คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ถือหุ้น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 257 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจบังคับคดีของผู้ถือหุ้นที่พ้นสภาพเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว: การฟ้องแทนบริษัทและการมีส่วนได้เสีย
การฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นมิใช่เป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิในการฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ การฟ้องคดีแทนบริษัทของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ด้วย ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ เพราะหากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด
โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องคดีแทนบริษัท ส. ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ขายหุ้นส่วนของตนในบริษัทออกไปหมดแล้ว โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อีก และถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น: ผู้รับมอบฉันทะต้องมีสถานะผู้ถือหุ้น
ตามข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นประธานในที่ประชุมได้ ต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและได้รับเลือกจากที่ประชุมในขณะนั้นให้เป็นประธาน พ. ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่ได้รับมอบฉันทะจากผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โดยตามหนังสือมอบฉันทะระบุว่า ให้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนผู้คัดค้านที่ 2 พ. จึงมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนตามที่ได้รับมอบฉันทะเท่านั้น ไม่มีอำนาจกระทำการอื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวหาทำให้ พ. มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดไม่ เพราะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสถานะเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นเป็นแทนได้ การที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเลือก พ. เป็นประธาน แล้ว พ. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นย่อมขัดต่อข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจทำให้การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการประชุมและลงมติโดยไม่ชอบ จึงต้องเพิกถอนการลงมติในการประชุมครั้งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัท แม้ไม่มีการจัดทำใบหุ้น การโอนหุ้นให้บุตรก็ต้องแจ้งผู้ถือหุ้นเดิม
ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และข้อบังคับจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุว่า หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อ ส่วนข้อ 3 ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นนั้น ผู้จะโอนจะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหลังจากนั้นแล้ว 30 วัน หากไม่มีผู้ใดประสงค์จะรับโอน จึงจะโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ และจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการด้วย แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นแต่ละราย แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ด้วย แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการ แต่เมื่อข้อบังคับบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้และผูกพันเป็นสัญญาในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทกำหนดให้การโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ย่อมเป็นหน้าที่ของบริษัทต้องดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริษัทเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับ การไม่มีคณะกรรมการบริษัทมิใช่เหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งข้อบังคับจำเลยที่ 1 มิได้มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายในครอบครัวหรือการโอนหุ้นให้แก่บุตรแล้วมิต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 3 การที่ จ. โอนหุ้นตามฟ้องให้จำเลยที่ 3 บุตรของ จ. ซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่เป็นบุคคลภายนอก โดยมิได้บอกกล่าวให้แก่โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น ๆ ทราบเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมมีโอกาสรับโอนหุ้นจาก จ. ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อนจึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585-586/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสิ้นสุดเมื่อผู้ถือหุ้นถูกริบหุ้นและบริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
ขณะยื่นคําฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นโจทก์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยจัดประชุมเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แย่งสิทธิการถือหุ้นและอำนาจบริหารของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ แต่เมื่อระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เนื่องจากโจทก์ค้างชําระค่าหุ้น ต่อมาโจทก์ได้ขอรับเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือจากการขาดทอดตลาดแล้ว และคดีอาญาซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยและกรรมการจำเลยว่าร่วมกันลักทรัพย์โดยการริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดและนําหุ้นดังกล่าวออกขายทอดตลาดและรับของโจร ศาลฎีกามีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยและกรรมการจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยอีกต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้วก่อนที่จะมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้อง จึงถือว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหมดลง
นอกจากนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 โดยขอให้ใช้จำนวนและอำนาจกรรมการชุดเดิมก่อนวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 มีผลบังคับและมีอำนาจต่อไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยจดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการชุดเดิมซึ่งถูกแต่งตั้งตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงหมดสภาพไปแล้วเนื่องจากจำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และได้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้ว คําขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคําขอท้ายฟ้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติลด/เพิ่มทุนผิดระเบียบ: การออกเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย, การล้างผลขาดทุน, และผลกระทบต่อสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย
การลดทุนจดทะเบียนด้วยวิธีการลดจำนวนหุ้นเพื่อนําทุนที่ชําระไว้แล้วไปตัดผลขาดทุนสะสมนั้น สามารถกระทำได้ แต่เนื่องจากหุ้นของผู้คัดค้านในขณะนั้นมีการชําระค่าหุ้นไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนที่ขาดทุนสะสมได้เกิดขึ้นก่อนการลงมติพิเศษให้ลดทุนแล้ว ผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นจะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนต่อการขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย ก่อนที่จะลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นลง ผู้คัดค้านจะต้องให้ผู้ถือหุ้นที่ยังชําระค่าหุ้นไม่เต็มจำนวนค่าหุ้นชําระค่าหุ้นให้เต็มตามมูลค่าหุ้นเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่ถูกลดจำนวนหุ้นลงต้องสูญเสียเงินลงทุนในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละหุ้น แต่กรณีนี้ขณะที่มีมติพิเศษให้ลดทุน หุ้นที่ถูกลดลงไปนั้นมีการชําระค่าหุ้นไม่เท่ากัน คือ หุ้นที่ชําระเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้ว 25 บาท เมื่อถูกลดจำนวนหุ้นลง ผู้ถือหุ้นในส่วนนี้ก็ต้องสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 25 บาท แต่ในส่วนหุ้นที่ชําระไม่เต็มตามมูลค่าหุ้นหรือชําระเพียง 6.25 บาท เมื่อถูกลดจำนวนหุ้นลงผู้ถือหุ้นในส่วนนี้ก็จะสูญเสียเงินลงทุนเพียง 6.25 บาท ซึ่งหุ้นที่มีการชําระค่าหุ้นเพียง 6.25 บาท ถือโดยบริษัท ท. เพียงรายเดียว เมื่อลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นลงจะทำให้บริษัท ท. ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องชําระค่าหุ้นในส่วนที่ถูกลดจำนวนลงเพราะเมื่อจำนวนหุ้นถูกลดลงไปแล้วก็ไม่มีผลผูกพันที่จะต้องชําระค่าหุ้นอีกต่อไป คงต้องชําระค่าหุ้นเฉพาะหุ้นที่ยังเหลืออยู่เพื่อให้เต็มตามมูลค่าหุ้นเท่านั้น ดังนั้น บริษัท ท. จึงเป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียวที่ได้รับประโยชน์จากมติการลดทุนโดยลดจำนวนหุ้นครั้งนี้ บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติพิเศษเพื่อลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ อันต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1185 เมื่อไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้ว คะแนนเสียงที่ได้รับก็ไม่ถึงจำนวนสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 1194 ถือไม่ได้ว่าเป็นมติพิเศษให้ลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิตามมาตรา 1145 และมาตรา 1224 ประกอบมาตรา 1194 แต่เป็นมติพิเศษอันผิดระเบียบ กรณีมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านในวาระที่ 3 และที่ 4 เรื่องพิจารณาลดทุนจดทะเบียนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุน และเมื่อเป็นดังนี้แล้ว การลงมติในวาระที่ 5 และที่ 6 อันเป็นการลงมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุน ซึ่งต้องอาศัยมติให้ลดทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการลดทุนในวาระที่ 3 และที่ 4 เสียก่อน ย่อมมีผลเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย กรณีจึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านในวาระที่ 5 และที่ 6 เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนต้องเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ห้ามผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียออกเสียง และมติพิเศษต้องเป็นไปตามกฎหมาย
การลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมของบริษัทสามารถกระทำได้ แต่การลงมติในการประชุมใหญ่ต้องกระทำให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการประชุมใหญ่ ในการลดทุนโดยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 25 บาท ผู้ถือหุ้นทุกรายจะต้องถูกลดมูลค่าหุ้นที่ได้ชำระแล้วในจำนวนที่เท่ากัน แต่ในส่วนของหุ้นที่ยังชำระไม่เต็มมูลค่าหุ้นโดยชำระเพียง 25 บาท การลดทุนจดทะเบียนโดยการลดมูลค่าหุ้นในหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นที่ไม่เท่ากันนี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นไม่เท่ากัน โดยผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วจะสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 75 บาท ในขณะที่ผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นไปเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน จะลดมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้วจาก 25 บาท เป็นชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 6.25 บาท และผู้คัดค้านเรียกให้ชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนอีกเพียงหุ้นละ 18.75 บาท เท่ากับผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน สูญเสียเงินลงทุนไปเพียงหุ้นละ 18.75 บาท อันเป็นจำนวนที่ต่างกันมาก ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าหุ้นก่อนลดทุน และการขาดทุนสะสมได้เกิดขึ้นแล้วก่อนการลงมติพิเศษให้ลดทุนผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นจะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้นต่อการขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกคน ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นทุกรายชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนค่าหุ้นเสียก่อนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่จะต้องสูญเสียเงินลงทุนในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละหุ้น กรณีเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัท ท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่เต็มมูลค่าเพียงรายเดียวโดยชำระเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนการลดทุน เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมติพิเศษในการประชุมนี้เพียงรายเดียว บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติพิเศษเพื่อลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ จึงต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1185 เมื่อไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้ว มติดังกล่าวก็ไม่ใช่คะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 1194 มติดังกล่าวจึงไม่เป็นมติพิเศษให้ลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิตามมาตรา 1145 และมาตรา 1224 ประกอบมาตรา 1194 แต่เป็นมติพิเศษอันผิดระเบียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านในวาระพิจารณาลดทุนจดทะเบียนและพิจารณาแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1300/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน กรณีแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยเจตนา
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หุ้นทุก ๆ หุ้นจำต้องใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221" วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่" มิได้มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่าหากมิได้ดำเนินการตามมาตรา 1119 แล้ว จะทำให้การเป็นผู้ถือหุ้นเป็นโมฆะ หรือกลับกลายเป็นไม่เป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ดังนั้น บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงมีผลแต่เพียงว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวยังมิได้ใช้เงินเป็นค่าหุ้นแก่บริษัทเท่านั้น กรรมการจึงสามารถที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทเสียเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1124 ทั้งตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในขณะที่ ส. ยังมีชีวิตอยู่ ส. ก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นส่งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิษณุโลก ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าหุ้นแล้วหรือไม่ และโดยวิธีใด เพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการเรียกเงินค่าหุ้น จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่เคยได้รับมอบใบหุ้น ไม่เคยเข้ามีส่วนได้เสียในบริษัท เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น การรับรู้ส่วนได้เสียของบริษัท เช่น กำไร ขาดทุน นั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ออกใบหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ไปรับหรือไม่ จำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือเชิญประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแล้วหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจะว่าโจทก์ไม่ได้รับมอบใบหุ้นและไม่เข้ามามีส่วนได้เสียของบริษัทหาได้ไม่ จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 และ ป.อ. มาตรา 137
แม้คำฟ้องของโจทก์ ข้อ 2.1 ที่บรรยายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น โจทก์จะมิได้บรรยายเจตนาพิเศษมาในคำฟ้องก็ตาม แต่ต่อมาในข้อ 2.3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 และฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำการหรือยินยอมให้มีการปลอมบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามฟ้อง ข้อ 2.1 เพื่อลวงโจทก์ให้ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) แล้ว ดังนี้ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว
of 26