คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คดีล้มละลาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 246 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9402/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่ในคดีล้มละลาย: สิทธิของโจทก์และสถานะของเจ้าหนี้
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แม้ต่อมาก่อนวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์ขอถอนคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตแล้ว โจทก์ยังคงเป็นคู่ความในคดีและมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ได้ต่อไป ทั้งการพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์และจำเลยที่ 4 ส่วนเจ้าหนี้มิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในชั้นนี้ เมื่อวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์ไม่คัดค้านการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลล้มละลายกลางจึงชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 พิจารณาคดีใหม่ได้โดยไม่ต้องไต่สวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8325/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน, คดีล้มละลาย, การหักกลบลบหนี้, สิทธิเจ้าหนี้, เงินฝากประกัน
การที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ระบุจำนวนเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอน สามารถคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องได้ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนการที่โจทก์อาจได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของ อ. ในภายหลังนั้น หาเป็นเหตุให้หนี้ตามฟ้องกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่
ความปรากฏเพียงว่าในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้มอบบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำไว้ให้แก่โจทก์เป็นประกันเท่านั้น แต่มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักชำระหนี้ไว้อย่างไร สิทธิเรียกร้องในเงินฝากจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้โจทก์มิได้นำเงินฝากในบัญชีที่วางประกันไว้มาหักจากยอดหนี้ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง กรณีก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมียอดหนี้ค้างชำระอยู่ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงขอให้โจทก์นำเงินฝากมาหักกลบลบหนี้ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน โจทก์จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้ร่วมจำกัดความรับผิด: สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ในคดีล้มละลาย
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้บรรษัท ง. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ได้จำนองที่ดินในวงเงิน 4,000,000 บาท เพื่อประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน เช่นนี้ความรับผิดของโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มีต่อบรรษัท ง. นั้นอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมที่จะต้องชำระหนี้ตามฐานะของตน และวงเงินที่มีการกำหนดความรับผิดไว้ โดยจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองซึ่งกำหนดวงเงินจำกัดความรับผิดไว้ การที่โจทก์ได้ชำระหนี้ตามภาระค้ำประกันให้แก่บรรษัท ง. ไปนั้น โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัท ง. ที่จะมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นโดยเต็มจำนวน แต่ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินประกันหนี้ในวงเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และบรรษัท ง. ได้ฟ้องบังคับจำนองจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้บังคับจำนองแล้ว และหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบรรษัท ง. นั้น มีจำนวนมากกว่าวงเงินที่จำนองอยู่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้จำกัดความรับผิดของตนต่อบรรษัท ง. ไว้ และมีภาระต้องรับผิดต่อบรรษัท ง. ตามวงเงินที่จำนอง แต่โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าการชำระหนี้เงินของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดต่อบรรษัท ง. หรือรับผิดน้อยกว่าวงเงินที่แต่ละคนเข้าผูกพันแล้ว โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในความรับผิดระหว่างลูกหนี้ร่วมกันอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบรรษัท ง. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 230 วรรคสอง หาได้ไม่ โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ยังไม่อาจกำหนดได้แน่นอน โจทก์จึงยังไม่อาจนำหนี้ในส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย พิจารณา ณ วันยื่นฟ้อง แม้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดภายหลัง
การที่จะพิจารณาว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายต่อศาล เมื่อปรากฏว่าก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีแพ่งโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดได้แล้วเช่นนี้ เมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเนื่องจากการฟ้องบังคับจำนองแล้ว จำนองย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนั้น ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่จำต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10 แต่อย่างใด แม้ต่อมาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว ก็หาทำให้โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5525/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนในคดีล้มละลาย: การรอคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
โจทก์และจำเลยพิพาทกันตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อ (THANI) ซึ่งเดิมเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัท ด. กับจำเลยและต่อมาได้โอนสิทธิให้โจทก์ มีข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ 9 ว่า หากมีข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นจากการตีความหรือเกี่ยวกับหน้าที่หรือความรับผิดชอบตามสัญญานี้ จะพยายามทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาระหว่างกันเองก่อน หากข้อโต้แย้งนั้นยังไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดจึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงกันใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และโจทก์ได้นำข้อพิพาทเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดแล้ว ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทอย่างไรก็จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยไปตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิใช่ผูกพันกันตามสัญญาที่พิพาทกันอยู่ ดังนั้นตราบใดที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีคำชี้ขาดย่อมไม่อาจถือได้ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ในระหว่างนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่ในคดีล้มละลาย: การขาดนัดเนื่องจากที่อยู่ไม่ถูกต้องและการให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้
