คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อนุญาโตตุลาการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 274 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาจ้างก่อสร้าง: สัญญาอนุญาโตตุลาการยังใช้บังคับได้ แม้สัญญาหลักเป็นโมฆะ
สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ" ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตสัญญาเช่า การเพิกถอนคำชี้ขาดต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย
สัญญาเช่าระหว่างผู้คัดค้านทั้งสามกับผู้ร้องระบุว่า หากมีความผิดพลาดเกี่ยวกับการเช่าและค่าเสียหายเกิดขึ้นตามสัญญา ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนมีการฟ้องร้องคดีทุกครั้งโดยมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการไว้ เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าและเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทจากพยานหลักฐานที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ไม่ต้องด้วยเหตุให้ศาลเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) เมื่ออนุญาโตตุลาการเห็นว่ากรณีฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญา ส่วนการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน ตรวจสอบที่ดิน ชี้แนวเขต ตลอดจนทำรูปแผนที่บอกขนาดของที่ดินเป็นกิจการที่ผู้เช่าและผู้ให้เช่าจะต้องร่วมมือกันดำเนินการในปัญหาการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมและการรังวัดที่ดินให้บรรลุล่วงไปด้วยดีนั้น เป็นคำชี้ขาดให้คู่สัญญากระทำการตามสัญญาต่อไป จึงไม่ใช่คำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย ทั้งการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่คำชี้ขาดที่ศาลมีอำนาจเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ก) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1670/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: การจำหน่ายคดีให้ไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีให้คู่ความไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์ขอให้เลขาธิการไอเอทีเอตั้งอนุญาโตตุลาการตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แม้จำเลยมีหนังสือถึงไอเอทีเอคัดค้านไม่ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการ แต่จำเลยแก้ฎีกาว่า การปฏิเสธการอนุญาโตตุลาการเป็นการต่อสู้คดี จำเลยไม่มีเจตนาสละข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ การพิจารณาตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นอำนาจของเลขาธิการไอเอทีเอ ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนซึ่งมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการโดยให้ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องและคำคัดค้าน เท่ากับจำเลยรับว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ศาลจึงต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง และหากเลขาธิการไอเอทีเอไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้ดำเนินการตั้งอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 18 วรรคท้าย (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายใน 90 วัน หากเกินกำหนด ศาลไม่รับพิจารณา
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่าเป็นคำวินิจฉัยที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง
ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ระยะเวลาแห่งสิทธิของผู้ร้องในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวเริ่มต้นนับวันที่ 13 มิถุนายน 2561 เป็นวันแรกและวันสุดท้ายคือวันที่ 10 กันยายน 2561 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขหรือตีความคำชี้ขาด หรือชี้ขาดเพิ่มเติม การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 จึงเกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันเป็นคำร้องมิชอบ ศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีประกันภัย: วันวินาศภัยที่ถูกต้องและการเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า
การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความโดยถือวันที่ผู้ร้องนำรถยนต์ไปให้เช่าเป็นวันวินาศภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
แต่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี
แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตาม
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40
โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ว่าวันวินาศภัยหรือวันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่
บ. ผู้หลอกลวง อันนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่แต่อย่างใด
จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า
การกระทำความผิดของ บ. เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ดังนี้ ในวันที่ 13
มกราคม 2558 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ บ. กับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุบายที่ บ. กับพวกวางแผนไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด
แต่ในขณะนั้น บ. กับพวกยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้อง ไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ
ต่อมาเมื่อ บ. กับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วพากันหลบหนีไปพร้อมรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่า บ. กับพวกเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหาตัว
บ. กับพวกได้และเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่
13 พฤษภาคม 2558 จึงถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัยตาม
ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง
เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด
2 ปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า
วันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์เป็นวันวินาศภัย ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 882 จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น
การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6296/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการแก้ไขประเด็นข้อพิพาทให้ตรงตามที่คู่ความยื่นคำคัดค้าน ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเด็นนอกเหนืออำนาจ
