คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินมรดกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิของทายาทในการเรียกคืน
มารดาโจทก์มอบที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมรดกของบิดาโจทก์ให้จำเลยครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย การที่จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปขอออก น.ส.3 ก. ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของนั้น ฟังได้เพียงว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของบิดาโจทก์เท่านั้นจำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง การออก น.ส.3 ก. ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะที่ดินพิพาทยังเป็นมรดกของบิดาโจทก์ตกได้แก่ทายาท โจทก์ในฐานะบุตรที่บิดาโจทก์รับรองแล้วจึงเป็นทายาทมีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทจากจำเลย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5796/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องที่ขอให้ศาลบังคับคดีกับบุคคลภายนอกคดี เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทจำเลยได้ขายให้แก่ธ.และส.ไปแล้ว และตามคำขอท้ายคำฟ้อง โจทก์ได้ขอให้ศาลพิพากษายกคำวินิจฉัยและมติที่ประชุม คชก.จังหวัดนครปฐม และให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับธ.และส.โดยโจทก์มิได้ฟ้องผู้ที่เป็นคณะกรรมการ คชก. จังหวัดนครปฐมธ.และส.เป็นจำเลยด้วย คำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาไปใช้บังคับกับบุคคลภายนอกด้วย ศาลไม่สามารถพิพากษาบังคับตามคำขอท้ายคำฟ้องได้ คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประชุมผู้ถือหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังไม่ถูกเพิกถอน มีผลบังคับใช้ได้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเพิกถอน
แม้ ส. กรรมการของโจทก์เรียกประชุมใหญ่โดยจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการด้วยจะไม่ได้มีมติให้นัดเรียกประชุมใหญ่ การนัดเรียกประชุมใหญ่จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แต่หาทำให้การประชุมใหญ่และมติที่เกิดขึ้นเสียไปหรือตกเป็นโมฆะไม่ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้าเพิ่มเติมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียภาษีมีสิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด
จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่ได้ประเมินจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เงินประกันค่าอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยให้แก่โจทก์นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้ กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้การฟ้องแย้งเรียกค่าอากรขาเข้าคืนจึงมิใช่การฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 การที่จำเลยเรียกคืนเงินอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยไปตามที่โจทก์ประเมินและแจ้งให้ชำระเพิ่มนั้น มิใช่กรณีใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงก่อนนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสุดท้าย แต่เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินและแจ้งให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนจำเลย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) และการนับอายุความนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปอายุความสิทธิเรียกร้องเงินค่าอากรขาเข้าคืนของจำเลยจึงเริ่มนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532 ที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยนำคดีมาฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535ยังไม่พ้น 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ และจำเลยมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าอากรขาเข้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เรียกเก็บไปในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสุดท้าย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ทวงถามและโจทก์ผิดนัดหรือไม่ แต่จำเลยขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงให้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีชุลมุนต่อสู้และการฟ้องฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันพยายามฆ่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ.มาตรา 288, 80 ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ตาม ป.อ.มาตรา 299 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 7 จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ เพราะมิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์หรือโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 7 ข้อนี้มาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกอนุญาตต่อเติมอาคารล่าช้า ไม่ทำให้คำสั่งรื้อถอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 มิได้พิจารณาและออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์ที่ 3 แก้ไขแบบแปลนและต่อเติมอาคารจาก 4 ชั้นเป็น 11 ชั้น ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน และกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์รื้อถอนอาคารที่สร้างโดยไม่รับอนุญาตตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 11 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นฎีกาที่ไม่มีประโยชน์ต่อรูปคดีของโจทก์และฟังไม่ขึ้น เพราะแม้กฎหมายจะกำหนดระยะเวลาไว้แต่กฎหมายดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่ล่าช้าตกเป็นเสียเปล่าหรือก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะก่อสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด เหตุล่าช้าจะเป็นจริงหรือไม่ ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุถึงขนาดว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยนั้นตกเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฎีกาว่าอาคารที่ก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3569/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีอากรเพิ่มเติมที่ไม่ชอบตามกฎหมายและการรับผิดของหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้คือกระจกส่องหลัง