คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชำระหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,604 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองที่ดินเพื่อค่านายหน้าจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศ ชำระหนี้แล้ว ศาลยืนหยัดคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 และจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยได้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำสัญญานายหน้าจัดส่งคนงานไปทำงานที่ไต้หวัน เท่ากับจำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องซึ่งเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 จำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
ที่จำเลยให้การและนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและจำเลยได้ชำระหนี้หมดแล้วนั้น ก็เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้จำนอง หาใช่การนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ไม่ และการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศก็มิใช่การนำสืบถึงการใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 653 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1251/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดรังวัดที่ดินเกินแนวเขต, ค่าเสียหาย, การชำระหนี้, ศาลแก้คำพิพากษา
ปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยทั้งห้าชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง แต่จะฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
สำนวนแรกโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เรื่องละเมิดที่จำเลยที่ 5 ชี้และปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตทางรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกให้การว่าการชี้แนวเขตทางของจำเลยไม่เป็นละเมิดขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษาว่าที่ดินยังเป็นของโจทก์ทั้งสอง มิได้ถูกเวนคืน แต่หากฝ่ายจำเลยก่อสร้างถนนบนที่ดินพิพาทแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินบนที่ดินพิพาทเสร็จแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการยื่นคำฟ้องต่อเนื่องกันกับสำนวนแรก เพื่อเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่ศาลฎีกามิได้พิพากษาให้ การฟ้องสำนวนหลังจึงมิได้อาศัยมูลละเมิดอันเกิดจากการก่อสร้างทางในที่ดินพิพาทมาเป็นข้ออ้างเพื่อเป็นหลักแห่งข้อหา ฉะนั้นปัญหาตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ในสำนวนหลังจึงเป็นประเด็นแห่งคดีเหมือนกันกับสำนวนแรกจึงต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในปัญหาดังกล่าวซ้ำอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยกเรื่องมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองขึ้นต่อสู้อีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11742/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการลงลายมือชื่อในเช็คเพื่อชำระหนี้ แม้ไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อโดยตรง
ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 แถลงรับว่าในชั้นสอบสวนพันตำรวจตรี ธ. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและเป็นผู้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและลงลายมือชื่อไว้จริงจึงถือได้ว่ามีการแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ 2 ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้จะมิได้มีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติขึ้นภายหลัง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป การสอบสวนจึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งยังให้ตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามจำเลยที่ 1 แก่ธนาคาร ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือมีหนี้สินใดกับโจทก์ร่วมโดยตรง เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในฐานะผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเป็นการรับประกันหรือสร้างความน่าเชื่อถือในผลงานในฐานะเป็นวิศวกรโครงการไม่ได้ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11714/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน – สิทธิเรียกร้องคืนเงิน – อายุความ – การชำระหนี้โดยสุจริต – การใช้สิทธิเรียกร้อง
ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ส่วนตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ม. นั้น ม. จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามกำหนดเวลาซึ่งจำเลยที่ 2 หักเงินจากบัญชีเงินฝากจำเลย 1,249,000 บาท นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 และคดีที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย ศาลมีวินิจฉัยถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ซึ่งมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ ม. รับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันสำหรับเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 2 ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ การที่จำเลยที่ 2 ละเลยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นว่านั้นย่อมเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 เอง จะยกเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องคืนเงินให้แก่ ม. หรือแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. มิได้ เมื่อ ม. หรือโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ เพราะเป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชำระจะเรียกร้องเอาได้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานละเมิด แต่มิได้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ ม. รู้ถึงการละเมิด คดีในส่วนจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ โดยมิได้กล่าวในอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้วและถือว่าประเด็นเรื่องอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11229/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: การฟ้องเรียกชำระหนี้ตามเช็ค แม้คำพิพากษาเดิมยกฟ้องเรื่องอำนาจฟ้อง แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นหนี้จริง
คดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอวงเงินสินเชื่อประเภทขายลดเช็คกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดตามสัญญา กับจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดให้แก่บริษัทเงินทุนทรัพย์ศรีนคร จำกัด โดยจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ อันเป็นประเด็นเดียวกับที่พิพาทกันในคดีนี้ ส่วนการที่โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวมาโดยชอบหรือไม่นั้น เป็นข้อที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่า ม. ไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลผู้มีชื่อลงนามในสัญญาขายทรัพย์สิน จึงเป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้โจทก์ได้นำพยานหลักฐานที่แสดงว่า ม. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นเลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมาแสดงต่อศาลอันแสดงว่า ม. มีอำนาจมอบอำนาจ และสัญญาขายทรัพย์สินเป็นสัญญาที่ชอบ ที่โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาขายทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสาม จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง โดยอาศัยบุริมสิทธิและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยปลอดจำนองมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามจำนวนภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง เป็นการขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11036/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายไม่ระบุวันชำระหนี้ชัดเจน โจทก์บอกกล่าวกำหนดเวลาได้ จำเลยผิดนัด สิทธิบอกเลิกสัญญา
สัญญาจะซื้อจะขายกำหนดวันชำระราคาและจดทะเบียนโอนว่าประมาณเดือนตุลาคม 2544 ไม่แน่ชัดว่าเป็นวันใดซึ่งอาจเป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนตุลาคม จึงเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จำต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยกำหนดเวลาชำระหนี้พอสมควร และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวโดยชอบแล้ว การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ในวันกำหนดโดยที่โจทก์เตรียมพร้อมจะชำระหนี้ส่วนของตน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิของผู้รับจำนองในการรับชำระหนี้จากการบังคับคดีทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น
ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย" ส่วนมาตรา 289 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดีหรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์..." และ ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่" เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดแล้ว การที่ผู้ร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยปลอดจำนองมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามจำนวนภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10022/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากการผ่อนชำระเป็นงวด และผลของการผิดนัดเพียงหนึ่งงวด
ตามหนังสือรับชดใช้สินค้าขาดบัญชีไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันผิดนัดซึ่งหนังสือรับชดใช้สินค้าขาดบัญชีดังกล่าวให้ชดใช้เป็นรายเดือน กำหนดชำระเสร็จใน 12 เดือน เริ่มชดใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 เป็นต้นไป อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นงวด แม้ไม่ได้ระบุว่าผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเวลาที่ตกลงไว้แม้แต่งวดหนึ่งงวดใดก็ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ไม่ใช่ผิดนัดเฉพาะเพียงงวดนั้นแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9384/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิโจทก์บังคับจำเลยถอนเงินจากเช็คชำระหนี้ แม้เป็นเงินประกันตัวคดีอาญา
โจทก์มอบหมายให้ ส. นำเงินของโจทก์ไปประกันตัว ก. ต่อศาลชั้นต้น จำเลยรับเงินจาก ส. ไปดำเนินการ เมื่อคดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นสั่งคืนเงินประกันโดยสั่งจ่ายเช็คธนาคาร อ. ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน จำเลยย่อมอยู่ในฐานะผู้ทรงในฐานเป็นผู้รับเงินที่พึงจะยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คแก่ตนเท่านั้น เงินที่ธนาคารพึงใช้ให้แก่จำเลยตามเช็คจึงไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 โดยตรง หากจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลย รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คเพื่อมอบให้แก่โจทก์ รวมทั้งจะขอให้บังคับธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีใช้เงินตามเช็คดังกล่าวแก่โจทก์ไม่ได้
คำฟ้องของโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินตามเช็คจำนวน 70,000 บาท ชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงิน แม้ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการตามฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้
of 261