พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,604 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องหนี้ซื้อขายทองคำ: เริ่มนับจากวันครบกำหนดชำระ ไม่ใช่เมื่อขายทองคำเพื่อบรรเทาความเสียหาย
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิเรียกร้องชำระหนี้และการรับผิดของลูกหนี้เมื่อถูกอายัดเงินจากเจ้าหนี้อื่น
จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 (บึงกาฬ) ให้แก่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งค่าจ้างที่แขวงการทางดังกล่าวจะชำระให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 เมื่อใด ทั้งแขวงการทางดังกล่าวก็ไม่เคยส่งเงินค่าจ้างดังกล่าวมาให้แก่โจทก์ แต่แขวงการทางหนองคายที่ 2 ส่งเงินจำนวน 2,403,558.82 บาท ไปยังศาลจังหวัดหนองคายตามคำสั่งอายัดเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี จนถึงอายัดเงินดังกล่าวชั่วคราว การที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกให้โจทก์แทนการชำระหนี้ เมื่อค่าจ้างงานที่โอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถูกเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้ชั่วคราว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 322 และจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดของโจทก์ตามมาตรา 482 (1) แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้เช็ค การหักชำระหนี้ และขอบเขตการระงับคดีอาญาต่อคดีแพ่ง
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ย่อมระงับไปด้วยผลข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพราะโจทก์ได้รับเงินครบถ้วนแล้วนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้วเท่านั้น จำเลยยังมีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอยู่ ไม่อาจจำหน่ายคดีตามคำร้องของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาการออกเช็คเพื่อชำระหนี้หรือประกันหนี้ ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงอื่นประกอบ
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย, สัญญาเงินกู้, การชำระหนี้, ดอกเบี้ยผิดนัด, การคิดดอกเบี้ย
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
แบ่งมรดก-จัดการทรัพย์สิน: ทายาทจัดการมรดก, แบ่งทรัพย์สิน, ชำระหนี้, และแบ่งส่วนที่เหลือตามสัดส่วน
แม้คดีนี้โจทก์นำสืบในทำนองว่า น. มีส่วนร่วมวางแผนกับคนร้ายที่ฆ่าผู้ตาย และฎีกาว่า น. จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย แต่ได้ความว่า น. ถึงแก่ความตายหลังผู้ตาย 2 วัน และไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกคือผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1606 (1) การที่มีผู้ลงบทความเรื่องคำรับสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหารในเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต ถึงกรณีที่จำเลยที่ 1 ในคดีของศาลอาญา ให้การรับสารภาพว่า น. เป็นคนใช้จ้างวานให้ตนไปฆ่าผู้ตาย ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ยุติโดยคำพิพากษา และ น. มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยอันเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการพิสูจน์ว่า น. เป็นผู้ร่วมฆ่าผู้ตายโดยเจตนาหรือไม่ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 1606 (1) ดังกล่าว น. จึงไม่เป็นบุคคลผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย และย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
แผนฟื้นฟูกิจการ: ข้อกำหนดชำระหนี้เจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอ และความชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้ว ภายใต้บังคับมาตรา 90/58 (2) ประกอบมาตรา 130 (6) สิทธิของกรมศุลกากรและกรมสรรพากรเจ้าหนี้รายที่ 66 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น หนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่แล้วหรือจะมีขึ้นต่อไปก็อาจถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ได้ และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 35 - 36/2544 แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถใช้ดุลพินิจเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการที่ให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากมูลหนี้ภาษีอากรได้
ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 นั้น หลังจากที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนแล้ว จะต้องให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง แผนจึงจะมีผลบังคับผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้บริหารแผนมีหน้าที่ในการดำเนินการตามแผนและดำเนินการชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ การที่แผนจะกำหนดให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไปตกลงกันต่างหากในสาระสำคัญนอกเหนือจากแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วไม่อาจทำได้ และตามบทบัญญัติมาตรา 90/61 เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ เว้นแต่แผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ ซึ่งแผนจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่า จะให้เจ้าหนี้รายใดที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด ซึ่งข้อเสนอในแผนดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และได้รับความเห็นชอบจากศาล ซึ่งกรณีดังกล่าว ศาลย่อมจะต้องพิจารณาถึงเหตุอันสมควรและความเป็นธรรมในการที่แผนจะกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้
แม้แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ลูกหนี้โดยผู้บริหารแผนพิจารณาร่วมกันกับคณะกรรมการเจ้าหนี้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางการค้าปกติที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยนำวิธีการและเงื่อนไขเดียวกับเจ้าหนี้ตามแผนในลักษณะหนี้ประเภทนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่มิได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ในแผนว่าเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีรายใดบ้างและมีจำนวนหนี้เท่าใด ซึ่งมีผลให้การได้รับชำระหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนส่วนนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ข้อนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อกำหนดในแผนข้างต้น เป็นข้อกำหนดที่ไม่เป็นข้อสำคัญอันจะทำให้แผนฟื้นฟูกิจการทั้งฉบับตกไปเสียทีเดียว แผนส่วนอื่น ๆ ยังใช้บังคับได้
ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 นั้น หลังจากที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนแล้ว จะต้องให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง แผนจึงจะมีผลบังคับผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้บริหารแผนมีหน้าที่ในการดำเนินการตามแผนและดำเนินการชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ การที่แผนจะกำหนดให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไปตกลงกันต่างหากในสาระสำคัญนอกเหนือจากแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วไม่อาจทำได้ และตามบทบัญญัติมาตรา 90/61 เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ เว้นแต่แผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ ซึ่งแผนจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่า จะให้เจ้าหนี้รายใดที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด ซึ่งข้อเสนอในแผนดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และได้รับความเห็นชอบจากศาล ซึ่งกรณีดังกล่าว ศาลย่อมจะต้องพิจารณาถึงเหตุอันสมควรและความเป็นธรรมในการที่แผนจะกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้
แม้แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ลูกหนี้โดยผู้บริหารแผนพิจารณาร่วมกันกับคณะกรรมการเจ้าหนี้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางการค้าปกติที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยนำวิธีการและเงื่อนไขเดียวกับเจ้าหนี้ตามแผนในลักษณะหนี้ประเภทนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่มิได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ในแผนว่าเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีรายใดบ้างและมีจำนวนหนี้เท่าใด ซึ่งมีผลให้การได้รับชำระหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนส่วนนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ข้อนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อกำหนดในแผนข้างต้น เป็นข้อกำหนดที่ไม่เป็นข้อสำคัญอันจะทำให้แผนฟื้นฟูกิจการทั้งฉบับตกไปเสียทีเดียว แผนส่วนอื่น ๆ ยังใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4684/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีเช็คคืน หนี้นอกระบบสิ้นสุดจากการชำระหนี้ ทำให้คดีอาญาเลิกกัน
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้นำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปฟ้องและมีการบังคับคดี โดย ป. จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.25/2563 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามเช็คพิพาทย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4677/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและยอดชำระหนี้ ผู้ให้กู้ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้าตามสัญญา
แม้ตามสัญญากู้ข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ได้ตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ทราบโดยปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการของโจทก์ผู้ให้กู้ เมื่อตามฟ้องและทางนําสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจทราบได้ว่าต้องชําระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นและยอดชําระในแต่ละเดือนที่มากขึ้นหรือไม่ ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นําสืบว่าได้มีการแจ้งยอดหนี้ค้างชําระให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบในแต่ละเดือน ทั้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชําระหนี้ในยอดเงินที่เพิ่มขึ้นซึ่งตามสัญญาข้อ 4 วรรคท้าย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้เพื่อให้การชําระคืนเงินตามสัญญาเสร็จภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ข้างต้น ซึ่งการคิดคํานวณอัตราดอกเบี้ย การชําระหนี้ รวมทั้งยอดหนี้ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ดังนั้นโจทก์จึงสามารถตรวจสอบได้ว่าเพื่อให้การชําระหนี้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2562 โจทก์ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชําระเงินคืนในแต่ละเดือนจำนวนเท่าใด ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาชําระหนี้ถือว่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาซึ่งมีผลต่อการผิดนัดชําระหนี้ตามสัญญา จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องคิดคํานวณและเรียกชําระเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ในแต่ละเดือนที่จะทำให้การชําระหนี้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์หาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเพื่อขอหักเงินชําระคืนจำนวนที่มากขึ้นไม่ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4457/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลำดับบุริมสิทธิหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: การบังคับคดีและการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้จำนอง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 29 กำหนดเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ก็ต่อเมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง ส่วน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2558 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือไปยังผู้ร้อง ที่บัญญัติเพิ่มมาตรา 309 จัตวา ซึ่งวรรคสองและวรรคสามของมาตราดังกล่าวเป็นทำนองเดียวกับมาตรา 335 แห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งใช้บังคับขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดนั้นเป็นเพียงการยกเว้นให้ไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกรณีที่ซื้อห้องชุดได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระแก่นิติบุคคลอาคารชุดในกรณีที่นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เพื่อมิให้ผู้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ อันเป็นการจูงใจและลดอุปสรรคในการขายทอดตลาดห้องชุดให้สามารถจำหน่ายได้ในเวลาที่รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม หาใช่บทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงลำดับบุริมสิทธิของค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 ให้เป็นอย่างอื่น หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงต้องด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดและถ้าผู้จัดการได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง