พบผลลัพธ์ทั้งหมด 243 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำฟ้องขาดสาระสำคัญประเด็นความรับผิดร่วม ละเมิด ไม่แจ้งชัด ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิด
ตามคำฟ้องเป็นการฟ้องคดีในมูลละเมิด แม้จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 รับขนส่งช่วง จำเลยที่ 3 นำเรือไปบรรทุกโดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมเรือ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 2 เช่าเรือไปจากจำเลยที่ 3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 คำฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และมาตรา 427 คำฟ้องโจทก์จึงไม่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้ในทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ และศาลจะพิพากษาคดีให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 โดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภค: ศาลอนุญาตแก้ไขได้หากคำฟ้องยังขาดสาระสำคัญ เพื่อให้คำฟ้องถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น
การแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้" การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2553 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีคนร้ายวางเพลิงเผาทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ก่อนยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจากคำว่าวันที่ 24 เมษายน 2553 โดยขอเพิ่มเติมข้อความว่า "และโจทก์ยังได้ต่ออายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยโดยเริ่มคุ้มครองวันที่ 24 เมษายน 2553 ครบระยะเวลา 1 ปี ในวันที่ 24 เมษายน 2554 ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังอยู่ในอายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย" ดังนี้ เมื่อคดีนี้โจทก์เป็นผู้บริโภคและได้ดำเนินคดีนี้มาอย่างคดีผู้บริโภค ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ศาลตรวจคำฟ้องของผู้บริโภคด้วยว่า" หากเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้" และตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องมานั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลก็อาจมีคำสั่งให้โจทก์นั้นแก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้ แม้ในคดีนี้โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาเองก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภคที่ขาดสาระสำคัญนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการขอแก้ไขก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด อีกทั้งปัญหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นได้อยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แล้วจะมาแก้ไขให้สมบูรณ์นั้นไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 จึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสองดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตามคำร้องที่ขอเพิ่มเติมฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15124/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าพื้นที่: โฆษณาเป็นสาระสำคัญของสัญญา หากไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ผู้ให้เช่าต้องรับผิด
ข้อความที่ระบุในแผ่นพับโฆษณาให้เช่าพื้นที่อาคารของจำเลยที่ 1 เป็นต้นว่า มีร้านค้ากว่า 250 ร้าน โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า ชั้น 2 เป็นพื้นที่ศูนย์อาหารและร้านค้า ชั้น 3 เป็นพื้นที่สถาบันสอนภาษาและกวดวิชา ศูนย์อาหาร และสำหรับสถานที่จอดรถมีพื้นที่รองรับได้ร่วม 100 คัน ล้วนเป็นการชักจูงให้ผู้ประกอบธุรกิจสนใจโดยเชื่อมั่นว่าหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ระบุไว้ การเข้าประกอบธุรกิจในสถานที่นี้ย่อมจะบังเกิดผลดีแก่ตน และจำเลยที่ 1 ยังออกบู๊ธประชาสัมพันธ์โครงการ ติดแผ่นป้ายโฆษณา และพนักงานของจำเลยที่ 1 อธิบายต่อผู้สนใจซึ่งรวมทั้งโจทก์ว่า ในศูนย์การค้านี้จะมีร้านค้าที่มีชื่อเสียง รวมตลอดทั้งจำเลยที่ 1 จะทำแผนการตลาดให้ทีมบริหารที่มีความสามารถทำการชักจูงลูกค้าให้เข้าใช้บริการประกอบธุรกิจภายในอาคาร แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ดังนี้ สัญญาให้ได้รับสิทธิการเช่าบู๊ธและสัญญาเช่าพื้นที่ในอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้ต่อกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันแม้แผ่นพับโฆษณามิได้แนบรวมอยู่ในสัญญาด้วยก็ตาม ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่โฆษณาไว้เป็นสาระสำคัญที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาชักจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่โฆษณา จึงถือมิได้ว่าโจทก์ได้รับมอบพื้นที่ให้เช่าตรงตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินเพื่อให้ได้รับสิทธิในการเช่าแก่โจทก์ รวมทั้งค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสถานที่ที่โจทก์เสียไปในการเข้าดำเนินการตามสิทธิแห่งสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10974/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความชัดเจนของฟ้องอาญาฐานปลอมเอกสารและการไม่ขัดแย้งในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
ฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่มีการกรอกข้อความขึ้นทั้งฉบับ โดย ท. ไม่ได้ยินยอมด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับด้วยวิธีการใดหรือปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยหลอกลวงให้ ท. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของ ท. ขึ้นทั้งฉบับ ไม่มีทางที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจฟ้องเป็นสองนัยอันจะพึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจจึงไม่ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการกระทำความผิด จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4968/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดัดแปลงงานลิขสิทธิ์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ การพิมพ์ผิดพลาดไม่ถือเป็นการดัดแปลง
การกระทำอันเป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คำว่า ดัดแปลง หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนคำว่า ทำซ้ำ หมายความรวมถึงการคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ดังนั้น การกระทำที่เป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงเป็นการคัดลอกงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อแตกต่างระหว่างหนังสือเล่มจริงกับเล่มที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์ขึ้นเกิดจากการพิมพ์ที่ไม่เรียบร้อย พิมพ์ผิดพลาด พิมพ์ซ้ำ หรือจัดหน้ากระดาษผิด มิใช่เป็นการคัดลอกโดยเปลี่ยนรูปใหม่ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญแต่อย่างใด ไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหนังสือของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11144/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ข้อผิดพลาดเล็กน้อยและสาระสำคัญของสัญญา
สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ชำระให้บังคับทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดแทน แล้วต่างตกลงกันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อความว่า "ข้อ 1. จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ตามโจทก์ฟ้องจริง และจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย...นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน ข้อ 2. โจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 8,570,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม...ภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความถือเป็นการชำระเสร็จสิ้น... ข้อ 3. หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 2. และยินยอมให้โจทก์บังคับคดี..." ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเนื้อความในสัญญา ข้อ 3. ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ตามสัญญา ข้อ 1. และหรือ ข้อ 2. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอบังคับในฟ้อง ข้อความในวรรคที่ว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้อง" เป็นสาระสำคัญ ส่วนข้อความต่อเนื่องที่ว่า "ดังกล่าวใน ข้อ 2." เป็นเพียงพลความ หากถือว่ามิใช่พลความ ข้อความในวรรคนี้ทั้งหมดจะขัดแย้งจนหาสาระไม่ได้ เพราะจำนวนหนี้ตามสัญญา ข้อ 2. มิใช่จำนวนหนี้ทั้งหมดในฟ้องนั่นเอง แสดงว่า ที่ถูกต้องข้อความในวรรคนี้พึงเป็นข้อความว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 1." ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้แก้ไขคำพิพากษาเฉพาะส่วนในข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. ในวรรคดังกล่าวตรงท้ายวรรคจาก 2 เป็น 1 ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ศาลพึงมีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11122/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความสมบูรณ์ของฟ้องอาญา: ข้อผิดพลาดเรื่องวันเวลานับเป็นสาระสำคัญหรือไม่?
คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 แต่คำฟ้องโจทก์ระบุว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤศจิกายน 2549 เห็นได้ชัดว่าเป็นการพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดผิดพลาดไป จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งคำฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่าหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปจำหน่ายแก่ผู้มีชื่อ ครั้นวันที่ 2 มิถุนายน 2549 เจ้าพนักงานยึดทรัพย์ดังกล่าวจากผู้มีชื่อเป็นของกลาง จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดีมิได้หลงต่อสู้ จึงให้การรับสารภาพและชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเพื่อบรรเทาผลร้ายด้วย ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10298-10299/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความแตกต่างวิธีการทำร้ายไม่กระทบสาระสำคัญคดีอาญา หากยังคงเป็นการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย
แม้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจำเลยทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยการชกต่อย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยการเตะ ก็มิใช่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เพราะเป็นเพียงข้อแตกต่างในวิธีการประทุษร้ายซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ที่ 2 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในชั้นพิจารณาจึงหาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายที่ดิน/บ้าน: กำหนดเวลาสร้างและโอนกรรมสิทธิ์เป็นสาระสำคัญ ผู้ขายผิดสัญญาเมื่อไม่สามารถสร้างตามกำหนด
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลย ย่อมแสดงว่าโจทก์ผู้จะซื้อเชื่อถือข้อสัญญาที่ทำกับจำเลยและมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอย โดยมั่นใจว่าโครงการของจำเลยจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามที่ระบุในสัญญา กำหนดระยะเวลาก่อสร้างและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา หาเป็นเพียงการประมาณเวลาที่จะแล้วเสร็จมิใช่กำหนดเวลาตายตัวแต่อย่างใดจำเลยเป็นเจ้าของโครงการขนาดใหญ่ มีประสบการณ์ในการจัดสรรที่ดินมาแล้วหลายโครงการย่อมทราบถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตจัดสรรเป็นอย่างดีจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขวนขวายเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา จำเลยจะอ้างเหตุเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินล่าช้าเพื่อขยายระยะเวลาก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ออกไปหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงปรากกฎว่าหลังจากโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น 29 งวดแล้ว โจทก์ได้รับการติดต่อจากจำเลยว่าหากจะผ่อนค่าบ้านต่อไปก็ผ่อนได้ โดยจำเลยจะนำเงินดังกล่าวไปเป็นทุนสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงชำระเงินให้แก่จำเลยอีก 5 งวด เป็นเงิน 75,000 บาท การที่โจทก์ขวนขวายหาเงินมาผ่อนชำระให้จำเลยอีก 5 งวด ทั้ง ๆ ที่ผ่อนเงินดาวน์มาครบแล้ว ย่อมแสดงว่าขณะนั้นโจทก์ต้องการจะรับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยแต่จำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ทำให้โจทก์ต้องหยุดผ่อนชำระ จนกระทั่งปี 2543 หลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วถึง 3 ปีเศษ และเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์หยุดผ่อนชำระไปแล้วกว่า 2 ปี จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ การที่โจทก์ยังชำระเงินให้แก่จำเลยต่ออีก 5 งวด หลังจากชำระเงินดาวน์เสร็จสิ้นแล้วจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้จะซื้อมิได้ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามข้อตกลง จำเลยย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องและความแตกต่างในชื่อผู้เสียหายไม่ถือเป็นสาระสำคัญที่ทำให้ต้องยกฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร้อยตำรวจเอก ส. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่ ต. ถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา จำเลยเรียกและรับเงินจำนวน 5,000 บาท จาก ต. และ น. เพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยจะจูงใจร้อยตำรวจเอก ส. โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้ร้อยตำรวจเอก ส. กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ ต. โดยการช่วยเหลือในทางคดี เพื่อทำให้ ต. หลุดพ้นจากความผิด เป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าจำเลยเจตนาเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจเจ้าพนักงานไม่ให้ดำเนินคดีแก่ ต. และปล่อยตัวให้หลุดพ้นจากคดีอาญา เป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนการที่จำเลยไปติดต่อหรือจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีใด หรือเจ้าพนักงานจะกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือ ต. มิใช่องค์ประกอบแห่งความผิดนัดอันต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องผิดไปว่า นางนิตยา มั่งคั่ง เป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน โดยทางพิจารณาได้ความว่านางนิตยา มั่นคง เป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ก็ระบุชื่อนางนิตยา มั่นคง มาตลอด มิได้ระบุชื่อนางนิตยา มั่งคั่ง กรณีจึงอาจเป็นได้ว่าโจทก์พิมพ์คำฟ้องผิดพลาดถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงต่อสู้เพราะไม่ได้สืบพยานระบุถึงนางนิตยา มั่งคั่ง กรณีมิใช่เป็นเรื่องทางพิจารณาได้ความแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องผิดไปว่า นางนิตยา มั่งคั่ง เป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน โดยทางพิจารณาได้ความว่านางนิตยา มั่นคง เป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ก็ระบุชื่อนางนิตยา มั่นคง มาตลอด มิได้ระบุชื่อนางนิตยา มั่งคั่ง กรณีจึงอาจเป็นได้ว่าโจทก์พิมพ์คำฟ้องผิดพลาดถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงต่อสู้เพราะไม่ได้สืบพยานระบุถึงนางนิตยา มั่งคั่ง กรณีมิใช่เป็นเรื่องทางพิจารณาได้ความแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง