คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชำระหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,604 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนและหนังสือค้ำประกัน: ความรับผิดของคู่สัญญา, เบี้ยปรับ, และการชำระหนี้
ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้: ไม่เป็นโมฆะหากมิได้มีการฟ้องขอให้โอนทรัพย์เฉพาะสิ่ง
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8154/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกา: โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไม่ได้ไล่เบี้ย
การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ร่วมกันชำระเงิน 1,350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลยร่วมทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระให้บังคับเอาจากโจทก์เป็นเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และมีคำวินิจฉัยด้วยว่า ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทำให้จำเลยร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องรับผิดในมูลละเมิด ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. รับผิดในมูลสัญญาซื้อขาย แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยร่วมทั้งสองจำนวนเดียวกัน แต่ก็มิใช่ร่วมกันทำให้จำเลยร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย หนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองและหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองมิใช่หนี้ร่วม แต่เป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระได้ เพียงแต่ศาลฎีกาจัดลำดับการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ร่วมกันชำระแก่โจทก์ก่อน หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระก็ให้บังคับเอาจากโจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระและโจทก์ได้นำเงินจำนวนที่ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาไปวางศาลเป็นการชำระหนี้แก่จำเลยร่วมทั้งสอง การชำระหนี้แก่จำเลยร่วมทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่ผูกพันโจทก์ ไม่ใช่การชำระหนี้เพื่อหรือแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของจำเลยร่วมทั้งสองมาบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ชำระหนี้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565-7567/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก การชำระหนี้ตามสัญญา และการสละสิทธิเรียกร้อง
จำเลยที่ 1 กับบริษัท อ. ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามแทนบริษัท อ. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 แม้หลังจากที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ทั้งสามยังกลับไปเรียกร้องบริษัท อ. โดย จ. ให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมและ จ. ได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ทั้งสามไว้ ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมาตรา 374 สิ้นสุดไปด้วย ถือว่าโจทก์ทั้งสามยังมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยทั้งสามตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขาย
ตามสัญญาจะซื้อจะขายพิพาทไม่ได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 จึงต้องแปลความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามนั้นถึงกำหนดชำระเมื่อมีการจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนั่นเอง เมื่อปรากฏว่าบริษัท อ. จดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ย่อมถือว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ทั้งสามถึงกำหนดในวันดังกล่าว หาใช่ถึงกำหนดนับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสามทราบว่าจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5375/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยเช็ค การรับฟังพยานหลักฐาน และการรับรองสำเนาเอกสาร
ขณะที่จำเลยเบิกความอ้างอิงเอกสารหมาย ล.3 เป็นพยานหลักฐานยันโจทก์ โจทก์ไม่ได้คัดค้านการนำเอกสารนี้มาสืบว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานี้ไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ศาลจึงรับฟังเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5226/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดเล็กน้อยในจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระตามคำฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ณ วันที่ 20 มีนาคม 2552 จำเลยมีหนี้ค้างชำระการใช้บัตรเครดิตแก่โจทก์จำนวน 200,042.17 บาท ซึ่งจะต้องชำระภายในวันที่ 9 เมษายน 2552 โจทก์ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,042.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 184,386.18 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เป็นเงิน 6,592.44 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 206,634.61 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 206,634.61 บาท และโจทก์ระบุเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีนี้ อันเป็นการบรรยายหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามที่ปรากฏในคำฟ้องแล้ว แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ดังกล่าว หาใช่ต้องการให้จำเลยชำระหนี้เพียง 6,592.44 บาท ไม่ น่าเชื่อว่าตามคำขอบังคับของโจทก์ เกิดจากความพลั้งเผลอพิมพ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเจตนาที่แท้จริง เป็นเหตุให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ผิดพลาดไปด้วย กรณีถือได้ว่าคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อย โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องได้ จึงมีเหตุสมควรแก้ไขจำนวนเงินในคำพิพากษาจาก 6,592.44 บาท เป็น 206,634.61 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต้องพิจารณาพฤติการณ์โดยรวม ไม่ถือเป็นผิดนัดหากไม่มีเจตนา
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ตกลงรับเงินจากจำเลย 100,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดละ 50,000 บาท งวดแรกชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 งวดที่สองชำระภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ส่วนข้อตกลงที่ว่าหากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง (867,765.50 บาท) เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการบังคับจำเลยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องตีความสัญญาส่วนนี้ไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่าผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดนั่นเอง จำเลยทำรายการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ในงวดที่หนึ่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ทำรายการครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 โดยเป็นการทำรายการโอนเงินก่อนถึงกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวด ในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวดนั้น ธนาคารทำการหักเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยทันที พฤติการณ์ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิจำนองเหนือการบังคับคดี และสิทธิในการรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
แม้ผู้ร้องจะมิได้ร้องขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายในสิบปี อันทำให้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สิทธิจำนองของผู้ร้องยังคงอยู่ ซึ่งการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนองของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลย ศ. และ ส. จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจำนองในคดีนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 และในกรณีที่โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้บางส่วนโดยผู้ค้ำประกัน ไม่ปลดหนี้ลูกหนี้ชั้นต้นและผู้ค้ำประกันรายอื่น
ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6414/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชี้ขาดการรับผิดตามเช็ค แม้มีข้อต่อสู้เรื่องการชำระหนี้ก่อน แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่มาตรา 244/1 ดังกล่าวบัญญัติเพิ่มโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 9 บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และมาตรา 2 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย จำเลยนำสืบว่า โจทก์ปล่อยเงินกู้แก่พนักงานบริษัท ท. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน โดยจำเลยทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกหนี้ โจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของเงินกู้ แต่จำเลยต้องมอบเช็คไว้ให้แก่โจทก์ เพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้โจทก์ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับลูกหนี้แต่ละรายชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ หากเป็นความจริงดังข้อต่อสู้ของจำเลย การออกเช็คเพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้แก่โจทก์นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกกับการที่จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ จากนั้นจำเลยกับโจทก์จึงจะมาคิดหักทอนบัญชีเกี่ยวกับมูลหนี้ หากโจทก์ไม่ได้รับเงินที่จำเลยเก็บจากลูกหนี้ โจทก์ก็จะได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเก็บเงินจากลูกหนี้แล้ว ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คนั้น จะอ้างว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ เมื่อเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีของโจทก์ยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการชำระเงินซึ่งเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สมดังข้ออ้าง จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
of 261