คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการชอบแล้ว ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม การบังคับตามคำชี้ขาดเป็นไปตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จ. ตัวแทนของ อ. ติดต่อกับ ร. ลูกจ้างของ ท. ผู้เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้อง ขอทำประกันวินาศภัย ประเภท 3 สำหรับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ - 9044 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ประเภท 3 เป็นอัตราเบี้ยตายตัว ทั้งตามอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ท. และ ธ. สองสามีภริยา เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้องมีสำนักงานที่จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานตัวแทนสามารถออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 จ. เสนอเอาประกันวินาศภัย ประเภท 3 ให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ - 9044 กรุงเทพมหานคร ร. รับเรื่องไว้ โดยสำนักงานตัวแทนของ ท. มีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง จึงเป็นการสนองตอบ สัญญาประกันวินาศภัยย่อมเกิดขึ้นทันที ส่วนเอกสารกรมธรรม์จะออกได้เมื่อใดเป็นกระบวนการภายในของผู้ร้อง ผู้เอาประกันภัยจะชำระเบี้ยประกันเมื่อใดขึ้นอยู่กับการเรียกเก็บของผู้ร้อง และตัวแทนของผู้ร้องดำเนินการโดยทุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาที่ผู้ร้องต้องเรียกร้องความรับผิดจากตัวแทนเอง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย ย่อมเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6527/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินปฏิรูปที่ดินโดยพินัยกรรมเป็นโมฆะตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่ ส. ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของ ส. ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 ให้แก่ ถ. มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5655-5656/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: สิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง ผู้รับโอนสิทธิ และการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินย้อนหลัง
แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้นก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานที่บัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติวรรคหก ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่าผู้ร้องต้องร้องขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินไปในคราวเดียวกัน และผู้ร้องก็มิได้มีคำร้องขอดังกล่าวเพิ่มเติมมาในภายหลังที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้ ศาลจึงไม่อาจสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเงินที่ ส. กับพวกชิงทรัพย์ไปเป็นของผู้เสียหายที่ได้มาโดยสุจริต ผู้เสียหายจึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีสิทธิในฐานะเจ้าของเงินที่แท้จริง และยังถือได้ว่าเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนที่จะติดตามเอาเงินคืนจาก ส. กับพวกตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย เมื่อ ส. นำเงินของผู้เสียหายไปซื้อหุ้นและวางเป็นหลักประกันในบัญชี (ซื้อขาย) หลักทรัพย์ และได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อซึ่งเป็นทรัพย์สินและดอกผลของผู้เสียหายที่ ส. ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย ทรัพย์สินนั้นจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดิน โดยผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับช่วงสิทธิรับเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนี้แทน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4831/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น: กรรมการคนเดียวมีอำนาจได้ตามกฎหมาย
การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการประชุมใหญ่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1171 บัญญัติไว้เพียงว่าให้มีการประชุมดังกล่าวครั้งแรกภายใน 6 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทและครั้งต่อ ๆ ไป อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 12 เดือน โดยมิได้มีบทบังคับให้ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาและลงมติกันเสียก่อนว่าจะให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นหรือไม่ ดังนั้นการที่ อ. กรรมการบริษัทจำเลยออกหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยครั้งที่ 1/2558 จึงไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กระบวนพิจารณาผิดระเบียบ การเพิกถอน และการอุทธรณ์ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้อง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในวันนัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้โจทก์นำสืบพยานเพิ่มเติม ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากโจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงหรือผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษกรณีความผิดพยายามฆ่าสำหรับผู้เยาว์: ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 140, 289, 358 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยกระทำในคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนกับร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเป็นกระทงแรก จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด เป็นการกระทำกรรมเดียวให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพียงบทเดียวเป็นกระทงที่สอง และจำเลยกับพวกร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกระทงที่สาม ซึ่งศาลชั้นต้นระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 358 มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 กับมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 60 และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ตามลำดับความผิดข้างต้น เมื่อจำเลยอายุ 17 ปีเศษ กรณีไม่อาจระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตจำเลยได้ ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ต้องเปลี่ยนระวางโทษเป็นห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อเป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษกระทงละ 33 ปี 4 เดือน ซึ่งจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยตามมาตรา 75 กึ่งหนึ่ง และเมื่อลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง แล้วคงลงโทษได้กระทงละ 16 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วจำคุก 25 ปี จึงเป็นการระวางโทษตามความผิดสำเร็จโดยไม่ได้ระวางโทษฐานพยายาม กรณีถือได้ว่าเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษเสียใหม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำเลยไว้ได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทจำเลยค้ำประกัน - การคิดดอกเบี้ย - ศาลแก้ไขอัตราดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันเอง โจทก์ในฐานะผู้รับโอนหนี้จากธนาคาร ด. มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทที่ทำกับธนาคาร ด. ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาสินเชื่อกับโจทก์ ปรากฏว่าเนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นการที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาร่วมใช้วงเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 1 เคยได้รับจากธนาคาร ด. พร้อมกันนั้นได้มีการขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อและเปลี่ยนแปลงประเภทวงเงินสินเชื่อ โดยไม่ได้ตกลงให้หนี้เดิมระงับและบังคับตามหนี้ใหม่ สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 ไม่ทำให้หนี้ของจำเลยที่ 5 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไป จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
ตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทระบุว่า "สัญญาค้ำประกันฉบับนี้ให้ใช้บังคับโดยเอกเทศ ไม่ลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาระผูกพันของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเองที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนหรือหลังวันทำสัญญานี้ และให้มีผลผูกพันตลอดถึงกองมรดก ทายาทผู้รับมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกัน ก็ให้ใช้สัญญาฉบับนี้บังคับได้ด้วย" เมื่อโจทก์ได้รับโอนหนี้มาจากธนาคาร ด. โดยชอบ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันจึงต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาเพิ่มวงเงินสินเชื่อเดิมกับโจทก์มิใช่การทำสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเดิม จำเลยที่ 6 และที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ทรัสต์รีซีทที่เกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาสินเชื่อด้วย
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 38 และ 46 ประกอบมาตรา 4 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น รวมทั้งข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์นั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของธนาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด คดีนี้ ธนาคารโจทก์มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วง ๆ ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดต่ำตามประกาศธนาคารโจทก์นับถัดจากวันฟ้องต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อัตราดังกล่าวก็จะเป็นอัตราที่สูงเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามกฎหมาย จึงเห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยแก่โจทก์ให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์พึงเรียกได้ และเนื่องจากจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เห็นสมควรแก้ไขการคิดอัตราดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย แม้จำเลยดังกล่าวจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9145/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ภาษีและคำนวณเงินเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยคำนวณเงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระและแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบ เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งว่าวิธีการหักกลบลบหนี้ของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงมีประเด็นว่าจำเลยหักกลบลบหนี้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ และการคิดเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ แม้การหักกลบลบหนี้เกิดขึ้นก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีก่อน แต่เมื่อคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งในวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยวิธีการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน มีประเด็นต่างกับคดีเดิมและการวินิจฉัยของศาลก็อาศัยเหตุที่แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม ในขณะเดียวกันจำเลยมีคำสั่งให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามการประเมินดังกล่าวบางส่วน โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินและยื่นฟ้องคดี คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ ซึ่งโจทก์ชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวไปก่อน และยื่นหนังสือโต้แย้งว่าการคำนวณเงินเพิ่มไม่ถูกต้องในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า เงินเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บไว้ถูกต้องตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนหรือแก้ไขการคำนวณภาษีและเงินเพิ่มตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง เพิกถอนคำสั่งตามหนังสือแจ้งเตือนให้นำเงินภาษีอากรไปชำระและคำสั่ง ในส่วนการคิดเงินภาษีและเงินเพิ่มและให้คืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แสดงให้เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับชำระค่าภาษีอากรค้าง โดยโต้แย้งกันในเรื่องวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับมูลหนี้ภาษีอากรโดยตรง ประกอบกับเมื่อโจทก์ยื่นหนังสือโต้แย้งการคำนวณเงินเพิ่ม จำเลยก็รับวินิจฉัยให้โดยไม่ได้โต้แย้งถึงเรื่องรูปแบบของหนังสือ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องหนี้ภาษีอากรค้างชำระ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 27 ตรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และขอคืนเงินภาษีจากจำเลยได้
เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจนำเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าภาษีซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระและเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง จำเลยจึงต้องนำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระค่าภาษีอากรให้หมดก่อนแล้วจึงไปหักในส่วนเงินเพิ่มได้
ป.รัษฎากร มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วนการหักกลบลบหนี้หรือการชำระหนี้ภาษีซึ่งอาจทำให้จำนวนเงินภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีต้องเสียหรือนำส่งลดลงนั้น การคำนวณเงินเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนภาษีอากรที่ลดลง เงินเพิ่มที่คำนวณได้จึงต้องไม่เกินต้นเงินภาษีอากรตามการประเมิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7055/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การควบบริษัทจำกัดและการสิทธิประโยชน์เงินทดแทนตามกฎหมาย การนำระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบเดิมมาคำนวณต่อเนื่อง
การตั้งบริษัทจำกัดเกิดขึ้นโดยอาศัย ป.พ.พ. บรรพ 3 หมวด 4 ผลการควบบริษัทจำกัดเข้ากันจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรา 1243 บัญญัติว่า บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้เป็นนายจ้างและลูกจ้าง จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับด้วย จะใช้บังคับเพียง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2537 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดและการควบบริษัทจำกัดเข้ากันหาได้ไม่ และการที่ไม่นำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่โจทก์โดยไม่เป็นธรรม และเนื่องจากโจทก์เกิดจากการควบบริษัทจำกัดเข้ากันโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงประเภทกิจการและจำเลยทั้งสองยังคงกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ตามรหัสเดิมก่อนการควบเข้ากัน ทั้งไม่ปรากฏว่าการควบบริษัทและการเพิ่มจำนวนลูกจ้างกรณีนี้ทำให้มีความเสี่ยงภัยสูงขึ้น หรือโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย โจทก์จึงสามารถนำระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของบริษัทเดิมก่อนการควบรวมบริษัทมาคำนวณระยะเวลาต่อเนื่องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำในความผิดอาญา โดยศาลล่างละเลยการพิจารณาเพิ่มโทษตามกฎหมาย
ตามคำฟ้อง โจทก์ขอให้เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย อันเป็นการขอให้เพิ่มโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 โดยมิได้ระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 910/2557 ของศาลชั้นต้น จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษ ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวมาในคำฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้จะเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามได้ตาม ป.อ. มาตรา 92 เพราะบทบัญญัติในเรื่องเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองไม่เพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ
of 238