คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลิขสิทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 300 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงผ่านระบบแชร์เน็ตเวิร์ค: โจทก์ต้องพิสูจน์การกระทำความผิดฐานทำซ้ำ ไม่ใช่แค่เผยแพร่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ร่วมโดยการนำเอาเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามฟ้องมาทำซ้ำลงในหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) แล้วติดตั้งในระบบเอ็มพี 3 ใช้ระบบแชร์เน็ตเวิร์ค ซึ่งเมื่อใช้แผ่นซีดีที่มีเพลงเอ็มพี 3 ใส่เข้าไปในหน่ายประมวลผลกลางแล้วพ่วงกับหน่วยประมวลผลกลางอื่นสามารถเรียกเพลงออกมาฟังได้โดยมีสัญญาภาพออกมาทางจอมอนิเตอร์เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้า ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 และ 68 แสดงว่า โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในการทำความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงซึ่งไม่ใช่เรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพราะงานที่ถูกบรรจุใหม่ในหน่วยประมวลผลกลางนั้นเป็นงานที่ถูกทำซ้ำขึ้นมาใหม่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การเผยแพร่งานที่บรรจุไว้ในหน่วยประมวลผลกลางดังกล่าวต่อสาธารณชนจึงไม่ใช่ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (2) และไม่อาจถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้ลงโทษจำเลยในเรื่องการเผยแพร่งานซึ่งได้ทำขึ้นมาใหม่โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรทางการด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายมาตรานี้ไว้ในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3093/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 และการขยายอายุความตามหลักอนุสัญญาเบอร์น
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 ทั้งฉบับ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 ก็บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ทั้งฉบับ แต่ยังคงมีบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ที่ให้งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีผลบังคับได้รับความคุ้มครองเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ต่อไปตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เมื่อตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่นั้นได้กล่าวถึงทั้งเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไปเพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวทั้งหมดใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ดังนั้น ประโยคที่ว่าให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้จึงหมายถึงให้นำบทบัญญัติในหมวดหมู่ต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ไปใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ. ฉบับเก่าหรืองานที่เพิ่งมีลิขสิทธิ์หลังจาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น ข้อความที่ว่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ จึงย่อมหมายถึงได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติในส่วนต่างๆ ของกฎหมายใหม่รวมถึงในส่วนที่ว่าด้วยอายุการคุ้มครองด้วย การตีความว่างานศิลปกรรมภาพตัวการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเดิมซึ่งมีอายุการคุ้มครอง 30 ปี มีอายุแห่งความคุ้มครองขยายออกไปเป็น 50 ปี นับแต่มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกดังกล่าว โดยผลของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้วยังสอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญาเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกหลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 แต่ก่อนที่จะมีการตรา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รูปแบบรายการเกมโชว์ไม่เป็นงานลิขสิทธิ์ประเภทงานนาฏกรรม, ศิลปประยุกต์, หรือวรรณกรรม
งานสถาปัตยกรรมต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (Building) ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ โดยตรง งานภาพร่างและงานภาพประกอบต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศหรือวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้
การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา มิใช่งานเกี่ยวกับการรำการเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรม รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รูปแบบรายการเกมโชว์ไม่ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรมหรือนาฏกรรมตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์ที่นำเอางานศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง ภาพประกอบ และหรืองานสถาปัตยกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมารวมกัน ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า "ศิลปกรรม" ไว้ ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ โดยตรง สำหรับงานภาพร่างและงานภาพประกอบนั้น ตามนิยามศัพท์ข้างต้น งานภาพร่างและงานภาพประกอบจะต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ใช่งานภาพร่างหรืองานภาพประกอบใดๆ ก็ได้ เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้วย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้
นาฏกรรม หมายความว่า "งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว" แต่การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใดๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา ไม่ใช่งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรมได้ รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์: การคุ้มครองงานวรรณกรรมที่เกิดจากความรู้ ความสามารถ และการรวบรวมข้อมูล
เอกสารประชาสัมพันธ์เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าของโจทก์เข้าร่วมสัมมนาที่โจทก์จัดขึ้น องค์ประกอบสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์การอบรมสัมมนาดังกล่าว ไม่ว่าผู้ใดจัดอบรมสัมมนาก็ต้องระบุชื่อผู้จัดการอบรม ชื่อหลักสูตร หัวข้อการอบรม ชื่อวิทยากร อัตราค่าอบรม วัน เวลา สถานที่อบรม เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอบรมหรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่จำต้องระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ทั่วไป ดังนั้น ชื่อหรือหัวข้อหลักสูตรการสัมมนาตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละสถาบันจึงอาจซ้ำกันได้ เมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์แล้ว ส่วนที่สำคัญที่เป็นสาระคือหัวข้อสัมมนาหรืออบรม ซึ่งแม้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดลำดับเกี่ยวกับทางบัญชีและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของชื่อหัวข้อซึ่งอาจจะซ้ำกับคนอื่นได้ เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่ถึงกับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญาวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานนิพนธ์อันเป็นวรรณกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในการจัดอบรม แม้จะมีลักษณะข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสัมมนาของโจทก์อยู่บ้าง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ และเมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เปรียบกับของจำเลยทั้งสามแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์และจำเลยต่างวางตำแหน่งรูปรอยประดิษฐ์ลูกโลกอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของเอกสารเหมือนกัน ลูกโลกกลมมีขนาดเท่ากัน ตรงบริเวณกลางลูกโลกต่างมีคำภาษาอังกฤษว่า "CONSULTANT" เหมือนกัน แต่รูปลูกโลกของโจทก์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยทั้งสามไม่มีกรอบสี่เหลี่ยม ของโจทก์จะมีคำภาษาอังกฤษคำว่า "BUSINESS" เหนือคำว่า "CONSULTANT" แต่ของจำเลยทั้งสามเป็นคำภาษาอังกฤษว่า "ADVANCE" เมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นภาพรวมแล้วยังมีความแตกต่างกันในนัยสำคัญมาก ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันนำเอา ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์รูปลูกโลกในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 272 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษซ้ำตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์: การพ้นโทษด้วยการชำระค่าปรับ และความหมายของการพ้นโทษ