แม้คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำร้องของลูกหนี้ที่ 2 ที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 วรรคสอง แต่เมื่อพิจารณาคำร้องของลูกหนี้ที่ 2 ดังกล่าวปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้บรรยายกล่าวอ้างในคำร้องแล้วว่า ลูกหนี้ที่ 2 ไม่เคยได้รับหมายเรียกสำเนาคำร้องในคดีนี้ เนื่องจากลูกหนี้ที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่อาคารเลขที่ 120/22 มิใช่อาคารเลขที่ 120 ตามที่ผู้ร้องนำส่งหมายเรียกสำเนาคำร้อง และลูกหนี้ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้มาโดยตลอด กรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 58 วรรคท้าย จึงเป็นคำร้องที่กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่ลูกหนี้ที่ 2 ขาดนัดพิจารณา และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลล้มละลายกลางแล้ว ลูกหนี้ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ที่ศาลล้มละลายกลางสั่งยกคำร้องของลูกหนี้ที่ 2 โดยมิได้ทำการไต่สวนก่อนจึงเป็นการไม่ถูกต้อง กรณีมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 26 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่างประเทศในคดีล้มละลาย: สิทธิในการรับชำระหนี้หลังการโอน
มาตรา 178 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้..." ย่อมหมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ต่างประเทศผู้ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้นที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 178 โดยต้องพิสูจน์ว่า เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศของเจ้าหนี้ต่างประเทศผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ในทำนองเดียวกัน และเจ้าหนี้ต่างประเทศดังกล่าวได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นนอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนเท่าใดหรือไม่ และถ้ามี ตนยอมส่งทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้ดังกล่าวมารวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในราชอาณาจักร
บริษัท อ. เจ้าหนี้เดิมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 178 ครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อเจ้าหนี้เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมแล้ว ผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม โดยผู้ร้องไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 178

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการแก้ไขกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย: ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจก้าวล่วงการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในการพิจารณาคดีล้มละลาย แต่คำขอท้ายฟ้องมีใจความว่า ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเพิ่มเติม รายงานกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง และมีคำสั่งให้ศาลล้มละลายกลางนัดคู่ความมาพร้อมกันแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างเที่ยงธรรม หากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแทนคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลชั้นต้นก้าวล่วงเข้าไปแก้ไขกระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางซึ่งเป็นศาลที่อยู่ในลำดับชั้นเดียวกันได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับคดีโจทก์ไว้พิจารณาโดยยกฟ้องโจทก์เสีย เพราะเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แทนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย
หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาตามยอมของศาลที่ถึงสุดแล้ว จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี และเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ประกอบมาตรา 193/12 เมื่อลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่งวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอมได้นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2537 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 จึงพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ จึงขาดอายุความแล้ว
การที่ลูกหนี้ที่ 1 เคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาลดยอดหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ที่ 1 สามารถไถ่ถอนทรัพย์จำนอง เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยมีการยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว มิใช่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ทั้งมิใช่เป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และ (5) ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันในทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองไว้ในคดีแพ่ง และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) แล้ว แม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความเจ้าหนี้ก็ยังคงมีทรัพย์สิทธิบังคับชำระหนี้จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินจำนอง แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพญ์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10687/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีล้มละลาย: การมอบอำนาจให้สถาบันการเงินดำเนินคดีแทนเจ้าหนี้ แม้ไม่มีข้อความระบุในวัตถุประสงค์
แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์และธนาคาร ท. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามหนังสือรับรองจะมิได้มีข้อความว่า โจทก์สามารถมอบอำนาจให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นฟ้องคดีหรือดำเนินคดีแทน และธนาคาร ท. สามารถเป็นผู้รับมอบอำนาจจากสถาบันการเงินอื่นหรือนิติบุคคลอื่นในการฟ้องคดีหรือดำเนินคดีแทนสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นได้ก็ตาม แต่ทั้งโจทก์และธนาคาร ท. ต่างก็มีวัตถุประสงค์ฝากเงิน ให้กู้ยืมเงิน ประกอบกิจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้า ตัวแทนเรียกเก็บหนี้ รับซื้อ รับโอนลูกหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยทั้งห้ากับพวกเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งห้ากับพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีล้มละลายนี้ได้ และย่อมมีอำนาจมอบอำนาจให้ธนาคาร ท. ดำเนินคดีนี้และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย ธนาคาร ท. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
of 25