คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สามีภริยา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหย่า: การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา
แม้คำให้การจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่ง ป.พ.พ. มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ถือว่าการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงของจำเลยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในปี 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าต้องมีเหตุร้ายแรง การทะเลาะเบาะแว้งปกติไม่ถือเป็นเหตุหย่า
โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาย่อมจะมีเรื่องระหองระแหงทะเลาะกันเป็นปกติธรรมดาของชีวิตคู่ การที่จำเลยไม่ค่อยอยู่บ้านก็มิใช่เป็นการประพฤติเสื่อมเสีย และการที่จำเลยตบตีทำร้ายโจทก์จนโจทก์ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยแต่พนักงานสอบสวนได้ไกล่เกลี่ยก็เป็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยยังทะเลาะกันและจำเลยพยายามจะทำร้ายร่างกายโจทก์ พฤติกรรมดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินควร ยังไม่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้จากการขายสินสมรส: การแบ่งเงินได้และสิทธิในการเสียภาษี
ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง" โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7071/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา พิจารณาจากความสามารถของผู้ให้ ฐานะผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณี
การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี" เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตัวไม่เหมาะสมเที่ยวเตร่เวลากลางคืนแล้วแยกตัวไปอยู่ที่อื่นไม่กลับไปหาโจทก์ ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเคยให้เดือนละ 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร เมื่อโจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีเดือนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีรายได้จากการว่าความและเป็นที่ปรึกษากฎหมายและจำเลยยังเปิดบริษัท บ. และยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ส. โดยได้รับเงินเดือนจากทั้งสองบริษัทเดือนละ 45,000 บาท แม้ว่าระหว่างพิจารณา จำเลยจะยกทรัพย์สินเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 1 หลัง ราคาประมาน 5,000,000 บาท และที่ดินอีก 1 แปลง ราคาประมาณ 3,000,000 บาท กับรถยนต์ 2 คัน ให้แก่โจทก์และโอนสลากออมสินมูลค่า 3,000,000 บาท แก่บุตร โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะให้บุตรเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะจบปริญญาตรีก็ตาม แต่ทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ และภาระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เช่นนี้ จึงเห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เมื่อพิจารณาถึงความเพียงพอแก่อัตภาพของโจทก์และภาระค่าครองชีพแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะสิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาตามสัญญาเช่าซื้อ: หนังสือยินยอมถือเป็นการให้สัตยาบัน
ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ภริยาก่อขึ้นและเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) กรณีหาใช่โจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ใหม่) ประกอบมาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาจากการทำสัญญาเช่าซื้อ โดยการยินยอมและให้สัตยาบัน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา ในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแสดงและมิได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานโดยยื่นบัญชีระบุพยานมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาคำขอทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกัน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้ ทั้งโจทก์ยื่นฎีกาโดยอ้างส่งสำเนาใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวซึ่งมีข้อความยืนยันความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแนบท้ายฎีกามาด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาทั้งมิได้โต้แย้งสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) การที่จำเลยที่ 3 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อ และหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือมีความรับผิดตามสัญญาเช่าซึ่งจำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่ภริยาของตนก่อขึ้น หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ได้มาจากการอยู่กินฉันสามีภริยา แม้ไม่มีการจดทะเบียนสมรส
โจทก์และจำเลยตกลงอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาด้วยใจสมัคร แม้จะไม่มีการสู่ขอ ไม่มีสินสอดทองหมั้น ไม่ได้จัดพิธีแต่งงานกันตามประเพณี และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ในทางทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันเป็นสินสมรสเช่นอย่างสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการอยู่ร่วมกันเช่นนี้มิใช่เป็นเหมือนหุ้นส่วนและไม่เข้าลักษณะของบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท เนื่องเพราะมิใช่ข้อตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1012 แต่ทรัพย์สินที่ทำมาหามาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยานั้น ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือเจ้าของรวมซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 2 หมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม มาตรา 1357 ที่บัญญัติว่า ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินส่วนตัวสามีภริยาและการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู แม้แยกกันอยู่ก็ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
โจทก์เป็นฝ่ายชำระราคาห้องชุดพิพาทมาตลอด ห้องชุดพิพาทซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ที่โจทก์มีอำนาจจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ตกลงแยกกันอยู่กับจำเลยและย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยมอบคีย์การ์ดและกุญแจห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยนั้น จำเลยเบิกความโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยมิได้ตกลงแยกกันอยู่ตามที่โจทก์อ้าง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันอย่างไร แต่การแยกกันอยู่ก็มิได้ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง โจทก์และจำเลยยังคงเป็นสามีภริยาที่ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 การที่โจทก์ย้ายออกจากห้องชุดพิพาทไปไม่อยู่ร่วมกับจำเลยที่ห้องชุดพิพาท ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือไม่ก็ตาม โจทก์สามารถร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้อยู่ต่างหากจากกันได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1462 จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงว่า การแยกกันอยู่ไม่ได้ทำให้หน้าที่ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูภริยาของโจทก์ซึ่งเป็นสามีหมดสิ้นไป การที่โจทก์ออกจากห้องชุดพิพาทไปโดยมอบคีย์การ์ดและกุญแจห้องชุดไว้ให้แก่จำเลย บ่งชี้ว่าโจทก์ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยโดยการจัดห้องชุดพิพาทอันเป็นสินส่วนตัวให้เป็นที่พักอาศัยของจำเลยตามความสามารถและฐานะของโจทก์เหมือนดังที่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ต้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังคงเป็นสามีภริยาโดยต่างมิได้มีเจตนาหย่ากันและยังมีโอกาสที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันได้ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายออกจากห้องชุดพิพาทไปเองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อปฏิเสธความรับผิดในหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้
of 24