คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ห้างหุ้นส่วน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 230 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2471

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายหุ้นส่วนหลังห้างหุ้นส่วนเลิก และสิทธิของเจ้าหนี้
ห้างหุ้นส่วน สิทธิของเจ้าหนี้ ห้างหุ้นส่วนที่เลิกกันแล้ว ฟ้องให้ผู้ถือหุ้นเปนคนล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2471

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เงินของห้างหุ้นส่วนโดยผู้จัดการและการพิสูจน์ทางการเงินโดยผู้รักษาเงิน
หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนเอาเงินของห้างหุ้นส่วนไปใช้ไม่จำเป็นต้องทำใบรับไว้เปนสำคัญเสมอไป น่าที่ผู้รักษาเงิน วิธี พิจารณาแพ่งน่าที่นำสืบวิธีนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8672/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนเลิกสัญญา การแบ่งกำไร และการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีที่เป็นกลาง
เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้ในสัญญาร่วมหุ้นกันทำงานจะระบุวิธีการดำเนินการของห้าง การแบ่งรายได้หรือผลตอบแทนในการร่วมหุ้นตลอดจนการแบ่งปันผลกำไรหรือการส่งมอบเงินทุนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนที่ระบุถึงวิธีร่วมลงทุนและการประกอบกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น และแม้ในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจะระบุถึงการแบ่งปันเฉพาะผลกำไรให้ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน กรณีจึงมีเหตุต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วนมีหุ้นส่วนเพียง 4 คน คือผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสอง ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ดังนี้ หากตั้งผู้ร้องที่ 1 ให้เป็นผู้ชำระบัญชีก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาในการชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8532/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนประกอบธุรกิจแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนจำกัด: ความรับผิดทางแพ่งและการสั่งให้หยุดประกอบกิจการ
ป.พ.พ. มาตรา 1066 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งการฝ่าฝืนค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนมีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 1067 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยวรรคหนึ่งบัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น และวรรคสามบัญญัติไว้ความว่า การที่ห้างหุ้นส่วนเรียกเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติกรณีฝ่าฝืนนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจบังคับผู้ฝ่าฝืนให้หยุดประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนนั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหาย จึงต้องยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการในบริษัท ท. อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน/สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์: สิทธิในการฟ้อง และการขอคืนทุน
สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนในโครงการผู้เดียว ส่วนโจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายดินลูกรัง โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินปันผลร้อยละ 40 ส่วนโจทก์ได้รับร้อยละ 60 ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ส่วนโจทก์เป็นผู้ลงแรงด้วยประสงค์เพื่อแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำที่ดินพิพาทมาให้ใช้เป็นการลงหุ้น มิได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นการลงหุ้น โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนเลิกการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสาม มิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนทุน นั้น โจทก์เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยแรงงานเท่านั้น ไม่ได้มีเงินมาลงทุน และในสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ดังกล่าว ก็มิได้บอกว่าจะแบ่งทุนหรือตีราคาค่าแรงงานเป็นทุนเพื่อคืนให้แก่โจทก์ เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนทุนพร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนและการเรียกร้องเงินคืนหลังเลิกสัญญา โดยต้องมีการตรวจสอบทรัพย์สินและแบ่งกำไร
ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายออกเงินลงทุน ส่วนจำเลยทั้งสองยอมให้ห้างหุ้นส่วนใช้ที่ดินของตนปลูกต้นสน แต่โจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับจำนวนเงินลงทุนของโจทก์ รายได้ของห้างหุ้นส่วน ข้อตกลงในการแบ่งปันผลกำไร อีกทั้งโจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างมิได้ตกลงให้มีการจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ยอมแบ่งรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องหักต้นทุนก่อน ในขณะที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีข้อตกลงเช่นนั้นและต่อมาจำเลยทั้งสองก็ตัดโค่นไม้สนจำนวนหนึ่งแล้วนำไปขาย จึงจำเป็นต้องมีการชำระบัญชีเพื่อตรวจสอบให้ทราบว่าต้นสนที่เหลือมีมูลค่าเท่าใด จะจัดการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับต้นสนนั้น และห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรหรือขาดทุนหรือไม่เพียงใด เพื่อที่จะได้เฉลี่ยกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถูกต้อง แม้ห้างหุ้นส่วนจะไม่มีหนี้สินต่อบุคคลภายนอกก็ตาม
เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มิใช่สัญญาร่วมลงทุนประเภทหนึ่ง การที่โจทก์เรียกเอาเงินลงทุนค่าบริหารจัดการ ค่าตัดโค่นต้นไม้ เงินค่าขายไม้สน ตลอดจนค่าขาดประโยชน์จากตอไม้ จึงเป็นการฟ้องขอให้คืนทุนกับเรียกค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการงานของห้างหุ้นส่วนและการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนแก่โจทก์ มิใช่การเรียกเอาค่าเสียหายอันมิได้เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18574-18577/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาทางปกครองระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ไม่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือตัวแทน
สัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมใช้ความถี่สื่อสาร โดยในขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ใช้กิจการสื่อสารมวลชนเป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมของคนในชาติและรักษาความมั่นคงของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการรับรู้ข่าวที่ถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนสาระความรู้และสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ จึงเป็นการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและปัจเจกชนอันเป็นบริการสาธารณะ การให้บริษัท ท. จำกัด ดำเนินการจึงต้องอยู่ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย และสัญญายังเป็นการมอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนดำเนินการรับผิดชอบและเสี่ยงภัยในกิจการนั้นตลอดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้รับบริการซึ่งเป็นสมาชิกที่รับบริการปลายทางในรูปแบบของการสัมปทานเพื่อจัดการบริการสาธารณะในลักษณะเดียวกันกับการให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเห็นชอบหรืออนุญาตให้กระทำการใดหรือไม่ให้กระทำการใด รวมทั้งมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานและบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 อันเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล อีกทั้งเมื่อหมดเวลาตามที่กำหนดในสัญญาแล้วบริษัท ท. จำกัด ยังต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาในข้อ 8 ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่การตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันในลักษณะแห่งความเสมอภาคของคู่สัญญาในการก่อให้เกิดสัญญา การปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขและการเลิกสัญญาในลักษณะของคู่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
ข้อสัญญาที่กำหนดให้บริษัท ท. จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดอายุสัญญา หากชำระล่าช้าจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งต้องนำหลักประกันจำนวน 5,000,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นการกำหนดค่าตอบแทนจากการที่ร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาเท่านั้น ไม่ว่าการดำเนินกิจการของบริษัท ท. จำกัด จะมีกำไรหรือไม่ก็ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมิได้เป็นการตกลงเข้ากันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ส่วนการที่บริษัท ท. จำกัด จะต้องโอนหุ้นซึ่งชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้วจำนวนร้อยละ 7 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น หรือที่จะต้องให้จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของบริษัท ท. จำกัด ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ก็เป็นเพียงการกำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมนอกจากเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปี และเพื่อให้มีผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมการดำเนินงานในลักษณะของความมีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนนั่นเอง สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสำเนาสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมิใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด จัดการบริการสาธารณะในรูปแบบของการสัมปทาน ซึ่งบริษัท ท. จำกัด จะต้องจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยทุนทรัพย์และความเสี่ยงภัยของบริษัท ท. จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้บริษัท ท. จำกัด ใช้ความถี่สื่อสารที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติเพื่อดำเนินการเองในนามของจำเลยที่ 1 อันเป็นลักษณะของสัญญาทางปกครองแล้วเช่นนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ตัวแทนหรือตัวแทนเชิดตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 15 ตัวแทน ด้วยเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14429/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนสามัญต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของห้างหุ้นส่วน แม้มีข้อตกลงภายในระหว่างหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์พื้นฐานเข้ากับชุมสายโทรศัพท์แบบอัตโนมัติของโจทก์ จำเลยทั้งสองตกลงเข้าร่วมงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่โทรศัพท์นครหลวงจำนวนสองล้านเลขหมาย โดยจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันจากส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการ เช่น ค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าเช่าเลขหมายโทรศัพท์ ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด ตามมาตรา 1025 แม้สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายกิจการจะระบุว่า บรรดาความรับผิดชอบที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่มีผลผูกพันกับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14351/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค: ผู้เสียหายคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ใช่เจ้าของห้างหุ้นส่วน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เช็คพิพาททั้งสองฉบับ เช็คที่ออกเพื่อชำระเงินค่าเสื้อแจกเกตให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กรณีจึงถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท มิใช่โจทก์ร่วม ถึงแม้จำเลยจะได้สั่งซื้อเสื้อแจกเกตจากโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมจะมีส่วนเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ด้วยก็ตาม แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยได้ การที่โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมดำเนินการแทน จึงถือได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนการกระทำความผิดของจำเลย การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนมานั้น จึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13936/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินที่ได้รับจากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ไม่ถือเป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไร ไม่ได้รับเครดิตภาษี
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1084 แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลของห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเป็นส่วนแบ่งจากกำไรที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงหุ้น ดังนี้ กำไรยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรอันจะได้รับเครดิตภาษีตาม มาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร เนื่องจาก ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติให้เครดิตภาษีแก่กำไรทั้งหมดของห้างหุ้นส่วน แต่ให้เครดิตภาษีแก่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อเป็นการบรรเทาภาษีแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนมิให้ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนกับหุ้นส่วน และสนับสนุนการลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำนวน 66,188.86 บาท มิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1084 กำหนดไว้ แต่เป็นการเฉลี่ยแจกกำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การชำระบัญชีเมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้จ่ายกำไรสะสมแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากออกจากทรัพย์อื่นของห้างหุ้นส่วนได้ แต่ต้องนำมารวมกันเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไป โดยกำไรที่จะแจกกันในระหว่างการชำระบัญชีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการชำระหนี้ ชดใช้เงิน และคืนทุนทรัพย์ตามลำดับไปแล้วยังมีทรัพย์เหลือ ดังนั้น กำไรที่แจกระหว่างการชำระบัญชีจึงมิใช่ผลกำไรที่ห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้อันจะนำมาแบ่งเป็นเงินปันผลได้อีกต่อไป ส่วนเงินที่โจทก์ได้รับมีส่วนที่เป็นกำไรจากการปรับปรุงบัญชีรวมอยู่ด้วย 9,470.49 บาท เมื่อเงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำกัด เป็นกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชี จึงไม่ใช่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ข) แห่ง ป.รัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุนซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร
of 23