คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฎีกา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,024 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7752/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี โดยการโต้เถียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจค้น
ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คู่ความต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาว่า การตรวจค้นบ้านจำเลยไม่มีหมายค้นเพราะไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้าเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปเคาะประตูบ้านจำเลยแล้วภริยาจำเลยออกไปเปิดประตู ในขณะนั้นจำเลยยังนอนอยู่ยังไม่ตื่น ไม่มีการล่อซื้อแต่อย่างใด เจ้าพนักงานตำรวจเข้าค้นโดยพลการกระทำผิดกฎหมายในการตรวจค้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังมา เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7688/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นอำนาจฟ้องที่เสนอหลังพ้นกำหนด และยืนตามศาลชั้นต้นเรื่องฟ้องไม่เคลือบคลุมและสัญญาเช่า
การตั้งประเด็นในฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้น ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา จะทำเป็นคำแถลงการณ์หาได้ไม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ตาม แต่จำเลยยื่นหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลยเป็นเพียงคำแถลงการณ์เท่านั้น จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นในชั้นฎีกา
แม้โจทก์จะตั้ง จ. เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับจำเลยโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 789 ก็ตาม แต่จำเลยยอมรับว่าจำเลยเช่าอาคารพิพาทตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้ว อีกทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย อันเป็นเรื่องที่จำเลยและบริวารอยู่ในอาคารที่เช่าโดยละเมิดโจทก์จึงมีอำนาจขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาทและเรียกค่าเสียหายโดยมิต้องอาศัยสัญญาเช่าแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7508/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาที่ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษจำคุกเป็นปรับและรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 20,000 บาทอีกสถานหนึ่ง แล้วรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินคนละ 2 ปีและปรับไม่เกินคนละ 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7454/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดซึ่งหน้าและการตรวจค้น: ศาลฎีกาไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับจำเลยได้แอบซุ่มดูอยู่ที่หน้าบ้านจำเลยห่างประมาณ 30 เมตร ชุดหนึ่ง และ 20 เมตรอีกชุดหนึ่ง เห็นสายลับมอบธนบัตรให้จำเลย แล้วจำเลยไปนำสิ่งของที่ซุกซ่อนมามอบให้สายลับซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีน 4 เม็ด การที่เจ้าพนักงานตำรวจเห็นการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการเห็นจำเลยกำลังกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดซึ่งหน้า
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีอำนาจตรวจค้นบ้านจำเลยเพราะมิได้เป็นความผิดซึ่งหน้า และการตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ชอบเพราะเข้าตรวจค้นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ยังเป็นเวลากลางคืน ทั้ง ๆ ที่บันทึกการตรวจค้นจับกุมระบุเวลาตรวจค้น 6.20 นาฬิกา และไม่มีพยานหลักฐานใดของโจทก์ระบุว่าได้ทำการตรวจค้นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7334/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดยื่นคำให้การและการยกข้อที่ไม่เคยต่อสู้คดีในชั้นฎีกา
แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยต้องคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ แต่ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้รับมอบโฉนดที่ดินไปจากโจทก์นั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7161-7162/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยไม่วางค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด แม้จะขอให้ศาลพิจารณาพยานเพิ่มเติม
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ขอให้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำพยานเข้าสืบต่อไป เท่ากับขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่จำเลยที่ 1 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนของตนมาวางศาลพร้อมกับฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวาง จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6528-6531/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิอุทธรณ์-ฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท และประเด็นใหม่ในชั้นอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 บุกรุกเข้าไปในที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์และปลูกบ้านอยู่อาศัย ขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดิน ที่ปลูกบ้านของจำเลยแต่ละคนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคนโดยการครอบครองปรปักษ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนบุกรุกเข้าไปสร้างบ้านแยกต่างหากจากกันตามที่จำเลยแต่ละคนโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสี่ขนย้ายบ้านเรือน ทรัพย์สิน และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนเดือนละ 300 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายดังกล่าวเสร็จสิ้น จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้ยกฟ้อง เมื่อทุนทรัพย์ตามฎีกาของจำเลยแต่ละคนแต่ละสำนวนที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีจำนวนไม่เกินจำนวน 200,000 บาท แม้จำเลยทั้งสี่จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ก็ห้ามมิให้จำเลยแต่ละคนฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มีจำนวนเพียง 44,000 บาท ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท ห้ามมิให้จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่3 ในข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อเท็จจริงโต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
จำเลยทั้งสี่ฎีกาในข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสี่ให้การโดยชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต ไม่จำต้องบรรยายรายละเอียดในคำให้การเพราะจำเลยทั้งสี่สามารถสืบเหตุแห่งการได้มาโดยไม่สุจริตของโจทก์ในชั้นพิจารณาได้ คำให้การของจำเลยทั้งสี่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินในส่วนพิพาทมายังไม่ถึง 10 ปี จำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และจำเลยทั้งสี่ไม่อาจฎีกาโต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ได้ แม้จะวินิจฉัยฎีกาในข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ให้ ก็ไม่มีผลทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่พิพาทและศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงในข้อดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา แม้จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยไม่สุจริต ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
นอกจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณะแล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังระบุไว้ในแผนผังท้ายคำให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เท่ากับจำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ เพราะถ้าที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่สาธารณะจำเลยทั้งสี่จะอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่ได้ เพราะจำเลย ทั้งสี่ไม่อาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 ประกอบกับทนายจำเลยทั้งสี่แถลงรับว่า บ้านของจำเลยทั้งสี่อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์จริง และเจ้าหน้าที่ได้ทำแผนที่วิวาทและคำนวณเนื้อที่และตำแหน่งที่ตั้งบ้านถูกต้องตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำชี้จริง เช่นนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณะหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่ยกประเด็นนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คดีทั้งสี่สำนวนมีทุนทรัพย์พิพาทกันในแต่ละสำนวนแยกต่างหากจากกันได้ ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดแต่ละสำนวนเกินกว่าอัตราขั้นสูง ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้าย ป.วิ.พ. จึงไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็น สมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6527/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทำให้คำสั่งนั้นถึงที่สุด และฎีกาไม่มีประโยชน์
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ หากจำเลยประสงค์จะให้มีการรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าทุนทรัพย์พิพาทควรมีราคาเกินกว่าห้าหมื่นบาท เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ แต่จำเลยก็มิได้กระทำกลับยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและให้สอบถามคู่ความทุกฝ่ายเพื่อกำหนดจำนวนทุนทรัพย์แล้วมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยใหม่ จึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 234 ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและจำเลยฎีกา ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยอย่างไรก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้วได้ ฎีกาของจำเลยจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 651/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเพราะเกินกำหนด & ศาลชั้นต้นรับฎีกาไม่ชอบ พฤติการณ์ใช้เอกสารปลอมเป็นกรรมเดียว
คดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นนายหนึ่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในวันสุดท้ายที่อยู่ในระยะเวลาซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาได้ แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกนายหนึ่งและองค์คณะในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้แล้ว คำร้องของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อโต้เถียงข้อเท็จจริงที่รับสารภาพแล้ว และยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายซึ่งกัน โดยจำเลยที่ 1 ใช้ไม้กระบองเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 จะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนากระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ให้
of 303