คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กฎหมายใหม่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 266 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8330/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ผลกระทบของกฎหมายใหม่ และกรอบเวลาในการดำเนินการ
อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า คดีของผู้ร้องต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วมาปรับใช้แก่คดี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222
ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการและคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในระหว่างที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ยังมีผลใช้บังคับ เมื่อผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทราบแล้ว ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530
ในระหว่างที่ผู้ร้องยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 มีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ออกใช้บังคับโดยมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 แต่มีบทเฉพาะกาลมาตรา 48 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับ" และวรรคสองบัญญัติว่า "การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ยังมิได้กระทำและยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นได้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้" เมื่อการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามความในมาตรา 48 วรรคสอง และยังไม่ล่วงกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกไป ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นได้ภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษหลังคดีถึงที่สุด มิใช่การใช้กฎหมายใหม่ที่บัญญัติหลังการกระทำผิด
การลดโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสหรือโอกาสต่าง ๆ ภายหลังคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแต่ละฉบับ กรณีดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะการกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดและโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จำเลยที่ 1 จะขอให้กำหนดโทษใหม่ได้ คำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับโทษตามกฎหมายใหม่หลังคดีถึงที่สุด ต้องพิจารณาโทษจำคุกขั้นสูง
ตาม ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง... ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง..." คำว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) นั้น หมายถึงโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่โทษจำคุกตามคำพิพากษาก็ยังต่ำกว่าโทษขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่วางโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงถือไม่ได้ว่าโทษจำคุกตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4941/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: การแบ่งหน้าที่ร่วมกันกระทำความผิด, การลดโทษจากข้อมูลที่เป็นประโยชน์, และการปรับโทษตามกฎหมายใหม่
การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 4 แล้วไปตรวจค้นอพาร์ตเมนต์ห้องเลขที่ 215 และยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีก 32,000 เม็ด นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องไปตรวจค้นอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 4 ถูกจับกุม จึงรับว่ามีเมทแอมเฟตามีนอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 (ที่แก้ไขใหม่) ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ และตามข้อเท็จจริง แม้จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนก็ตาม แต่ในชั้นศาลจำเลยที่ 4 กลับนำสืบว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 4 เป็นการสร้างเรื่องขึ้น ซึ่งศาลก็ไม่ได้นำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยที่ 4 อันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีของศาลแต่ประการใด และไม่มีเหตุบรรเทาโทษอื่นที่จะหยิบยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อลดโทษให้แก่จำเลยที่ 4 ตาม ป.อ. มาตรา 78

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งสิทธิผู้ถูกจับ-สอบสวน และการใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลัง กรณีคดียาเสพติด
ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ 2 นั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 38 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังมิได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงสิทธิต่างๆ ดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายขณะที่มีการจับกุมและสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2719/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลกระทบของกฎหมายใหม่ต่อความผิดเดิม: สถานบริการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเมื่อมีการแก้ไขนิยาม
แม้ขณะเกิดเหตุการณ์ที่จำเลยตั้งสถานบริการประเภทสถานที่ที่มีสุรา น้ำชาและเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอนให้แก่ลูกค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สถานบริการฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ฉบับเดิมก็ตาม แต่เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มี พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4)ฯ ออกมาใช้บังคับ ซึ่งตามพ.ร.บ.ฉบับหลังนี้ มาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "สถานบริการ" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สถานบริการฯ เดิม และได้บัญญัติข้อความใหม่ไว้ในมาตรา 3 ว่า "สถานบริการ" หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้าดังต่อไปนี้...(2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า ดังนี้ เมื่อฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างเพียงว่า สถานที่ที่จำเลยตั้งขึ้นเพื่อให้บริการนั้น เป็นสถานที่ที่มีสุรา น้ำชาและเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอนให้แก่ลูกค้าเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้าด้วย กรณีจึงไม่เข้าบทนิยามคำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4)ฯ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดตาม พ.ร.บ.สถานบริการดังกล่าว ระบุไว้ว่าการตั้งสถานที่เพื่อให้บริการตามฟ้องจะต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีบทกำหนดโทษในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนไว้เช่น พ.ร.บ.สถานบริการฉบับเดิม ถือได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4907/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าสงวน การปรับบทลงโทษตามกฎหมายใหม่ และการรอการลงโทษจำคุก
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งตั้งหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวม โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ข้อ 1 เป็นการเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่วนข้อ 2 กำหนดให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน และในข้อ 2.1 ระบุว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงเนื้อหาแล้วคำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว กำหนดวิธีการให้หน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามคำสั่งดังกล่าวถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไม่มีที่ดินทำกินเท่านั้น ที่สำคัญผู้ที่จะได้รับการยกเว้นจะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องอยู่ในที่ดินมาก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ ส่วนผู้ที่บุกรุกใหม่ต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบตามขั้นตอนที่กำหนด โดยเฉพาะข้อ 2.4 ระบุว่า กรณีใด ๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด โดยไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติที่ปกป้องหรือให้ความคุ้มครองแก่บุคคลดังกล่าวข้างต้น และต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ก่อนหรือหลังคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงแต่หากเป็นการบุกรุกก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติดำเนินการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบุคคลบางจำพวกดังกล่าวข้างต้นเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ไม่มีผลเป็นการยกเลิกความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาลบล้างความผิดของจำเลยได้
การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุและยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วย คดีนี้จึงชอบที่ต้องนำพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดซึ่งไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชี้ว่า แม้กฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่หากกฎหมายใหม่ยังคงความผิดเดิมไว้ ก็ต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับย้อนหลังได้
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากผู้กู้แต่ละรายต่างวันเวลากัน ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2560 รวม 51 รายการ และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ ในขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 แม้ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ปรากฏว่ามี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 แต่ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) ยังคงบัญญัติให้การกระทำที่มีลักษณะเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ การที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 จึงเป็นฟ้องชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิยามความผิดฐานกระทำชำเราตามกฎหมายใหม่ และความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก แม้ไม่มีการล่วงล้ำทางเพศโดยตรง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่ง ป.อ. "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราว่า จะต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกกระทำจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด
จำเลยใช้มือจับอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 สอดใส่เข้าไปในช่องทวารหนักของจำเลย และใช้ปากของจำเลยอมอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 โดยไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 227 วรรคสาม อีกต่อไป และแม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะไม่ได้เข้าไปในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศอันเป็นการล่วงเกินโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว จึงเป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไม้หวงห้ามในที่ดินมีกรรมสิทธิ์: ผลกระทบจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่ และสิทธิครอบครองที่ดิน
ขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กำหนดให้ไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาที่ขึ้นอยู่ในป่าเป็นไม้หวงห้าม ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้ประดู่และไม้แดงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา อันดับที่ 58 และ 87 การทำไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับวันที่ 17 เมษายน 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และกำหนดให้ "ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม" โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้น เป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ
ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎร ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ดังกล่าวสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่าต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทั้งนี้ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 การครองครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ของ ส. จึงเป็นการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม้ประดู่และไม้แดงที่ขึ้นในที่ดินดังกล่าว จึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 27