คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บังคับคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีที่ชอบด้วยกฎหมายหลังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กลับ การถอนการบังคับคดี และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 211/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โดยขณะนำยึดทรัพย์สินนั้นคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่และยังไม่ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) และบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี แม้ศาลแพ่งจะได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะถอนการบังคับคดีโดยโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับคดีไว้ และแม้เมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ได้ชำระก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 (3) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากการลาออกงาน ไม่อยู่ในความรับผิดบังคับคดี ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 24 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 และมาตรา 23/3 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โดยมาตรา 23/3 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิจะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไป ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ลูกจ้างเพื่อสร้างความต่อเนื่องของการออมเงินโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คดีนี้เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินสะสมด้วยเหตุออกจากงานให้แก่โจทก์ไว้ก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานแล้วใช้สิทธิคงเงินทั้งหมดที่จะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไปตามมาตรา 23/3 เงินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับโอนที่ดินบังคับคดีโดยวิธีพิเศษและอำนาจฟ้องขับไล่ แม้มีการโอนสิทธิระหว่างดำเนินคดี
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ ซึ่งการรับโอนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับแก่กรณีปกติทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ
ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษปรับรายวันและการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาล, อำนาจดุลพินิจศาลในการลดโทษ, และข้อจำกัดในการฎีกา
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องเริ่มนับวันที่ปิดประกาศคำสั่งเป็นวันแรกของการนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง
ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบัญญัติให้ศาลต้องแสดงเหตุผลเมื่อไม่ลดโทษให้ผู้กระทำความผิด ทั้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ระบุเหตุผลอาจเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือเห็นว่าไม่สมควรลดโทษในส่วนโทษปรับรายวันให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ฉะนั้น การที่ศาลไม่ได้ลดโทษปรับรายวันให้จำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเหตุผล จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 78

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อผิดนัดชำระ การบังคับคดีต้องเป็นไปตามส่วนที่ผิดสัญญา การตีความสัญญาต้องเป็นคุณแก่ลูกหนี้
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การทำหนังสือมอบอำนาจ และการใช้คำสั่งศาลแทนเจตนา
ในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ นอกจากจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. แล้ว จำเลยที่ 2 ยังเป็นบุตรของโจทก์กับ ก. และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ด้วย ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.ก) เลขที่ 2273, 2274 และ 2270 การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิได้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เท่านั้น แต่ยังเป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงด้วย
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 6 ร่วมกันหรือแทนกันมอบเงิน 7,000,000 บาท ให้โจทก์เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว โดยหาได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มอบเงินแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้วและประสงค์จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ไม่ แม้ภายหลังศาลมีคําพิพากษาให้ถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. และคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็มิได้ทำให้สิทธิของจำเลยที่ 2 ในการเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสื่อมเสียไป
แม้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 โดยได้รับความเห็นชอบจากทายาทของเจ้ามรดก แต่ก็ได้ความตามคําแถลงของจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ว่า ตนเองและทายาทตามพินัยกรรมไม่ติดใจบังคับตามพินัยกรรม ขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ทายาทของ ก. ยินยอมให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในการทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว นอกจากนี้สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ยังระบุอีกว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. จะให้ความร่วมมือแก้ปัญหาเพื่อให้มีการดำเนินการจนลุล่วงไปโดยสมบูรณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงลายมือชื่อผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 2 กำหนดและศาลชั้นต้นได้ออกคําบังคับตามคําพิพากษาตามยอมดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความและเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีจนแล้วเสร็จได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง
เมื่อการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความคงเหลือเพียงการทำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เพื่อให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ให้ความร่วมมือ จำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคําพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
จำเลยที่ 2 ยื่นคําร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคําพิพากษาตามยอมภายหลังจากที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนํา ป.วิ.พ. มาตรา 274 และ มาตรา 357 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่การบังคับคดีในคดีนี้ ศาลย่อมมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตคำขอท้ายฟ้อง, อายุความฟ้องอาญา, และการบังคับคดีให้ย้ายหลักเขตที่ดิน
แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) แต่คำขอท้ายฟ้อง โจทก์ไม่ระบุมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว จึงพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกินคำขอและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
ความผิดข้อหาเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตหรือหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่ไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม ป.ที่ดิน มาตรา 67 เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหาย
คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยย้ายหลักเขตที่ดินกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลกำหนดให้จำเลยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งจำเลยไม่จำเป็นต้องกระทำการด้วยตนเองโดยตรง และหากไม่ดำเนินการโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกกระทำการแทน โดยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 358

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาสละสิทธิบังคับคดีร่วมกันของผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ชั้นต้นมีผลผูกพันรวมกัน ย่อมระงับหนี้ทั้งหมด
หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ข้อตกลงในคดีอาญาของศาลจังหวัดนครนายกมีความว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 3 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าวแล้วจะถอนฟ้องไม่ติดใจบังคับคดีในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วในเวลาที่กำหนด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยและคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยการยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ข้อตกลงนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามมาตรา 852 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามผลแห่งคำพิพากษาเป็นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตกลงกับโจทก์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะหากจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดและได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้อีกตามมาตรา 693 ซึ่งโดยเหตุผลแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5094/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การทุบรั้วกำแพงถือเป็นการทำลายทรัพย์สินและผิดสัญญา
โจทก์บรรยายคำขอออกหมายบังคับคดีไว้โดยละเอียดถึงข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าได้มีการตกลงกันอย่างไร หากมีการผิดสัญญาจะต้องบังคับคดีกันอย่างไร ทั้งได้ระบุไว้ด้วยว่า "จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว" อันเป็นการกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับ รวมถึงวิธีการที่โจทก์จะขอให้บังคับคดีแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างไร โจทก์บรรยายไว้โดยละเอียดแล้วตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และโจทก์ประสงค์ให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว ประกอบกับศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งยกคำขอออกคำบังคับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพียงให้เพิกถอนคำสั่งในการออกคำบังคับเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เนื่องจากได้มีการออกคำบังคับไว้ที่หน้าปกสำนวนในวันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมแล้วเท่านั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่งตอนท้าย ให้อำนาจศาลในการมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 มาประกอบการพิจารณาทำคำสั่งในการออกหมายบังคับคดีจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276
แม้บริเวณที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงจะอยู่ในบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองและทำเพื่อเป็นทางเข้าออกบริเวณบ้านของตนก็ตาม แต่เมื่อรั้วกำแพงดังกล่าวเป็นของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงดังกล่าวจึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของโจทก์
สัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 5 ระบุให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกในบริเวณที่ดินของโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่คัดค้าน มีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองตามที่สร้างไว้เดิมเท่านั้น มิได้หมายความถึงขนาดให้จำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์เพื่อสร้างทางเข้าออกเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ในขณะที่มีทางเข้าออกเดิมอยู่แล้วแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ทำลายทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 โจทก์มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความหลังสิ้นสุดสัญญาเช่า จำเลยผิดสัญญา ศาลมีคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย
หลังจากโจทก์ร่วมโอนที่ดินพร้อมอาคารให้บุตรสาวแล้วได้มีหนังสือแจ้งจําเลยว่า โจทก์ร่วมได้รับมอบอำนาจจากบุตรสาวให้เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่ากับจําเลย เป็นการแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมและผู้รับโอนที่ดินพร้อมอาคารยังมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอยู่ การที่จําเลยมีหนังสือขอหลักฐานการรับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมพร้อมกับขอลดค่าเช่าจากเดิมที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความแสดงให้เห็นว่า จําเลยมิได้ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้ แต่ยื่นข้อเสนอใหม่ที่แตกต่างจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากนั้นจําเลยก็ไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับบุตรสาวของโจทก์ร่วม ทั้งหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ออกหลังจากสัญญาเช่าที่ดินพร้อมอาคารพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมกับจําเลยสิ้นสุดไปแล้ว จึงเชื่อได้ว่า ขณะศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จําเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ คำสั่งของศาลที่หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดี หรือยกเลิกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและงดการบังคับคดี
of 270