คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลอุทธรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,244 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084-4085/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในคดีฟอกเงิน ยืนตามศาลอุทธรณ์
การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทั้งอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่บุคคลส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐาน เพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น หากเพียงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็สามารถดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ เพราะเป็นมาตรการส่วนแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 มิใช่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 ได้บัญญัติมาตรฐานการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่จะพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่นั้น ย่อมมีเพียงการปรากฏเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามบทนิยาม "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 เท่านั้น โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ โดยการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นอำนาจของศาล ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ศาลต้องไต่สวนพยานหลักฐานจนเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนี้ แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 แต่หากผู้ร้องเห็นว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลได้
เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง มาตรา 51 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ประกอบกันแล้ว ย่อมหมายความว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 (1) หากเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน จะต้องแสดงให้ศาลเห็นรวม 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องแสดงว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และประการที่สอง ต้องแสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือตามมาตรา 50 (2) เป็นผู้รับโอนโดยสุจริตหรือมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ และกรณีที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคสาม หากเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ทั้งการให้คำจำกัดความ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงทำให้คำว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฎว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หรือเป็นทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าวหรือเป็นดอกผลของทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางและเจตนาลวงในสัญญากู้ยืม ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาปล่อยเงินกู้ จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเป็นการแสดงเจตนาลวง โจทก์จำเลยไม่มีเจตนากู้ยืมเงินกัน เป็นการอำพรางนิติกรรมที่โจทก์ให้เงินแก่จำเลยเพื่อไปซื้อยางก้อนถ้วยมาส่งให้แก่โจทก์ โดยจำเลยจะได้รับค่าตอบแทน ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นการแสดงเจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว โดยเนื้อหาที่บรรยายมาในคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น และเมื่ออ่านอุทธรณ์ทั้งฉบับโดยเฉพาะในหน้าที่ 14 และหน้าที่ 15 แล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นการแสดงเจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งแล้ว
อนึ่ง คดีนี้จำเลยฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาล 66,375 บาท แต่เมื่อศาลฎีกาย้อนสํานวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ เช่นนี้ จำเลยชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษและวรรคความผิดในศาลอุทธรณ์ ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด ทำให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้าม
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง จำคุก 3 ปี 6 เดือน เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1689/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับแก้บทความผิดและโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์ การรับฎีกาที่ไม่ชอบของศาลชั้นต้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง, 365 (1) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี ตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 2 ปี เป็นกรณีที่ทั้งสองศาลต่างวางบทความผิดแก่จำเลยทั้งมาตรา 278 วรรคหนึ่ง และมาตรา 365 (1) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทอยู่แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปรับบทกฎหมายตามมาตรา 278 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดที่ใช้ลงโทษจำเลยให้ถูกต้องดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นการแก้ไขบท แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะแก้ไขโทษเพิ่มขึ้นตามบทหนักที่ใช้ลงโทษแก่จำเลย ก็เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า สั่งในฎีกา แล้วมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาของจำเลยว่า เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ให้รับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
of 225