พบผลลัพธ์ทั้งหมด 251 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8360/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. ม.216 วรรคหนึ่ง เหตุจำเลยอ้างอุทธรณ์แทนการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาว่าจำเลยขออ้างอุทธรณ์จำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลย เท่ากับฎีกาของจำเลยที่อ้างอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งคัดค้านเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบอย่างไร และจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพราะเหตุใด ทั้ง ๆ ที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7766/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญา: การไม่โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาทำให้เสียสิทธิอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย วันที่ 19 มกราคม 2553 ก่อนสืบพยานศาลสอบถามทนายจำเลยเกี่ยวกับปัญหาอำนาจศาลตามคำให้การจำเลย ทนายจำเลยแถลงยังติดใจในประเด็นดังกล่าว และศาลวินิจฉัยว่ากรณีไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย โดยไม่ได้เสนอปัญหาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย อันเป็นคำสั่งในระหว่างการพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง และศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 จึงไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9727/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. ม.216 วรรคหนึ่ง จำเลยคัดลอกคำพิพากษาเดิมโดยไม่โต้แย้งเหตุผลศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาโดยคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยตั้งแต่ต้นจนจบชนิดคำต่อคำ แล้วสรุปว่า แม้ ส. พ. และ บ. จะเบิกความแตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวนของตนเองก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยลำพังไม่มีน้ำหนักลงโทษจำเลยได้ โดยจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลขึ้นโต้แย้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร มีข้อเท็จจริงและเหตุผลใดที่หักล้างข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้รับฟังใหม่ได้ว่า คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำให้การในชั้นสอบสวน ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8021/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องโต้แย้งเหตุผลศาลอุทธรณ์ ไม่ใช่แค่คัดลอกคำศาลชั้นต้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง วางหลักในการยื่นฎีกาประการหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างนั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะได้รับฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้เป็นลายมือชื่อของจำเลย และโจทก์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในปัญหาดังกล่าว โดยคัดลอกคำตัดสินของศาลชั้นต้นทุกถ้อยคำในส่วนที่ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจนจบคำวินิจฉัยในปัญหานี้ ซึ่งในปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้หลายประการที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งต่างไปจากเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัย ดังนี้ ฎีกาของโจทก์จึงต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่รับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลมานั้น ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างไรและด้วยเหตุผลใด มิใช่อ้างแต่เพียงว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ถูกต้องและศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงถูกต้องชอบด้วยเหตุผลแล้วเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายโดยชัดแจ้งแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11799/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟื้นฟูกิจการ: สิทธิของผู้บริหารแผนในการโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แจ้ง
เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ทำแผน เพื่อให้ผู้ทำแผนดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อผู้ทำแผนได้รับสำเนาคำขอรับชำระหนี้แล้วย่อมมีสิทธิขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และ 90/29 ทั้งนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาจำต้องแจ้งให้ผู้ทำแผนมาตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้อีกไม่ คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ผู้บริหารแผนก็ได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของเจ้าหนี้ ย่อมแสดงว่าผู้บริหารแผนทราบถึงมูลหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้แล้ว เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ให้รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการ ผู้บริหารแผนซึ่งได้รับโอนสิทธิและหน้าที่มาจากผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทันที โดยไม่มีความจำเป็นอันใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องแจ้งให้ผู้บริหารแผนทราบอีก การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้แจ้งให้ผู้บริหารแผนมาตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในภายหลัง จึงไม่ทำให้ผู้บริหารแผนเสียโอกาสในการตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5262/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องโต้แย้งเหตุผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หากคัดลอกอุทธรณ์มาทั้งหมดถือว่าไม่รับฎีกา
ฎีกาของจำเลยคัดลอกอุทธรณ์แบบคำต่อคำ เว้นแต่การแก้ไขชื่อของศาลเพื่อให้ตรงตามความจริง จึงมิใช่เป็นฎีกาที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่มีเหตุแห่งคำวินิจฉัยแตกต่างจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ควรวินิจฉัยอย่างไรจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชัดแจ้ง – จำเลยไม่ได้โต้แย้งเหตุผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างเฉพาะเจาะจง
จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น มิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอ้างอิงให้เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่างกับเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้จำเลยจะมีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่อาจถือเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อย่างชัดแจ้ง และฎีกาไม่เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงในคดีของตนเอง
ฎีกาประการแรกของโจทก์กล่าวถึงแต่เฉพาะคดีของบุคคลอื่นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาอย่างไร ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีของโจทก์ ย่อมมีข้อที่จะต้องพิจารณาเฉพาะของแต่ละคดี โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ส่วนฎีกาประการที่สองที่อ้างว่าคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยกฟ้องโจทก์และคดีดังกล่าวถึงที่สุด ย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นคำพิพากษาที่ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และก็เป็นข้อฎีกาที่มิได้ชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบอย่างไรเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7295/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้าม: โต้เถียงข้อเท็จจริงใหม่หลังรับสารภาพขัด พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง/อาญา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 6 ซอง น้ำหนักสุทธิ 6.859 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6.655 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา โดยไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องหรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฎีกาของจำเลยที่ว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่สามารถนับได้เป็นจำนวนหน่วยการใช้และโจทก์ไม่นำสืบจึงต้องฟังเป็นคุณว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อเสพ จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ และเป็นการฎีกาข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจรับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8395/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาและการสิ้นสุดสิทธิจากการไม่โต้แย้งคำพิพากษา
แม้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองจะต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ทันทีเพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ก็ตาม แต่การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวก็มีผลเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นของจำเลยทั้งสองตามมาตรา 226 (2) แล้ว จำเลยทั้งสองจึงอุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ได้เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้คดีถึงที่สุดและสิทธิการดำเนินคดีของจำเลยทั้งสองสิ้นสุดลงเช่นนี้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่ามีเหตุสมควรเรียกนาง บ. ผู้จัดการมรดกของ ค. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป