พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,377 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้เช็คหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้คดีอาญา (เช็ค) ระงับตามกฎหมาย
หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยทั้งสองนำเงินเต็มตามจำนวนที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นนัดสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่าย ในวันนัดพร้อมทนายโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์จะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลไป ประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง ไม่ประสงค์จะยอมความกันในคดีนี้ โดยทนายโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านแสดงเหตุผลให้ชัดแจ้งว่า การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ไม่ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันเพราะเหตุใด คงอ้างเพียงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่อาจยกขึ้นอ้างได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ เช่นนี้การวางเงินของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์อันทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1232/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
มติจัดเก็บค่าสาธารณูปโภครายปีขัด พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน และกฎหมายความสงบเรียบร้อย โมฆะ
พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้อำนาจโจทก์ในฐานะนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่โจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาจากสมาชิก การจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เมื่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการการสาธารณูปโภค ให้จัดเก็บเป็นรายเดือน..." โดยวรรคท้ายบัญญัติว่า "หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด" และตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชี พ.ศ. 2545 ข้อ 6 ถึงข้อ 8 ล้วนแต่กำหนดให้การกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย การกำหนดวันเก็บค่าใช้จ่าย การกำหนดค่าปรับในกรณีที่ค้างชำระ การออกใบเสร็จรับเงิน และการจัดทำบัญชี จัดทำเป็นรายเดือน โจทก์จึงต้องจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดเก็บการสาธารณูปโภคเป็นรายเดือนตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 และเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่โจทก์มีมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกครั้งที่ 1/2556 ให้จัดเก็บเงินค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางเป็นรายปีครั้งเดียวแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 บัญญัติไว้ มติของโจทก์ดังกล่าวจึงแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 มติของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดวันสิ้นสุดระยะเวลาฎีกาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผลกระทบต่อการออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด
คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และอ่านให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ต่อมาจำเลยที่ 1 และโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า หมายจำคุกคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 2 สมควรออกวันใด เห็นว่า ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คำว่า "ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง" หมายถึงระยะเวลาสิ้นสุดที่กำหนดโดยกฎหมาย คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และมาตรา 216 สำหรับกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกา และคู่ความฝ่ายนั้นมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ ในการออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมาย เพื่อมิให้จำเลยผู้ซึ่งต้องถูกบังคับโทษทางอาญาต้องเสียสิทธิที่จะพึงได้รับตามกฎหมายราชทัณฑ์ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและมิได้ใช้สิทธิยื่นฎีกาภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยาย การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยระบุว่าให้คดีถึงที่สุด วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ซึ่งนำระยะเวลาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายฎีการวมเข้าด้วยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่และ 4 ถึงที่ 6 ฟัง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 2 ย่อมสามารถใช้สิทธิยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 แต่วันดังกล่าวเป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงสิ้นสุดวันที่ 2 มิถุนายน 2558 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 ศาลชั้นต้นย่อมต้องออกหมายจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4776/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สถานีบริการก๊าซไม่ละเมิดสิทธิหากปฏิบัติตามกฎหมายและผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการ
ขณะที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ให้คำรับรองแก่โจทก์ทั้งหกว่าจะนำที่ดินพิพาทไปก่อสร้างอาคารพาณิชย์ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงเป็นการซื้อขายโดยสุจริต ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าโดยจำเลยที่ 3 นำที่ดินที่เช่าไปขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สถูกต้องตามกฎหมายโดยก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ตั้งสถานีบริการแก๊สได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานด้วยกัน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่าง ๆ การที่โจทก์ทั้งหกอ้างว่าการก่อสร้างสถานีบริการแก๊สอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และทรัพย์สินรวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ของโจทก์ทั้งหกจึงเกิดจากการคาดคะเนของโจทก์ทั้งหกเอง ซึ่งกรณีที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับความเดือดร้อนถึงกับต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรการที่จำเลยที่ 3 ใช้สิทธิใช้สอยทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 2 โดยมีการขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยปกติ โดยมีเหตุสมควรถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งหก หรือเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหกตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และมาตรา 1337 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4775/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดเก็บค่าบริการสาธารณูปโภคในหมู่บ้านจัดสรร การกำหนดอัตราตามจำนวนชั้นของบ้านไม่ขัดกฎหมาย
สมาชิกของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระค่าบริการสาธารณูปโภคตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกมีมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากให้จัดเก็บ โดยการจัดเก็บเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง วรรคห้า และระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชี พ.ศ.2545 หมวด 1 ข้อ 5 เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ และระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางฯ ดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าการจัดเก็บค่าบริการสาธารณูปโภคอาจจะจัดเก็บแยกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงจัดสรรหรือขนาดพื้นที่ มิได้กำหนดเป็นระเบียบไว้ว่า ที่ดินแปลงย่อยที่ใช้ประโยชน์ประเภทเดียวกันดังกรณีคดีนี้ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงจัดสรรภายในหมู่บ้านทุกแปลงเพื่อการอยู่อาศัย ให้กำหนดค่าบริการสาธารณูปโภคเป็นรายเดือนตามขนาดพื้นที่ที่หมายถึงจำนวนพื้นที่ของที่ดินเป็นตารางวาคำนวณเป็นตารางวาตามความกว้างและความยาวของที่ดินที่สร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย จะนำจำนวนชั้นของบ้านหรือขนาดพื้นที่ใช้สอยเป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราที่แตกต่างกันไม่ได้ นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางดังกล่าวที่ใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า "...อาจกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราที่แตกต่างกันที่จะจัดเก็บจากที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินทุกแปลงในอัตราตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือขนาดพื้นที่..." แสดงว่าบทบัญญัติและระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางหรือคำแนะนำให้จำเลยที่ 1 ใช้ในการกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณูปโภคเท่านั้น มิใช่บทบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม อัตราค่าบริการสาธารณูปโภคที่กำหนดตามความสูงหรือจำนวนชั้นของบ้านจึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง วรรคห้า และระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4592/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิสูจน์เอกสารปลอมในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต้องมีพยานหลักฐานที่ไม่ห้ามตามกฎหมายและปราศจากข้อพิรุธ
แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดที่ฟ้องก็ฟังได้แล้วว่าคดีมีมูล ไม่จำต้องรับฟังพยานหลักฐานจนปราศจากข้อสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเหมือนดังเช่นในชั้นพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ต้องมาจากพยานหลักฐานที่ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายและต้องไม่มีข้อพิรุธอันเป็นที่ประจักษ์ด้วย หนังสือรับสภาพหนี้ที่อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ทั้งสามไม่ได้นำมาแสดงต่อศาล หรือขอให้ศาลหมายเรียกจากผู้ครอบครองเอกสารมาอ้างเป็นพยาน ทำให้ไม่อาจตรวจสอบลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ได้ และก็ไม่ได้นำโจทก์ที่ 3 และ น. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่ของตน คงมีโจทก์ที่ 2 มาเบิกความปากเดียว อันเป็นพยานบอกเล่า ทั้งที่โจทก์ที่ 3 และ น. มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและอยู่ในวิสัยที่จะติดตามมาเบิกความได้ จึงมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็น และไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะให้รับฟังได้ จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 คดีโจทก์ทั้งสามไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตต้องเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น สัญญายังคงมีผลผูกพัน
การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยผู้รับประกันภัยให้การต่อสู้ว่า สัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้วภายใน 1 เดือน นับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทราบเหตุอันบอกล้างโดยทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 แต่ตามพยานหลักฐานจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมอบหมายให้บุคดลใดเป็นผู้ตรวจสอบหรือจำเลยทำการตรวจสอบอย่างไร แต่ปรากฏจากสำเนาบัตรตรวจโรคโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ว่า โรงพยาบาลวารินชำราบ ส่งตัว ป. ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เกี่ยวกับโรคติดสุรา โดยระบุที่มุมด้านข้างของเอกสารว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และมี ว. เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความ ล. ว่าประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของ ป. ไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในช่วงเวลาดังกล่าวและโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้ออกเอกสารตามสำเนาบัตรตรวจโรคให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 แล้ว กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียกรรม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ตัวแทนของจำเลยได้รับสำเนาประวัติการตรวจรักษาของ ป. ซึ่งเป็นการทราบมูลอันจำเลยจะบอกล้างโมฆียกรรมได้ การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2559 บอกล้างสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับไปยังโจทก์ และโจทก์ได้รับหนังสือบอกล้างดังกล่าววันที่ 26 มิถุนายน 2559 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียกรรมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนที่ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถือเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งโดยไม่ได้สั่งคืนค่าขึ้นศาล ซึ่งไม่ถูกต้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง 10,000 บาท มาวางศาลโดยจำเลยนำเงินค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งซึ่งจำเลยยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมใช้แทน เมื่อเงินค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งซึ่งจำเลยยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืน 30,100 บาท รวมกับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ที่จำเลยนำมาวางศาล 10,000 บาท ดังกล่าว เกินกว่าค่าธรรมเนียมใช้แทนที่จำเลยต้องวางศาล จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คดีจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3588/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจการดำเนินคดีของบุคคลที่ไม่ได้เป็นทนายความ การแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ และการปฏิบัติหน้าที่ของศาลตามกฎหมาย
มูลเหตุที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกอุทธรณ์ของจำเลย เนื่องจาก ส. ขณะทำคำแก้อุทธรณ์และอุทธรณ์ไม่ปรากฏว่าเป็นทนายความ จึงต้องห้ามมิให้เป็นผู้เรียงคำแก้อุทธรณ์และอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคำคู่ความและคำฟ้องอุทธรณ์ตามลำดับที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในส่วนที่เป็นรูปแบบซึ่งสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ในส่วนคำแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้จำเลยแก้ไขคำแก้อุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ในส่วนอุทธรณ์เมื่อจำเลยอุทธรณ์โดย ส. ผู้รับมอบอำนาจจำเลยลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง และผู้พิมพ์ เช่นเดียวกันกับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับไปแล้ว คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 ถือเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ให้อำนาจแก่ศาลที่จะสั่งให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ แต่ศาลชั้นต้นกลับสั่งรับฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะเพิกถอนการรับฟ้องอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่ หรือศาลอุทธรณ์ภาค 9 ดำเนินการเสียเองให้จำเลยแก้ไขให้ถูกต้องก่อนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยเสียทีเดียว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นฎีกาว่า จำเลยโดย ส. ผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ส. ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้แล้ว อันไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดเวลาพักของนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การไม่จัดเวลาพักที่เหมาะสมถือเป็นการผิดสัญญา
จำเลยประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า งานของจำเลยเป็นงานอาชีพด้านบริการ ดังนั้น โจทก์กับจำเลยจึงตกลงกำหนดเวลาทำงานปกติต่อวันกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วเวลาทำงานปกติต่อสัปดาห์ต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 จำเลยจัดให้โจทก์มีเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลาถึง 8.30 นาฬิกา ถึง 18.30 นาฬิกา หรือเวลา 9 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา โดยให้พักเวลา 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมงติดต่อกัน... นั้น เป็นบทบัญญัติที่นอกจากจะกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงานในช่วงเวลาทำงานปกติระหว่างวันทำงานแล้ว การจัดเวลาพักจะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายให้สามารถทำงานต่อไปได้ อันจะส่งผลดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้างอันเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้จัดเวลาพักระหว่างการทำงานในเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกา ภายหลังจากเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา หรือ 9 นาฬิกา แล้ว ซึ่งถือว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ตาม แต่ในการทำงานภายหลังจากเวลา 13 นาฬิกา จนถึงเวลา 18.30 นาฬิกา หรือ 19 นาฬิกา แล้วแต่กรณี จำเลยมิได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักหลังจากโจทก์ทำงานในช่วงบ่ายมาแล้วเกินห้าชั่วโมงติดต่อกัน จึงเป็นการจัดเวลาพักที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ฟ้องขอค่าล่วงเวลาเนื่องจากจำเลยไม่จัดเวลาพักระหว่างการทำงานในช่วงบ่ายซึ่งปรากฏว่ายังเป็นเวลาทำงานปกติของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าวตามฟ้อง แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการไม่จัดเวลาพักระหว่างการทำงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาว่าค่าเสียหายดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเดียวกับค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลา และให้คำนึงถึงการที่โจทก์ได้รับการจัดสรรเวลาพักหนึ่งชั่วโมงแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย