจ้างคนนั้น หรือมีอำนาจเสนอให้เลิกจ้างลูกจ้าง แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเป็นผู้อนุมัติให้เลิกจ้าง ถือไม่ได้ว่า ลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้างตามมาตรา 65 (1) ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง สำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 มาตรา 62 และมาตรา 63 แสดงให้เห็นว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้สั่ง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด คดีนี้ได้ความว่า จำเลยที่ 2 สั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่ประเทศแอลจีเรียโดยอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของบริษัทร่วมทุน โดยไม่ปรากฏว่า ผู้อำนวยการร่วมของบริษัทดังกล่าวมีอำนาจสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นายจ้างของโจทก์ สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
of 223