คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,640 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเงินกู้, อัตราดอกเบี้ย, การแปลงค่าเงิน, และขอบเขตการพิจารณาของศาล
เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7 ถือได้ว่าไม่มีปัญหาดังกล่าวในชั้นนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่จำต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9
การที่คู่กรณีมีข้อสัญญากันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่อนุญาโตตุลาการนั้น ก็มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิมิให้คู่กรณีนำคดีฟ้องต่อศาลเสียทีเดียว เพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติสัญญานั้นก็เป็นได้ หากคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการที่จะต้องเสนอข้อพิพาทต่อนุญาโตตุลาการ ก็ชอบที่จะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 แต่จำเลยที่ 1มิได้ให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัท ส . ต่อโจทก์ แม้บริษัท ส. เป็นผู้รับเงินไปใช้ในกิจการของบริษัท ส. โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัวก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 สามีก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)
อัตราดอกเบี้ย SIBOR (Singapore Inter - bank Offered Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืมเงินกันระหว่างธนาคารด้วยกันในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์) นั้นเป็นเพียงตัวตั้งเบื้องต้นของสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ย แม้โจทก์จะมิได้นำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็ตาม ก็จะถือว่าการกู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ไม่ได้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนั้นชอบแล้ว
ในการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศนั้น ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านว่าจะใช้เป็นเงินไทยก็ได้" อันเป็นการให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้ที่จะเลือกชำระเงินให้โจทก์ด้วยเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์ขอหรือจะชำระด้วยเงินไทยก็ได้ตามแต่จำเลยทั้งสองจะสมัครใจ หากจำเลยทั้งสองเลือกจะชำระเป็นเงินไทย จำเลยทั้งสองก็ต้องชำระเงินไทยให้โจทก์ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลา ที่ใช้เงิน" ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดใน เงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ยังพิพากษาต่อไปอีกว่า "ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง?" ก็เป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของ จำเลยทั้งสองที่จะชำระหนี้ด้วยเงินไทยก็ได้ โดยถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตามสถานที่และวันที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง นั้นเอง มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกันแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย: กรอบเวลาการยื่นคำร้องต่อศาล และผลของการไม่ยื่นภายในกำหนด
ผู้ทำแผนจัดให้เจ้าหนี้อยู่ทั้งกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มที่ 3 โดยแบ่งเป็นหนี้ที่มีประกัน 7,025,000 บาท และเป็นหนี้ที่ไม่มีประกัน 10,862,024.74 บาท แต่เจ้าหนี้เห็นว่าผู้ทำแผนควรจัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันเพียงกลุ่มเดียว จึงไม่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 และยื่นคำคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2544 โดยคัดค้านว่า เจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้เพราะเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิดังนี้ คำคัดค้านของเจ้าหนี้จึงเป็นการยื่นคำร้องขอต่อล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหมายแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้พร้อมแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางไปรษณีย์ตอบรับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้แล้ว การที่เจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการย่อมแสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว หากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะคัดค้านเพราะเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ก็ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำร้องขอได้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ก็อาจขอขยายเวลาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 แต่เจ้าหนี้ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลในวันที่ 22 มกราคม 2544 จึงพ้นกำหนดเวลาที่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง
ศาลล้มละลายกลางมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเป็นการไม่ชอบด้วยข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542ข้อ 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลจากคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีเนื้อหาก้าวร้าว และอำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องอนาถาก่อนรับคำฟ้อง
คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้ชั้นอุทธรณ์นั้นต้องยื่นมาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 และการที่ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ ต้องประกอบด้วย เป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์พอจะเสียค่าธรรมเนียมและผู้ขอต้องแสดงให้เป็นที่พอใจศาลด้วยว่า คดีมีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ สำหรับเหตุผลอันสมควรศาลมีอำนาจตรวจดูได้จากคำฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องอุทธรณ์มีข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ หรือให้นำอุทธรณ์มายื่นใหม่ได้ โดยไม่จำต้องสั่งคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก่อน
การที่ศาลชั้นต้นสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองฐานละเมิดอำนาจศาลสืบเนื่องมาจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นทนายโจทก์ร่วมกันนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาล โดยในคำฟ้องอุทธรณ์มี ข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายในคดีแรงงาน: ศาลมีอำนาจวินิจฉัยตามสิทธิเรียกร้อง แม้บทกฎหมายที่อ้างไม่ตรงกับสถานะนายจ้าง
คำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาหากครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว แม้โจทก์จะอ้างบทกฎหมายอันเป็นการอ้างกฎหมายที่มิได้ใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยคดี ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการปรับบทกฎหมายเพื่อให้ตรงตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ คดีนี้ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องโดยเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ เป็นการพิพากษาที่ถูกต้องตามบทกฎหมายที่อ้างถึงข้างต้นแล้ว จึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3056/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์โดยมีเหตุสงสัยเรื่องการใช้ยานอนหลับ ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัย
แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าร่วมกันวางแผนใช้ยานอนหลับผสมในเครื่องดื่มให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่ม และร่วมกันลักทรัพย์หลายรายการในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองหลับก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณากลับปฏิเสธว่ามิได้กระทำเช่นนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นชาวต่างชาติ จึงเป็นไปได้ว่าล่ามอาจแปลคำให้การไม่ถูกต้อง ดังนั้น ลำพังคำให้การในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามนั้นได้ โจทก์ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานอื่นมาสืบให้มั่นคงและฟังได้ว่ามียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วงปนอยู่ในเครื่องดื่มที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มจริงตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานการตรวจพิสูจน์เครื่องดื่มว่ามีส่วนผสมของยานอนหลับอยู่ด้วย ทั้งไม่มีผลการตรวจร่างกายของผู้เสียหายทั้งสองมาแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้เสียหายทั้งสองนอนหลับเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วง กรณีจึงยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใส่ยานอนหลับในเครื่องดื่มให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดเพียงฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2981/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาอุทธรณ์หลังขยายเวลา: ศาลพิพากษายกคำสั่งรับอุทธรณ์เมื่อยื่นเกินกำหนด
ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 5 ธันวาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน นับแต่วันครบอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอ การนับระยะเวลาที่ขอขยายออกไปจึงต้องนับจากวันครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือต่อจากวันที่5 โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันที่ 6,7และ 8 ธันวาคม 2541 จะตรงกับวันหยุดทำการหรือไม่เพราะวันดังกล่าวไม่ใช่วันสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 เมื่อเริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์ที่ขอขยายครั้งแรกคือวันที่ 6 ธันวาคม 2541 จะครบกำหนด 20 วัน ในวันที่ 25 ธันวาคม2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ 10วัน นับถัดจากวันครบกำหนดที่อนุญาตครั้งแรก การนับระยะเวลาที่ขยายออกไปในครั้งหลังจึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 4 มกราคม 2542 จำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 6 มกราคม 2542 จึงเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายให้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลพิพากษาดอกเบี้ยเกินคำฟ้องต้องมีเหตุสมควรตามมาตรา 142(6) หากไม่มีเหตุผลรองรับ การพิพากษาแก้เป็นอื่นนอกเหนือคำฟ้องย่อมไม่ชอบ
การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายนั้นต้องเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(6)
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดาวน์และเงินค่างวดคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในส่วนดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีข้อวินิจฉัยว่า จำเลยไม่สุจริตในการสู้ความหรือในการดำเนินคดีนี้อย่างไร ทั้งตามสำนวนก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยสู้ความโดยไม่สุจริตอย่างไร จึงไม่มีเหตุตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(6) ที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความต้องเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย หากเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบเกินกว่าที่ตกลงกันเดิม แม้จำเลยไม่คัดค้าน ก็ไม่อาจแก้ไขได้
เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามยอมมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือข้อตกลง โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสองแต่โจทก์กลับยื่นคำร้องขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ซึ่งการจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต้องเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก การที่โจทก์ขอแก้ไขให้จำเลยทั้งสามรับผิดในเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากที่ตกลงกันจึงเป็นการทำให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม กรณีมิใช่ข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยแม้จำเลยทั้งสามจะไม่คัดค้าน โจทก์ก็ไม่อาจขอแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ดุลพินิจรอการลงโทษ
ปัญหาเศรษฐกิจของชาติเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าเรื่องส่วนตัวเพราะส่งผลกระทบไปยังปัญหาทางด้านการเมืองและสังคม รัฐบาลต้องอาศัยปัญหาเศรษฐกิจมากำหนดนโยบายทางการเมือง ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีผู้คนในสังคมตกงานหมดกำลังซื้ออาจก่อปัญหาด้านอาชญากรรมต่างๆได้มาก ปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ของประชาชนและรัฐบาล การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในภาวะปัจจุบันมิใช่ขณะออกเช็คพิพาทมาวินิจฉัยเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอลงโทษให้แก่จำเลย ย่อมมีอำนาจกระทำได้เพราะมิใช่กรณีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2596/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาเกินคำขอและอำนาจศาลในการย้อนสำนวนคดีแพ่ง
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์มีว่า ให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับ น.ส.3 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิเฉพาะส่วนของโจทก์ เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา คืนแก่โจทก์ กับขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินจำนวน 1 ไร่ กลับคืนเป็นของโจทก์ คำขอท้ายฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้คืนที่ดินตาม น.ส.3เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา แก่โจทก์ทั้งแปลงเพียงแต่เหตุแห่งการเพิกถอนต่างกันเท่านั้น ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับ น.ส.3 และโอนที่ดินทั้งแปลงคืนแก่โจทก์ จึงไม่เกินคำขอ
เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้เพิกถอนการให้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 แต่คดีนี้ปรากฏว่า โจทก์มิได้ยกที่ดินให้จำเลยทั้งแปลง คดีจึงยังมีประเด็นว่า โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยเนื้อที่เท่าใดซึ่งศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยแต่ได้พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินทั้งแปลง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมิได้ตัดสินตามข้อหาทุกข้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นให้พิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) อำนาจที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่นี้เป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้ ศาลอุทธรณ์ก็สามารถวินิจฉัยคดีได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน
of 364