คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความสมบูรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 235 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8687-8688/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิจัดการมรดกสู่ทายาทหลังผู้จัดการมรดกเสียชีวิต และความสมบูรณ์ของพินัยกรรมที่ลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือ
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย คำสั่งศาลที่ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีผลต่อไป แต่ความรับผิดของผู้จัดการมรดกอันเกิดจากการจัดการมรดกมิชอบมิใช่เป็นการเฉพาะตัวจึงย่อมตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลอนุญาตให้ ท. เป็นคู่ความแทนที่จำเลยจึงชอบแล้ว
พินัยกรรมมีลายมือชื่อพยานสองคนและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พยานในพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือในขณะเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานในพินัยกรรมทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1670 การที่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ช. กับ ห. เมื่อบุคคลทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1665 พินัยกรรมจึงถูกต้องตามแบบและสมบูรณ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15055/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสนอสินบนเพื่อแลกกับการปล่อยตัวผู้ต้องหายาเสพติด และความสมบูรณ์ของฟ้องอาญา
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุม ป. โดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัว ป. มาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธ. ได้ควบคุม ป. มายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เหตุที่ยังไม่ได้นำตัว ป. ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุม ป. ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรี ธ. ยังไม่ได้นำตัว ป. ส่งพนักงานสอบสวน ป. จึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรี ธ.
ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยมาพบพันตำรวจตรี ธ. แจ้งว่าเป็นน้องชาย ป. และเสนอจะให้เงิน 400,000 บาท ถ้าปล่อยตัว ป. พันตำรวจตรี ธ. รับปากจะช่วยเหลือ จำเลยนัดจะนำเงินมาให้ในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ได้รายงานผู้บังคับบัญชาและไปขอลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเพื่อวางแผนจับกุมตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งร้อยตำรวจตรี ม. เป็นผู้บันทึก ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยถือถุงกระดาษสีน้ำตาลมาหาพันตำรวจตรี ธ. ที่ห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยแจ้งว่าเงินครบ แล้วล้วงเอาธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ออกมาจากถุง พันตำรวจตรี ธ. จึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) บัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น...(2) จัดหาหรือให้เงิน... เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ... และมาตรา 3 นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด... โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 พันตำรวจตรี ธ. กับพวกร่วมกันจับกุม ป. ผู้ต้องหา พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ต่อมาจำเลยได้เสนอขอให้และให้เงินสินบน 400,000 บาท แก่ผู้จับกุม เพื่อจูงใจให้ปล่อยตัว ป. ไปเสีย การกระทำของจำเลยเป็นการจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุม ป. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2260/2549 ของศาลชั้นต้น เพื่อมิให้ ป. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดฐานนั้น เห็นได้ว่า ป. ต้องกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยให้เงินเพื่อมิให้ ป. ถูกลงโทษ จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. ในความผิดฐานนั้น ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ป. ได้กระทำความผิดในข้อหาใด ปริมาณยาเสพติดให้โทษมีเพียงใด และศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บทมาตราใด โจทก์จะบรรยายคลุมๆ ว่า ป. กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ เพราะหากจำเลยมีความผิดก็ต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. เมื่อไม่ได้บรรยายความผิดของ ป. ตามที่กล่าว ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้โจทก์จะระบุหมายเลขคดีที่ ป. ถูกลงโทษมาในฟ้อง แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของสัญญาประกันตัวที่เกิดจากเอกสารปลอม การไต่สวนเพื่อพิสูจน์ลายมือชื่อ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ประกันจำเลยต่อศาลชั้นต้น เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยเป็นเอกสารปลอม โดย ว. ร่วมกับ ร. ปลอมลายมือชื่อผู้ร้องในหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านนำไปใช้ประกอบโฉนดที่ดินของผู้ร้อง การที่ศาลชั้นต้นมิได้ทำการไต่สวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เอกสารที่นำมายื่นขอประกันตัวจำเลยต่อศาล มีการปลอมลายมือชื่อของผู้ร้องจริงหรือไม่ เพื่อที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไปว่าสัญญาประกันมีผลผูกพันผู้ร้องหรือไม่ เห็นควรให้ย้อนสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนในประเด็นดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วมีคำสั่งใหม่ไปตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของฟ้องอาญาเช็ค และการพิพากษาลงโทษหลายกรรมต่างกัน
แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุอ้างแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 4 โดยมิได้อ้างคำว่า "มาตรา" ไว้ด้วย น่าจะเป็นการพิมพ์ผิดหลงเมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติเพียง 11 มาตรา และมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียวเท่านั้น ที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษเอาไว้ ส่วนมาตราอื่นๆ ล้วนบัญญัติในเรื่องอื่นไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด ทั้งในคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ซึ่งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ โดยชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ย่อมมีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์
โจทก์ฟ้องโดยระบุชัดแจ้งว่าจำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาออกเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกจากกัน ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดสองกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ และใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลย โดยพิพากษาแก้ไขโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุกกระทงละ 3 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นคำพิพากษาที่แก้ไขมากและไม่เป็นผลร้ายต่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15260/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของพินัยกรรม เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย
ในชั้นไต่สวนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่ผู้ตายทำสมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งเท่ากับวินิจฉัยแล้วว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้จริงนั่นเอง เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขอใหม่อ้างว่าพินัยกรรมปลอม แม้จะอ้างว่ามีการตรวจพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญในภายหลังก็ตาม แต่ข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้องสามารถให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์และนำสืบได้ตั้งแต่ในชั้นที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในครั้งแรกได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องโดยอ้างว่าพินัยกรรมปลอมอีก ดังนี้ประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกันคือให้วินิจฉัยว่าผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ซ้ำอีก ซึ่งศาลชั้นต้นเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำร้องขอของผู้ร้องในชั้นนี้จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นนั้นอีก อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของคำฟ้องคดีพยายามลักทรัพย์: รายละเอียดทรัพย์สินที่เพียงพอต่อการเข้าใจข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในห้องของโรงแรมที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลักทรัพย์สินของโรงแรมและนักท่องเที่ยวที่เก็บรักษาไว้ในห้องพัก จำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะมีผู้พบเห็นและเข้าขัดขวางถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองพยายามลักเท่านั้นเพราะลักษณะของความผิดย่อมยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นทรัพย์อะไรมีมูลค่าเท่าใด แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามลักทรัพย์ของผู้อื่น ฟ้องโจทก์จึงระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีและต่อสู้คดีได้ หาจำต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6320/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของสัญญาจำนองเมื่อลายมือชื่อไม่ตรงกับผู้จำนองจริง และการวินิจฉัยประเด็นนอกฟ้อง
การที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้จำนองตามหนังสือสัญญาจำนองและมีการมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนโจทก์ที่ 1 หรือไม่ ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิจารณาเข้ากับข้อกฎหมาย เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจำนองจริงเพียงแต่อ้างว่าเป็นหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อในโฉนดหาใช่สัญญาจำนองไม่ จึงไม่มีข้อเท็จจริงในประเด็นเรื่องลายมือชื่อในช่องผู้จำนองตามหนังสือสัญญาจำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกขึ้นวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาจำนองลายมือชื่อในช่องผู้รับจำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ทั้งไม่มีการมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 2 เพราะหากมีประเด็นนี้ในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 อาจนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ได้ การที่จะยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นวินิจฉัยเองจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการจำนองเฉพาะที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 714 นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์หากไม่มีตราบริษัท แม้จะมีพยานรับรอง
ตามหนังสือมอบอำนาจตอนท้ายระบุว่า เพื่อเป็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าวกรรมการผู้มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทต่อหน้าโนตารีปับลิกประจำท้องถิ่น และยังมีข้อความว่า ลายมือชื่อ ตราประทับ และส่งมอบโดย อ. ผู้มีชื่อปรากฏข้างต้นต่อหน้าโนตารีปับลิก ตามคำฟ้องกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงว่าตามข้อบังคับของโจทก์ กรรมการผู้มีอำนาจจะลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ได้จะต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วย ฉะนั้น ในกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนนี้ โจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว ในเมื่อตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว อ. ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจโจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงว่า รายละเอียดตามหนังสือมอบอำนาจนั้น โจทก์จะได้เสนอศาลในชั้นพิจารณาต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาท้ายฟ้อง จำเลยจึงไม่สามารถตรวจดูหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวและไม่สามารถยกเรื่องไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การได้ นอกจากนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็ได้ยกเรื่องหนังสือมอบอำนาจมาวินิจฉัยดังนี้ ถือได้ว่าปัญหาข้อนี้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำเลยจึงยกปัญหาข้อนี้ข้ออ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9000/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดิน และการโอนสิทธิในที่ดิน การพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อยืนยันความสมบูรณ์ของสัญญา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขออ้างพยานเอกสารเพิ่มเติม บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตและสั่งให้จำเลยที่ 2 สำเนาให้แก่โจทก์ด้วยแล้ว เมื่อต้นฉบับเอกสารเป็นเอกสารซึ่งอยู่ในครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
การที่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารไว้ก่อนนั้น เมื่อปรากฏว่าเอกสารทั้งสามฉบับนี้เป็นเอกสารที่ตัวโจทก์ได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ไปขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวมายื่นแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์เท่านั้น ทั้งเรื่องการจำนองที่ดินพิพาทแล้วมีการไถ่ถอนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ในสารบัญจดทะเบียนหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อนถึงเอกสารดังกล่าว ก็สามารถรับฟังเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวได้ว่ามีอยู่จริงที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6014/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของคำฟ้องอาญา: การระบุเวลาการกระทำผิดและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุเวลากระทำผิด แต่จำเลยเป็นพนักงานอัยการก็เห็นได้ว่าหมายถึงระหว่างเวลาปฏิบัติราชการตามปกตินั่นเอง ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีของโจทก์ข้างต้นในวันเวลาใด เพราะจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับคดีของโจทก์ดังกล่าวด้วยตนเอง คำฟ้องของโจทก์มีรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
of 24