คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษีเงินได้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 232 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการขนส่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) ป.รัษฎากร การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อการรับ-ส่งผู้โดยสารกระทำในนามของโจทก์และโจทก์เป็นผู้รับค่าโดยสารแล้วแบ่งให้แก่พนักงานขับรถและเจ้าของรถร่วมตามอัตราร้อยละที่ตกลงกันไว้ การให้บริการของโจทก์จึงเป็นการให้บริการขนส่ง เมื่อเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ)
คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีเงินได้ที่ทดรองจ่ายแทนลูกจ้างที่ลาออก และสิทธิในการเรียกคืนจากลูกจ้าง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะที่จะเรียกพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบและรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าจะทำให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ แม้โจทก์จะส่งสัญญาจ้างซึ่งเป็นเอกสารสำคัญแห่งคดีประกอบคำเบิกความพยานบุคคลของโจทก์โดยไม่ยื่นต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยาน เพิ่งส่งประกอบคำเบิกความของพยานบุคคลของโจทก์ในวันสืบพยาน ศาลแรงงานภาค 9 ก็มีอำนาจสั่งรับสัญญาจ้างไว้ และรับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้
โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ โจทก์มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้ว การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้ส่วนที่ขาดไปเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของโจทก์ที่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยด้วยจึงมิได้เป็นการกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ แม้ในขณะที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้ส่วนที่ขาด จำเลยจะลาออกจากงานแล้ว แต่ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่จำเลยยังมิได้ลาออกจากงาน การที่จำเลยลาออกจากงานและมิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วจึงไม่ทำให้ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้ของจำเลยที่ยังขาดจำนวนอยู่ระงับไปด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าภาษีเงินได้ที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปจากจำเลยได้
ป.รัษฎากร มาตรา 63 ไม่ประสงค์จะให้ผู้มีเงินได้พิพาทหรือโต้แย้งกับผู้จ่ายเงินได้ที่หักภาษีเงินได้ไว้และนำส่งแล้วอันอาจเกิดอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีเงินได้ แม้โจทก์จะตรวจสอบพบในภายหลังว่า โจทก์มิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้หรือหักไว้ไม่ครบถ้วนตามวิธีที่ ป.รัษฎากรกำหนด และโจทก์ทดรองเงินของตนนำส่งให้กรมสรรพากรแทนจำเลยไป หากจำเลยเห็นว่าจำนวนเงินที่นำส่งเกินกว่าจำนวนภาษีเงินได้ที่จำเลยควรต้องเสีย จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการขอคืนจากกรมสรรพากรตามมาตรา 63 เช่นกัน จะอ้างว่าโจทก์มิได้หักไว้ก่อนและโจทก์จ่ายเกินจำนวนไปเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนไปไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15072/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ การวางแผนหลีกเลี่ยงภาษี และการประเมินภายในกำหนดอายุความ
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกสำหรับการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีของปีภาษี 2539 เกินกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19 การประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ปลดภาษีดังกล่าว มีผลทำให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนภาษีที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระให้ถูกต้องและเป็นจำนวนเงินของภาษีปี 2539 เต็มปี ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมีอำนาจออกหมายเรียกและทำการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 23 และ 24 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก เมื่อสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และเจ้าพนักงานประเมินได้กระทำภายในกำหนดเวลาดังกล่าว การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเต็มปีภาษีสำหรับปีภาษี 2539 จึงรวมถึงจำนวนเงินได้พึงประเมินเต็มปีภาษีที่โจทก์ยังมิได้นำมารวมคำนวณและชำระภาษีสำหรับปีภาษี 2539 ด้วย การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คิดภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยมิได้เอาเงินได้อื่นมารวมคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีและมิใช่เป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นจึงชอบแล้ว
ป.รัษฎากร มาตรา 91/21(5) ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนอำนาจเจ้าพนักงานประเมินเฉพาะมาตรา 88/3, 88/4 และ 88/5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมิได้บัญญัติให้นำมาตรา 88/6 ในเรื่องกำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับด้วย จึงไม่อาจนำกำหนดเวลาการประเมินของภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แก่กรณีของโจทก์ และตามมาตรา 88/4 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาบังคับ อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.รัษฎากร มาตรา 19 ซึ่งเป็นบททั่วไป
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 193/31 กำหนดให้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ดังนั้น นับตั้งแต่วันครบกำหนดที่โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2539 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีปัญหาพิพาทจนถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะเรียกเอาภาษีธุรกิจเฉพาะยังไม่ขาดอายุความ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายที่ดิน ต้องใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ตามกฎหมายที่ดิน แม้ราคาซื้อขายจะต่างกัน และงดเงินเพิ่มได้หากเจ้าหน้าที่ประเมินผิดพลาด
โจทก์ขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 ซึ่งขณะนั้นมีประกาศกรุงเทพมหานครฯ แก้ไขบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทว่ามีราคาประเมินตารางวาละ 45,000 บาท ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการขายที่ดินพิพาทจะต้องถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดินโดยถือว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 ทวิ ไม่ว่าโจทก์และพันตรี ส. จะซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคาใดก็ตาม การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ 4,000 บาท ย่อมทำให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไป เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องครบถ้วนได้
การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทผิดพลาดต่ำกว่าราคาประเมินที่แท้จริง ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้จากการขายสินสมรส: การแบ่งเงินได้และสิทธิในการเสียภาษี
ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง" โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9149/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครดิตภาษีปิโตรเลียม: การหักลดหย่อนภาษีเงินได้จากการจำหน่ายปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร ต้องทำหลังการชำระภาษีจากกำไรสุทธิ
พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 65 นว บริษัทที่ต้องเสียภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 65 จัตวา (2) ย่อมได้รับเครดิตภาษีสำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักร เป็นจำนวนเงินตามอัตราร้อยละที่กำหนดของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม หรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย หรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามมาตรา 65 นว วรรคสอง (1) และ (2) ด้วย คือ (1) เครดิตภาษีจะมีได้เป็นจำนวนไม่เกินภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีและภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีเฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร และ (2) เครดิตภาษีจะต้องไม่เกินภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีเฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งการคำนวณจำนวนเครดิตภาษีตามข้อจำกัดดังกล่าวจะต้องทราบจำนวนภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 จัตวา (1) เป็นลำดับแรก แล้วนำจำนวนภาษีนี้ไปรวมกับภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) เพื่อเป็นจำนวนตามข้อจำกัดประการแรก และยังจะต้องนำจำนวนภาษีนี้ไปหักจากเงินกำไรส่วนที่เหลือจึงจะคงเหลือเป็นจำนวนภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 จัตวา (2) อันเป็นจำนวนตามข้อจำกัดประการที่สอง หากยังไม่ทราบจำนวนภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีเนื่องจากการคำนวณกำไรสุทธิจะต้องรอคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 อัฏฐ กรณีก็ไม่อาจจะคำนวณข้อจำกัดของเครดิตภาษีตามมาตรา 65 จัตวา ทั้ง (1) และ (2) ให้เป็นที่แน่นอนได้ เครดิตที่เกิดขึ้นย่อมจะกำหนดจำนวนได้แน่นอนก็ต่อเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีและมีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้แล้ว แต่การได้รับเครดิตเพื่อหักออกจากภาษีในกรณีพิพาทนี้เป็นกรณีที่ต้องนำเครดิตไปหักออกจากภาษีเงินได้ของเงินกำไรเฉพาะส่วนที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำว่า "เงินกำไรเฉพาะส่วนที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้" แล้ว ย่อมแสดงความหมายอยู่ในตัวว่า เป็นกรณีที่ได้มีการชำระภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 จัตวา (1) เสร็จสิ้นไปขั้นตอนหนึ่งแล้วคงเหลือเป็นเงินกำไรส่วนที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิอันนำมาเป็นฐานภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) ต่อไป โดยเงินกำไรส่วนที่เหลือนี้จะต้องเสียภาษีอีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อได้จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร อันเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็จะได้รับเครดิตภาษีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 นว เพื่อนำไปหักออกจากภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ถ้ายังมีเครดิตเหลืออยู่ก็ให้ยกเครดิตส่วนที่เหลือนั้นไปหักในรอบระยะเวลาบัญชีต่อๆ ไปได้ โจทก์จึงไม่อาจนำเครดิตภาษีมาตรา 65 นว ข้ามขั้นตอนไปหักออกจากค่าภาษีเงินได้การจำหน่ายกำไรออกนอกราชอาณาจักรไปตั้งแต่ก่อนที่จะชำระภาษีจากกำไรสุทธิและมีกำไรเหลือได้ ทั้งคดีนี้ยังมีปัญหากรณีรายได้จากสัญญาร่วมปฏิบัติการและรายจ่ายตามสัญญาบริการของโจทก์ที่ต้องนำมาถือเป็นกำไรที่โจทก์จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักรตามการประเมินด้วย ย่อมเป็นเหตุให้จำนวนเงินกำไรและจำนวนเครดิตภาษีที่โจทก์อ้างว่าคำนวณได้ก่อนยื่นแบบแสดงรายการเกิดความคลาดเคลื่อนและไม่ใช่จำนวนเงินที่แน่นอน การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ใช้เครดิตภาษีได้ต่อเมื่อได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ภ.ง.ป.70) จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8671/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การรวมยอดภาษี และการงดเบี้ยปรับเนื่องจากความเข้าใจผิด
การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2551 ถึงปีภาษี 2554 มีทั้งการประเมินครึ่งปีกับเต็มปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประเมินภาษีในปีภาษีเดียวกัน เงินภาษีสำหรับการประเมินครึ่งปีและเต็มปีภาษีจึงเป็นจำนวนเดียวกัน ซึ่งเมื่อรวมคำนวณเงินภาษีในส่วนของเบี้ยปรับที่พิพาทสำหรับการประเมินครึ่งปีและเต็มปีภาษีเข้าด้วยกันแล้วมีจำนวนเกินกว่า 50,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8669/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ต้องมีเอกสารครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
มาตรา 42 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้... (17) เงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง" ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท โดยต้องจ่ายไปในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาดังกล่าว (2) ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับสิทธิยกเว้น นอกจากจะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) แล้ว ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย โดยข้อ 2 ของประกาศอธิบดีดังกล่าว กำหนดหลักเกณฑ์ว่า การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยหนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้ ซึ่งเอกสารแนบท้ายประกาศอธิบดีดังกล่าว คือ หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ที่ใช้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ในปี พ.ศ.2552) แสดงว่า การมีหนังสือรับรองเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยในหนังสือรับรองจะต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศ ซึ่งข้อ 4 ของหนังสือรับรองดังกล่าวกำหนดให้กรอกรายการชื่อโครงการ ประกอบกับหมายเหตุท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ว่า "เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย...อันจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้" จึงเห็นได้ว่า กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้นและเพื่อผลักดันให้ประชาชนนำเงินออมที่มีอยู่มาจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ชื่อโครงการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในหนังสือรับรอง เมื่อหนังสือรับรองที่โจทก์ยื่นต่อเจ้าพนักงานของจำเลยไม่มีชื่อของโครงการและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เงินได้ของโจทก์ที่ใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (17) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7843/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: เงินได้ต้องได้รับจริงและแน่นอน
หลักการเสียภาษีอากรสำหรับบุคคลธรรมดานั้น เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับเป็นเงินได้อันจะนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้วเท่านั้น มิใช่เป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาภายหน้า กรณียังไม่มีความแน่นอนว่าโจทก์จะได้รับทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพราะในคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่า บริษัท อ. ผู้เช่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ อันจะเป็นเหตุให้สิ่งปลูกสร้างที่ปลูกบนที่ดินที่เช่าตกเป็นของโจทก์ เนื่องจากคู่ความยังอุทธรณ์หรือฎีกาคดีนั้นและศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาอาจพิพากษาแก้หรือกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยคำพิพากษาศาลสูงมีผลเปลี่ยนแปลงเงินได้ที่ได้รับมาแล้วย่อมมิใช่เจตนารมณ์ของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้พึงประเมินต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว และมีความแน่นอนในระดับรับรู้รายได้ ได้แล้วด้วย จำเลยประเมินภาษีเงินได้แก่โจทก์ว่ามีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (5) (ก) สำหรับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไม่สอดคล้องกับมาตรา 39 ที่ให้เสียภาษีจากเงินได้ที่เป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7323/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเงินกำไรออกนอกประเทศและค่าใช้จ่ายที่หักลดหย่อนได้ การประเมินภาษีถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ" ดังนั้น หากข้อตกลงตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ขัดแย้งกับบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร จะต้องถือตามความตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร และความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ข้อ 7 (3) ระบุว่า "ในการกำหนดกำไรของสถานประกอบการถาวร ให้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า นอกจากค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่มีขึ้นเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะและค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในประเทศไทยซึ่งสถานประกอบการถาวรของโจทก์ตั้งอยู่หรือที่อื่นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้
แต่ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ฯ ข้อ 7 (3) ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ว่าค่าใช้จ่ายที่ปันส่วนมาจากต่างประเทศต้องคำนวณโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และพยานหลักฐานใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โจทก์มีค่าใช้จ่ายปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิสำหรับสาขาในประเทศไทย 223,525,955.62 บาท โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ว่า จำนวนรายจ่ายที่ปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคมีจำนวนที่เหมาะสมไม่เกินสมควร เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวิธีการที่โจทก์นำมาใช้มีความเหมาะสม เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้
กรณีจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามมาตรา 70 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้น..." และวรรคสอง "การจำหน่ายเงินกำไรตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง (1) การจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรจากบัญชีกำไรขาดทุนหรือบัญชีอื่นใด ไปชำระหนี้หรือหักกลบลบหนี้หรือไปตั้งเป็นยอดเจ้าหนี้ในบัญชีของบุคคลใด ๆ ในต่างประเทศ..." เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายปันส่วนจำนวน 223,525,955.62 บาท มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ และโจทก์ไม่โต้แย้งว่าได้จ่ายเงินดังกล่าวออกไปต่างประเทศจริงในปี 2541 จำนวน 25,482,207.62 บาท ที่เหลือจำนวน 198,043,748 บาท โจทก์บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โดยตั้งสำนักงานในต่างประเทศเป็นเจ้าหนี้แล้วจ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดออกไปต่างประเทศจริงในปี 2542 จึงถือว่าเงิน 223,525,955.62 บาท เป็นเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ
of 24