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 73 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีกต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าการพ้นโทษจะต้องเป็นการพ้นโทษจำคุกอย่างเดียว การปรับก็ถือว่าเป็นโทษอย่างหนึ่งตามป.อ. มาตรา 18 (4) ดังนั้น แม้คดีก่อนศาลจะลงโทษจำคุกและรอการลงโทษให้จำเลย แต่ปรากฏว่า คดีนั้นศาลก็ได้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วย เมื่อมีการชำระค่าปรับครบถ้วนในวันเวลาใด ย่อมถือว่าจำเลยได้พ้นโทษในวันที่ชำระค่าปรับนั้นแล้ว ได้ความว่าขณะกระทำความผิดคดีนี้ จำเลยยังชำระค่าปรับในคดีก่อนไม่ครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้พ้นโทษในคดีก่อนและเมื่อกลับมากระทำความผิดคดีนี้ ซึ่งแม้จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เช่นเดียวกันก็ไม่อาจระวางโทษสองเท่าแก่จำเลยตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 73 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางระวางโทษสองเท่าแก่จำเลยตามมาตรานี้ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1829/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ต่อสาธารณชน และบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ต้องเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ที่ว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยการนำแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะที่บันทึกเสียงเพลงและภาพงานเพลงซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองมาทำซ้ำ ถ่ายโอนข้อมูลบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วนำออกขาย หรือมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการทำซ้ำดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (1) และมาตรา 28 (1) เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ด้วยไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11316/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในสิ่งบันทึกเสียงและมาสเตอร์เทป: เจ้าของลิขสิทธิ์คือผู้ผลิตหรือผู้แต่งเพลง? ศาลยืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนักประพันธ์เพลงโดยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลง สิ่งบันทึกเสียงหรือต้นฉบับเพลง 52 เพลง จำเลยทั้งห้าละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์โดยนำสิ่งบันทึกเสียงหรือต้นฉบับเพลงดังกล่าวไปให้ผู้อื่นเช่าและใช้ประโยชน์ ทำซ้ำ ดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าและหากำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานบันทึกเสียงเพลงหรือต้นฉบับเพลง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เพลงดังกล่าวจัดทำมาสเตอร์เทปหรือต้นแบบแถบบันทึกเสียงเพลงขึ้นโดยเสียค่าตอบแทนแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ใช่เจ้าของมาสเตอร์เทปหรือต้นแบบแถบบันทึกเสียงเพลงดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นถึงเรื่องการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในคำร้องและทำนองเพลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยถึงประเด็นว่า โจทก์ได้โอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงซึ่งก็คือคำร้องหรือทำนองเพลงให้แก่จำเลยทั้งห้าหรือไม่ด้วยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอุทธรณ์ประเด็นนี้ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่อาจรับวินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10673/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการละเมิดลิขสิทธิ์เกมคอมพิวเตอร์: องค์ประกอบความผิดและข้อกำหนดการคุ้มครองลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติ "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "วีดิทัศน์" ว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น... และนิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ชื่อร้าน "ไอซ์เกมส" โดยทำเป็นธุรกิจและได้รับค่าตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยนำแผ่นดีวีดีเกมสไปเดอร์แมนและเกมสไปเดอร์แมน 3 เดอะเกมส์ ที่บันทึกเสียงและภาพ บรรจุลงในเครื่องเล่นเกมแล้วต่อสายไปเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณภาพ (โทรทัศน์) เพื่อให้ลูกค้าเช่าเล่นเกมและยึดได้เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูโทรทัศน์สี จอยสติ๊ก สายเอวี สายไฟฟ้าของกลาง กับแผ่นดีวีดีเกมซึ่งจัดเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นเกมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านไอซ์เกมส์ในลักษณะให้บริการลูกค้าเช่าผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ แผ่นดีวีดีเกมคอมพิวเตอร์ของกลางคดีนี้จึงเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงในลักษณะที่ผู้เล่นสามารถนำมาเล่นโดยฉายภาพและเสียงผ่านเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูและโทรทัศน์ได้อย่างต่อเนื่อง อันจัดเป็นวีดีทัศน์ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด รวมทั้งรายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ รวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หมายถึง งานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการให้ความคุ้มครองที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้
ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมของตนเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 และปี 2549 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10212-10215/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ต้องระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องคดี
สัญญารับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ที่มีข้อตกลงกำหนดให้ในกรณีที่มีข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทหรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ เป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งต้องเสนอข้อพิพาทที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 11 เมื่อการวินิจฉัยในปัญหาระหว่างคู่สัญญาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของสัญญาเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนย่อมขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
of 30