ในชั้นทำคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการ เห็นว่า ในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีการเรียกผู้คัดค้านทั้งสองสลับกัน จึงได้วินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขโดยเรียกผู้คัดค้านให้ตรงตามที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทและผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน การแก้ไขและการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นไปตามประเด็นที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงไม่ต้องด้วยกรณีที่จะอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในคดีประกันภัย: เหตุเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน..." สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ผู้คัดค้านจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยนั้น อนุญาโตตุลาการจึงมีสิทธิวินิจฉัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัยต่อผู้ร้องได้ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผู้คัดค้านต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2554 ข้อ 3 (3) ที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ในกรณีมีทายาทโดยธรรมหลายคน ก็ต้องแบ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมครบทุกคน ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ใช่คำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560-5563/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ: ศาลฎีกามีอำนาจจำกัดในการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ขัดต่อเงื่อนไขตามกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 45 (1) และ (2) เพื่อให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีบทนิยามหรือวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้วิจารณญาณตามพฤติการณ์ของข้อพิพาทและกาลสมัยของคุณค่าสังคม โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ บริการสาธารณะ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง มิใช่ผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นต้น ดังนั้น การที่จะนำหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาปรับใช้กับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายต้องพิจารณาลักษณะข้อพิพาทให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นรายกรณีไป
การที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคาร ท. มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างดังกล่าวโอนไปยังธนาคาร ท. แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามสัญญาอีกตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 หรือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. เท่านั้นเป็นเหตุให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่ระงับ นั้น ต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ในการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งปวง เมื่อทางปฏิบัติหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้ร้องยังคงเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านได้รับใบเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ร้องไม่ใช่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องและธนาคารดังกล่าวจะไปรับเช็คพร้อมกันเพื่อนำเข้าบัญชีของผู้ร้อง แล้วธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของผู้ร้องบางส่วนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารโดยจะคืนส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง กับผู้ร้องเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้คัดค้าน แสดงว่าหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้คัดค้านยังคงชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้ร้องมาโดยตลอดไม่เคยชำระให้แก่ธนาคาร ท. และธนาคารก็ไม่เคยทักท้วงไปยังผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง แล้วนำไปปรับใช้กับข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อกฎหมายแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. ซึ่งข้อพิพาทนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะเท่านั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย ศาลไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำอีก การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้มิใช่กรณีที่เมื่อผู้ร้องมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอวางหลักประกันการงดการบังคับคดีจนต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (2) จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544-545/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและตีความสัญญาได้ แม้จะแตกต่างจากข้อตกลงเบื้องต้น หากสอดคล้องเจตนารมณ์คู่สัญญา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อไปว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า สัญญาตกลงชัดเจนว่าไม้สักทองเนื้อเดียวปิดด้านบนไม้หนา 4 มิลลิเมตร โดยคู่สัญญาไม่เคยมีการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการตีความสัญญาตามความประสงค์ในทางสุจริตและพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เห็นว่า ในการวินิจฉัยดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคของไม้ โดยได้ดำเนินการจัดทำเป็นไม้สักสลับชั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงกันในการตรวจรับไม้โดยเชิญผู้บริหารและผู้แทนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้แทนของผู้จัดการโครงการมาตรวจสอบลายไม้ที่เป็นลายตรงและลายภูเขา ซึ่งผู้ตรวจสอบไม้ดังกล่าวได้ยอมรับไม้สักสลับชั้น อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่ตรงตามข้อตกลงในสัญญา แม้เป็นการโต้แย้งปัญหาข้อกฎหมาย แต่การจะวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว จำต้องอาศัยการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อน ซึ่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 ไม่ได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์โต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากนั้นชื่อของสัญญาดังกล่าวยังปรากฏชัดว่าเป็นสัญญาจ้างงานจัดหาและส่งมอบพื้นไม้สักสลับชั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์แท้จริงของคู่สัญญาแล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ: ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเมื่อมีข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223
การที่โจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "may" ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น
of 28