พนักพิงหลังและแผ่นรองพื้น เป็นราคาต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรใหม่ มีรายละเอียดตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าท้ายฟ้อง สำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง มีข้อความระบุไว้ว่า ประเมินราคาสินค้าแต่ละรายการเพิ่มขึ้นเท่าใด คิดเป็นอากรขาเข้าและภาษีการค้าจำนวนเท่าใด คำฟ้องโจทก์แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม บัตรราคาเป็นเอกสารภายในที่โจทก์ทำขึ้น บุคคลภายนอกไม่อาจทราบได้ ทั้งมีข้อความส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบถึงรายละเอียดของสินค้าตามบัตรราคาดังกล่าวว่าเป็นชนิดและขนาดใด มีลักษณะอย่างไร ราคาเป็นเงินไทยเท่าใด นำเข้าโดยใคร และเมื่อใดสินค้าตามบัตรราคาเป็นสินค้าสำหรับโซนยุโรป แต่สินค้ารายพิพาทมีแหล่งกำเนิดในโซนเอเซีย ซึ่งเป็นสินค้าต่างแหล่งกำเนิดกัน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความดังกล่าวจึงไม่อาจนำราคาสินค้าตามบัตรราคามาใช้เป็นเกณฑ์ประเมินราคาสินค้ารายพิพาทได้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2จะอุทธรณ์เพียงผู้เดียว เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเนื่องจากโจทก์ประเมินภาษีอากรเพิ่มเติมสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามฟ้องไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติถอดถอนสมาชิกภาพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย: การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์หรือไม่ซื่อตรงต้องชัดเจน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยมีมติให้ถอดถอนสมาชิกภาพของโจทก์ทั้งสองอันมีมูลเหตุมาจากการที่โจทก์ทั้งสองเป็นพยานในคดีที่นางสาว ก. ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในกรณีจำเลยสั่งเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้จำเลยแพ้คดีต้องชำระเงินค่าเสียหายแก่นางสาว ก. ย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และมีคำขอบังคับโดยขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว ทั้งมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า การลงมติดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่คำฟ้องโจทก์ไม่บรรยายว่า การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยข้อบังคับอย่างไร การกระทำที่ไม่ชอบนั้นเป็นอย่างไร การกระทำอย่างไรไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 นั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบต่อไปในชั้นพิจารณาและการวินิจฉัยปัญหานี้เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยพิเคราะห์จากคำฟ้องโดยตรง โจทก์จะนำสืบหรือไม่อย่างไรจึงไม่ใช่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยถึง เมื่อคำฟ้องโจทก์มีสาระครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้วจึงไม่เคลือบคลุม การที่โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือยอมรับมติของคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยในการเลิกจ้างนางสาว ก. เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ที่ 1กับจำเลย นางสาว ก. มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย การฟ้องคดีเป็นสิทธิส่วนตัว โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะบังคับไม่ให้นางสาว ก.ฟ้องคดีได้ ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ซื่อตรงต่อจำเลยหรือทำให้จำเลยเสียหายอันเป็นเหตุให้ที่ประชุมลงมติถอดถอนสมาชิกภาพของโจทก์ที่ 1 มติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3239/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดินเดิม vs. การได้มาโดยครอบครองปรปักษ์ & การโอนสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้จะได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ และศาลก็ได้มีคำสั่งตามคำร้องนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 3ที่ 4 จะรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4ไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ที่ 4 ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 ผู้โอน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ โจทก์ผู้ที่มิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงเป็นบุคคลภายนอก มีอำนาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่ศาลล่างวินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาท เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์ คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยและคำให้การของโจทก์แก้ฟ้องแย้งของจำเลยมีเพียงว่าสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นการซื้อขายตามคำพรรณนาหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นการซื้อขายตามคำพรรณนาเป็นการซื้อขายธรรมดาแล้ววินิจฉัยต่อไปอีกว่า แต่เป็นการซื้อขายมีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อจำเลยที่ 1ยังไม่ได้ชำระราคาให้โจทก์อีก 49,000 บาท การชำระราคายังไม่เสร็จเรียบร้อย กรรมสิทธิ์ในเครื่องถ่ายเอกสารยังไม่โอนไปยังจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ และเครื่องถ่ายเอกสารที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถถ่ายเอกสารได้ถึง 3,500 แผ่นต่อผงหมึก 1 หลอด ตามคำโฆษณาของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ เป็นการวินิจฉัยคดีที่ขัดแย้งกันเองและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่าการซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459แล้วพิพากษายืน จึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาทไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 การวินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาทเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 243(1),247 และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปยังศาลชั้นต้น เพื่อให้พิพากษาใหม่ให้ตรงตามประเด็นข้อพิพาท
of 64