คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ถึงแก่ความตาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 233 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการกระทำอนาจารและการทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง
การกระทำอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 280 นั้น จะต้องได้ความว่าผลของความตายของผู้ถูกกระทำอนาจารเกิดจากการกระทำอนาจาร แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายถูกจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์แซงเบียดจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะแทรกซ้อน ความตายของผู้ตายย่อมมิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำอนาจารผู้ตาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3978/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ศาลปรับบทลงโทษจากฆ่าเป็นทำร้ายจนถึงแก่ความตาย
การที่ผู้ตายที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทง น. แล้ว น. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยมิได้คบคิดนัดหมายกันมาก่อน ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานฆ่าผู้อื่นโดยพลาด แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายที่ 1 มาตั้งแต่ต้นและร่วมชุลมุนชกต่อยผู้ตายที่ 1 จึงต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกจำเลยและ น. ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้ตายที่ 1 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายที่ 2 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 60, 83 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5160/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และการคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสม
จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 5 ละเมิด ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในหมวด 2 ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในกรณีทำให้ถึงตายนั้น ไม่ได้กำหนดให้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
ส่วนค่าขาดไร้อุปการะ นั้น เมื่อผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 หรือไม่
ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ คือ ผู้มีอำนาจจัดการศพตามที่บัญญัติไว้ในตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาผู้ตาย โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะมอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ แต่จำเลยทั้งสองระบุมาในคำให้การว่าเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามกฎหมายได้
สำหรับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 บัญญัติว่า "ในกรณีทำให้เขาถึงตาย... ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย" การจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จึงต้องเป็นกรณีที่ก่อนเกิดเหตุผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ไม่ว่าโดยสัญญาหรือโดยกฎหมายต้องทำการงานให้แก่บุคคลอื่น หากไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันตามกฎหมายหรือตามสัญญาแล้วบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะมารดาของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (3) ที่จะให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้ และเมื่อผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่สามีภริยาที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครอบครัวจากจำเลยทั้งสองได้
of 24