คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เสียชีวิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 278 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจ DNA ยืนยันความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตแล้ว
การตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟังดังปรากฏตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 การที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย ข. ส่งผลการตรวจ ดี เอ็น เอ มาศาล โดยมิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ซึ่งสามารถกระทำได้และศาลสามารถรับฟังผลการตรวจ ดี เอ็น เอ ประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 130 และเนื่องจากผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ การใช้กระบวนการทางเลือกโดยให้ตรวจหาความสัมพันธ์ของบุคคลจาก ข. บิดาของผู้ตาย แล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น จึงเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ เมื่อผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับ ร. ในปี 2551 เมื่อ ร. คลอดผู้ร้องทั้งสอง ผู้ตายเป็นผู้แจ้งเกิดและยินยอมให้ผู้ร้องทั้งสองใช้นามสกุลผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายแสดงออกเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตร เมื่อพิจารณาประกอบผลการตรวจสารพันธุกรรม ดี เอ็น เอ ว่าผู้ร้องทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นหลาน - ปู่ กับ ข. บิดาของผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนรับบุตรหลังเสียชีวิต: สิทธิทางศาลและการคุ้มครองประโยชน์เด็ก
การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 วรรคสาม และในกรณีที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งต่อนายทะเบียนว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1549 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรตั้งแต่วันที่เด็กเกิด กรณีเช่นนี้แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสามและวรรคสี่ และแม้เด็กหรือบิดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว ก็ให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานของเด็กหรือเด็กที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับมรดกระหว่างกันอันมีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 1556 วรรคสี่ และมาตรา 1558 สำหรับคดีนี้เป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่าให้ผู้อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย โดยมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1552 ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก...ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" คำว่า "ไม่อาจให้ความยินยอม" ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีแพ่งขัดกับข้อเท็จจริงเรื่องการเสียชีวิตของจำเลย ทำให้ฟ้องและกระบวนการพิจารณาเป็นโมฆะ ต้องจำหน่ายคดี
จำเลยถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดีจึงไม่มีสภาพบุคคลในขณะโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์มิอาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลได้ ฟ้องของโจทก์และกระบวนพิจารณานับแต่ศาลชั้นต้นรับฟ้องมาจึงมิชอบ แต่เมื่อรับฟ้องไว้แล้ว จึงต้องจำหน่ายคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินสงเคราะห์ตกทอดหลังเสียชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์สินที่บังคับคดีได้
เงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การคำนวณค่าขาดไร้อุปการะหลังคู่กรณีเสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายเพราะเหตุละเมิด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 หน้าที่ในการอุปการะของผู้ตายในฐานะสามีของโจทก์ที่มีต่อโจทก์จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ตามที่โจทก์เรียกร้องเป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันทำละเมิดคือ วันที่ 17 มกราคม 2554 จึงมากเกินสมควร กรณีมีเหตุสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ใหม่ตามส่วนที่โจทก์เรียกร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9006/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสซ้อนเป็นโมฆะ แม้คู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิตก่อนฟ้อง ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องได้
ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ท. นั้น ท. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วและยังคงเป็นคู่สมรสกับโจทก์ตลอดมาจนกระทั่ง ท. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามมาตรา 1497 แม้ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. สิ้นสุดลงไปก่อนโจทก์ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. ยังเป็นโมฆะอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8366/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อผู้ร้องเสียชีวิต และผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลต่อไป การเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ร้องไม่อาจรับมรดกความกันได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะต้องวินิจฉัยปัญหาตามที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องอีก ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินประกันสังคมกรณีเสียชีวิต: ทายาทตามกฎหมายพิเศษ vs. ทายาทโดยธรรม
เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายนั้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้บัญญัติให้จ่ายแก่บุคคลตามมาตรา 73 (2) และทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 77 จัตวา ตามลำดับ เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อีกทั้งประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายได้มาเนื่องจากความตายหรือได้มาภายหลังที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนโดยแท้ ไม่เป็นทรัพย์มรดก
โจทก์เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ประกันตน ไม่ใช่บุคคลและทายาทผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2), 77 จัตวา จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การมีวัตถุระเบิดและการกระทำความผิดจนผู้อื่นเสียชีวิต
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง แล้วใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวปาใส่บุคคลที่นั่งชมการแสดงหมอลำจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 ได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาเดียวคือกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย กับผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้และฐานใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ฐานกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส ฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับคดีจากกองมรดก: โจทก์มีสิทธิบังคับคดีภายใน 10 ปี แม้จำเลยเสียชีวิต ไม่ถือฟ้องคดีมรดก
คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้
of 28