คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลแขวง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 248 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งอุทธรณ์ในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยเสียค่าธรรมเนียมในการส่งจะไม่ชอบด้วยบทกฎหมาย แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยได้เพราะไม่พบภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เขียนแผนที่แสดงภูมิลำเนาจำเลยเพื่อประกอบดุลพินิจก่อนจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยต่อไป จึงเป็นคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แถลงพร้อมแผนที่สังเขป แต่โจทก์แถลงส่งแผนที่ที่ระบุเพียงว่าเป็นตึก 2 ถึง 3 ชั้น โดยไม่ระบุเลขที่บ้านของอาคารดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้โจทก์แสดงแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง โจทก์ก็ยื่นคำแถลงโดยไม่ได้ส่งแผนที่ตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม โจทก์ยื่นคำแถลงและส่งแผนที่ลักษณะเดิม พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการทิ้งอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2), 246พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาใช้บังคับในศาลชั้นต้น แต่กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าวบังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว และ ป.วิ.อ. ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทิ้งอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบ พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 4 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: ทุนทรัพย์เกิน 3 แสนบาท ทำให้ศาลต้องไม่รับฟ้อง
เขตอำนาจของศาลแขวงในส่วนคดีแพ่งมีบัญญัติไว้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ว่ามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท รวมทั้งเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ จำนวนเงินที่ฟ้องอันถือเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องในศาลชั้นต้นย่อมต้องรวมถึงดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแล้วคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องมาเกินกว่าสามแสนบาท จึงเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีจึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีนี้ เป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสองถูกลบล้างไป อันเป็นการสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลและค่าธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187-4189/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงคดีแพ่ง: มูลค่าทรัพย์สินเกิน 3 แสนบาท ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา
ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) โดยต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ในวันที่ยื่นฟ้อง
โจทก์ที่ 2 และที่ 5 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และโจทก์ที่ 4 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน 295,707.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงต้องนำดอกเบี้ยซึ่งคิดคำนวณนับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 4 สิงหาคม 2558 มารวมเป็นจำนวนเงินที่ฟ้องด้วย คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินกว่าสามแสนบาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงย่อมไม่มีอำนาจรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้องคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลสั่งไม่รับฟ้องคดีเกินอำนาจศาลแขวง หลังประเมินราคาทรัพย์สินใหม่พบทุนทรัพย์สูงกว่าเกณฑ์
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลชั้นต้นดำเนินการประเมินราคาสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทและอาคารซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวตามคำสั่งศาลฎีกาว่า สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีมูลค่า 1,218,982.33 บาท ส่วนอาคารซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว หักค่าเสื่อมราคาแล้วมีมูลค่า 204,624 บาท โดยคู่ความมิได้คัดค้านราคาประเมินดังกล่าว คดีนี้จึงมีทุนทรัพย์ที่ฟ้องเกินกว่า 300,000 บาท อันทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องจนถึงคดีเสร็จการพิจารณาและพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ อีกทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ตามมาก็ไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) เห็นสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทเกินอำนาจศาลแขวง: คำขอบังคับโอนกรรมสิทธิ์บ้านรวมราคาสูงกว่า 300,000 บาท
แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท ก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาล คำขอบังคับส่วนนี้มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงในคดีอาญา: การพิจารณาบทหนัก-เบา และเจตนาโจทก์ในการขอลงโทษ
แม้ฟ้องโจทก์บรรยายครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว อันเป็นบทหนักที่บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษสูงขึ้น และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ยังคงบัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ โดยมาตรา 14 (1) และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเกินอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว และระบุขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 และมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเบามีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมิได้มีคำขอให้ลงโทษตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นบทหนัก ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในข้อหาฉ้อโกง และความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 เท่านั้น ไม่อาจถือว่าโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษบทหนักตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เป็นศาลแขวง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2196/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลแขวง: การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตอัยการสูงสุดทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ขณะเกิดเหตุความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง แม้ภายหลังขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี มี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ยกเลิก พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 แต่มาตรา 4 (1) ของกฎหมายใหม่ที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสูงกว่าระวางโทษตามกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงต้องใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ส่วนความผิดฐานยักยอกที่โจทก์ฟ้องรวมกันมา ก็มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงเช่นกัน แม้ศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับพิจารณาคดีนี้จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 แต่การพิจารณาพิพากษาก็ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของคดีนั้น ๆ เมื่อคดีนี้เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงต้องนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาใช้บังคับแก่คดี กล่าวคือ โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ขอผัดฟ้อง ในการฟ้องคดีโจทก์จึงต้องได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 9 แต่ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
of 25