คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษีโรงเรือน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 283 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13255/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: เตาเผาไม่ใช่โรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรกลไกตามมาตรา 13
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 13 บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อย ฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย" เมื่อเตาเผาทั้ง ๖ เตาพร้อมอุปกรณ์ของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งที่มีฐานติดตรึงกับพื้นดิน และมีเครื่องจักรเป็นเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมติดตั้งอยู่ภายใน มิได้มีสภาพเป็นที่สำหรับเข้าอยู่อาศัยหรือเป็นที่ไว้สินค้าคล้ายกับโรงเรือนแต่อย่างใด ส่วนสิ่งปลูกสร้างด้านบนแม้จะมีลักษณะคล้ายโรงเรือนโดยด้านในมีเครนไฟฟ้าอยู่และใช้โครงสร้างของตัวเตาเผาต่อเติมขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะอย่างโรงเรือนทั่วไปที่ต้องมีโครงสร้างรองรับน้ำหนักสัมผัสพื้นดิน เตาเผาทั้ง ๖ เตา ของโจทก์ไม่อาจถือเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินอุตสาหกรรม คงเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และมาตรา 13 ใช้บัญญัติให้ลดค่ารายปีเฉพาะโรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรกลไกเท่านั้นมิได้หมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นด้วย การที่จำเลยมีคำชี้ขาดไม่ลดค่ารายปีให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11028/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในหนี้ภาษีของเจ้าของใหม่หลังโอนทรัพย์สิน และอำนาจฟ้องคดีภาษีที่ต้องชำระภาษีให้ครบก่อน
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใดๆ ก็ตาม เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน" เมื่อบริษัท บ. เจ้าของโรงเรือนพิพาทคนเก่าผู้รับประเมินเป็นหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและยังมิได้ชำระ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นเจ้าของคนใหม่ ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีร่วมกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยประการสำคัญก็เพื่อให้จำเลยยกเลิกการเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามนัยมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลา เช่นว่านั้น คดีโจทก์เป็นเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์เป็นเจ้าของคนใหม่ ย่อมอยู่ในฐานะเดียวกับเจ้าของคนเก่าผู้รับประเมิน โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้อง เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8483/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ท่อส่งน้ำฝังดินเป็นสิ่งปลูกสร้างต่อเนื่องจากโรงสูบน้ำ ต้องเสียภาษี
ท่อส่งน้ำทั้งสองสายของโจทก์เป็นท่อขนาดใหญ่ ยาวต่อเนื่อง และเป็นท่อเหล็กหุ้มด้วยฉนวนป้องกันมิให้เกิดสนิม ฝังอยู่ใต้ดินลึกประมาณ 2 เมตร ในเขตทางหลวงขนานไปกับถนนและอยู่ห่างจากขอบทางหลวงประมาณ 6 เมตร โดยบางช่วงมีการสร้างบ่อคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นระยะ ๆ ท่อส่งน้ำดังกล่าวมีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงสูบน้ำที่ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 ที่ใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมผลิตน้ำและจำหน่ายน้ำของโจทก์ มิใช่ทรัพย์สินที่ให้งดเว้นจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 10 จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8457/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีโรงเรือนและที่ดิน: กรณีสัญญาเช่าทรัพย์สินและผลกระทบต่อการยกเว้นภาษี
กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่ กทท. ไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนพื้นที่ประเมินไว้สูงเกินสมควร ซึ่งต้องนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีแทน กทท. ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้
สัญญาเช่านอกจากจะอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือแล้ว ยังให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของ กทท. โดย กทท. มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือบี 1 ให้แก่โจทก์ใช้ประโยชน์และพัฒนาท่าเทียบเรือ โดยโจทก์ต้องจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการเช่าทรัพย์สินด้วย กทท. จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และหาก กทท. ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้สูงเกินสมควร กทท. จะต้องนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อ กทท. ได้นำคำชี้ขาดเสนอ ครม. ภายในสามสิบวันแล้ว แต่ ครม. ยังไม่มีมติ กทท. จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8302/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ต้องพิจารณาขนาดทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะ การใช้เกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกันถือว่าไม่ถูกต้อง
พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2552 ที่พิพาท เท่ากับปีภาษี 2551 ซึ่งเป็นปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว แต่ค่ารายปีของทรัพย์สินแต่ละรายอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้แล้วแต่ข้อเท็จจริงของแต่ละปี ทั้งนี้การพิจารณาเพิ่มหรือลดค่ารายปีต้องมีเหตุผลและต้องคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาทครั้งแรกเมื่อปีภาษี 2548 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์ตามอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางที่จำเลยกำหนดในบันทึกข้อความที่ กท 7000/2912 ซึ่งโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ต่อมาจำเลยมีบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 จัดกลุ่มตามพื้นที่ที่ตั้งเขตใหม่ ทำให้โรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 และมีอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางต่ำลง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เท่ากับค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วและนำไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 455/1-2 ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 3 ซึ่งมีความกว้างกว่าถนนเจริญราษฎร์ที่โรงเรือนของโจทก์ตั้งอยู่ อีกทั้งมีราคาประเมินที่ดินที่สูงกว่า และนำไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 3609/9 ซึ่งไม่ได้ประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับโจทก์ โดยไม่นำไปเทียบเคียงกับค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ 358/1 และโรงเรือนเลขที่ 299/10 ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับโจทก์ และเจ้าพนักงานของจำเลยประเมินค่ารายปีโรงเรือนทั้งสองแห่งดังกล่าวโดยใช้อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 อันแสดงให้เห็นว่าการกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยสำหรับอาคารลักษณะพิเศษในเขตเดียวกันใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ทำให้โจทก์ต้องรับภาระภาษีมากกว่าโรงเรือนรายอื่นที่มีลักษณะทรัพย์สินคล้ายคลึงกับโจทก์ที่ตั้งอยู่ในเขตเดียวกัน อันก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของผู้เสียภาษี การกำหนด ค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยสำหรับโรงเรือนของโจทก์จึงยังไม่เหมาะสมและไม่มีเหตุผลเพียงพอ กรณีจึงมีพฤติการณ์และเหตุผลอันสมควรให้ประเมินค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์โดยใช้อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์มากกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5430/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การประเมินค่ารายปีต้องเป็นไปตามกฎหมาย และการท่าเรือฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่า ท่าเทียบเรือบี 3 เป็นทรัพย์สินของ กทท. ที่ใช้ในกิจการสาธารณะโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ จึงเป็นหน้าที่ของ กทท. ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำขอ กทท. ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 เมื่อไม่ปรากฏว่า กทท. ได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงยังมิได้สอบสวนว่าทรัพย์สินนั้นควรจะได้รับยกเว้นหรือไม่ และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเพื่อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 และมาตรา 34 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246
ปัญหาว่าค่ารายปีควรเป็นเท่าใดนั้น เป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินและจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินนั้นมีจำนวนสูงเกินสมควร กทท. จึงต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคท้าย แต่ไม่ปรากฏว่า กทท. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อ กทท. ยังไม่ดำเนินการตามมาตรา 31 วรรคท้าย กทท.และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4069/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ผู้รับประเมินต้องยื่นคำขอยกเว้นตามกฎหมายก่อน หากไม่ทำ ไม่มีสิทธิฟ้องขอคืนภาษีย้อนหลัง
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ชอบเนื่องจากโรงเรือนที่โจทก์ต้องเสียภาษีมีตามจำนวนที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 เท่านั้น ส่วนโรงเรือนอื่นในพื้นที่ของโจทก์ไม่ได้ใช้งานและไม่ได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าและประกอบการอุตสาหกรรม จึงเป็นการฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่าโรงเรือนอื่นของโจทก์นอกจากที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (5) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษียื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำขอยกเว้นภาษี โจทก์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้พิจารณายกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาท และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อโต้แย้งว่าโรงเรือนที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีภาษีพิพาทได้อีกตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 33 และมาตรา 34 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16022/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การเปลี่ยนแปลงราคาประเมินและค่าเช่ามาตรฐานกลางมีผลต่อการประเมิน
พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีประจำปีภาษี 2551 ที่พิพาท โดยอาศัยค่ารายปีประจำปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 แต่เมื่อจำเลยกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางใหม่ตามบันทึกข้อความกรุงเทพมหานคร ที่ กท 1302/222 ก่อนที่โจทก์จะยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2551 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยควรจะนำอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษีพิพาทด้วย เนื่องจากเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมิน แม้บันทึกข้อความกรุงเทพมหานครดังกล่าวจะมิได้บังคับให้ต้องกำหนดค่ารายปีเท่ากับอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางและมิได้ห้ามให้กำหนดค่ารายปีสูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แต่เมื่อปรากฏตามบันทึกดังกล่าวว่าสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดให้อยู่กลุ่ม 2 เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม 1 ซึ่งมีค่ารายปีสูงกว่า จึงไม่อาจใช้ค่ารายปีของปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีในปีภาษีพิพาท การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 455/1-2 ซึ่งตั้งอยู่ถนนพระรามที่ 3 ซึ่งมีความกว้างมากกว่าถนนเจริญราษฎร์อันเป็นที่ตั้งโรงเรือนของโจทก์ และมีราคาประเมินที่ดินสูงกว่า ย่อมแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่โรงเรือนและที่ดินของโจทก์ที่ได้รับประโยชน์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์สินของโจทก์สูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แม้จะเท่ากับค่ารายปีที่ล่วงมาแล้ว แต่เนื่องจากทรัพย์สินของโจทก์มีสภาพเศรษฐกิจแตกต่างไปจากเดิม การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดจึงมิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 และมาตรา 18 ประกอบแนวทางปฏิบัติตามบันทึกกรุงเทพมหานครดังกล่าว การกำหนดค่ารายปีและคำชี้ขาดจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13854/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การประเมินค่าเช่าที่ดินโรงเรียนเอกชน และการคืนค่าขึ้นศาล
จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน 709,532.42 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยปรับลดลง 1,704,192.58 บาท คำชี้ขาดจึงเป็นไปตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์บางส่วนแล้ว แต่สำหรับในส่วนที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดเห็นด้วยกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น หากโจทก์ไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ เมื่อในส่วนที่จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดแล้วว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เพราะฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
นอกจากค่าธรรมเนียมการเรียนแล้ว โจทก์ยังเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อน ค่าบัตรร่วมงานประจำปี ค่าสมาชิกศิษย์เก่า แม้โจทก์เป็นองค์กรทางคริสต์ศาสนามีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศาสนาให้การศึกษาและดำเนินกิจการด้านสาธารณกุศลต่าง ๆ อีกทั้งไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเรียนจากนักเรียนยากจน นักเรียนที่เป็นบุตรหลานของครูและพนักงานในโรงเรียน และนักเรียนบางรายซึ่งติดค้างไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมการเรียนได้ก็ตาม แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่น และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากนักเรียนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการกระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาอันไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9
สำหรับโรงเรียนของโจทก์เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นหาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของดำเนินกิจการเอง ทางนำสืบไม่ปรากฏโรงเรียนที่ตั้งในเขตเดียวกับโรงเรียนโจทก์มาเทียบเคียงได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินตามหลักเกณฑ์ที่มีการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดค่าเช่ามาตรฐานสอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีโรงเรียนเอกชนอื่นแตกต่างออกไป นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีคำชี้ขาดลดค่ารายปีแต่ละปีโดยคำนวณลดลงปีละ 3 เดือน ตามที่โจทก์อ้างว่ามีการหยุดเทอมภาคฤดูร้อน ทั้งที่ปรากฏตามทางนำสืบว่า โจทก์มีการเรียกเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อนแสดงว่ามีการเรียนการสอนในระยะเวลาดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เป็นคุณแก่โจทก์ในส่วนนี้ คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9840/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่มิได้แสดงเหตุผลตามกฎหมาย และผลของการชำระภาษีตามประเมินก่อนฟ้อง
ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 2,213,493 บาท แต่หนังสือแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษี 6,629,281 บาท และโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่พิพากษาให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดย่อมแสดงว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้แจงของจำเลยไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบทั้งหมด แต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบบางส่วน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้นั้น เห็นว่า มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าห้ามมิให้ศาลประทับฟ้องเว้นแต่ผู้รับการประเมินจะชำระค่าภาษีเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ต้องชำระค่าภาษีก่อนฟ้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น หากไม่สั่งคืนภาษีส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยอาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้มีคำสั่งทางปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป เพราะโจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามประเมินแก่จำเลยแล้ว ฉะนั้น การให้จำเลยคืนเงินเพียงบางส่วนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เป็นการพิพากษาให้ไม่เกินกว่าที่โจทก์มีคำขอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 มิใช่เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองบางส่วนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
of 29