คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บังคับคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4523/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: ยึดทรัพย์เพิ่มเมื่อทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ & ขยายเวลาบังคับคดี
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม แต่ทรัพย์จำนองมีราคาประเมินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ประกอบกับเหตุที่การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ ดังนั้น การยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ก่อน แต่ห้ามนำออกขายทอดตลาดจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนจึงค่อยนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ซึ่งไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดี และน่าจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ โจทก์จึงมีสิทธินำยึดที่ดินดังกล่าวของจำเลยเพิ่มเติมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีจำนองหลังการล้มละลาย: เจ้าหนี้มีประกันต้องดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินหลังศาลมีคำสั่งอนุญาต
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 โดยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ในมูลหนี้จำนองตามมาตรา 95 ประกอบมาตรา 22 การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 งดดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่น มีผลเป็นการสละสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 145 (3) ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินในกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ต้องมีหน้าที่รวบรวมนำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นเพื่อนำมาแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ และไม่มีอำนาจต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 22 (3) แทนจำเลยที่ 2 อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงด้วยตนเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป การที่ศาลล่างมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4457/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: การบังคับคดีและการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้จำนอง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 29 กำหนดเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ก็ต่อเมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง ส่วน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2558 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือไปยังผู้ร้อง ที่บัญญัติเพิ่มมาตรา 309 จัตวา ซึ่งวรรคสองและวรรคสามของมาตราดังกล่าวเป็นทำนองเดียวกับมาตรา 335 แห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งใช้บังคับขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดนั้นเป็นเพียงการยกเว้นให้ไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกรณีที่ซื้อห้องชุดได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระแก่นิติบุคคลอาคารชุดในกรณีที่นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เพื่อมิให้ผู้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ อันเป็นการจูงใจและลดอุปสรรคในการขายทอดตลาดห้องชุดให้สามารถจำหน่ายได้ในเวลาที่รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม หาใช่บทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงลำดับบุริมสิทธิของค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 ให้เป็นอย่างอื่น หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงต้องด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดและถ้าผู้จัดการได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-สิทธิจำนอง: แม้ไม่บังคับคดีตามคำพิพากษา แต่สิทธิจำนองยังคงมีอยู่
เดิมโจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนด้วย โจทก์ย่อมเป็นผู้สืบสิทธิที่อยู่ในฐานะเดียวกันกับธนาคาร น. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน เมื่อคดีก่อน โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวอีกต่อไป การที่โจทก์ในฐานะผู้สืบสิทธิของธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อน นำคดีมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก ถือว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว และประเด็นที่ศาลวินิจฉัยในคดีก่อนเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์เดิมในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองโดยวินิจฉัยว่าโจทก์เดิมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและมีสิทธิบังคับจำนอง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองเดียวกันอีก คดีนี้จึงมีประเด็นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระหนี้และบังคับทรัพย์จำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองที่ดินพิพาทได้ระงับสิ้นไป สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินยังคงมีอยู่และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน-เจตนาสละสิทธิ-การบังคับคดีไม่ชอบ
การทำหนังสือสัญญาธุรกิจระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. และการทำคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวพันและเป็นลำดับสืบเนื่องกันมา ถือได้ว่า อ. เป็นตัวแทนของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จึงมีผลผูกพันโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ไว้ในหนังสือสัญญาธุรกิจ และโจทก์ยื่นคำร้องโดยระบุข้อความว่า ขอถอนฟ้อง ประกอบกับโจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการโดยมิได้ออกเงินลงทุนเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้คดียุติลงอย่างแท้จริง โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกัน และโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาธุรกิจและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จึงเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีที่โจทก์ยอมรับในศาลแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยแปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาธุรกิจครบถ้วนแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ย่อมระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยยึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ หมายบังคับคดีและการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นดำเนินการจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2774/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา
กรณีที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นหลักประกันเดียวกับหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์เดียวกันและโจทก์ยื่นฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์และศาลแขวงขอนแก่น เมื่อปรากฏว่าศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นศาลที่มีคำพิพากษาและออกหมายบังคับคดี แม้ทรัพย์จำนองจะตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นและเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดกาฬสินธุ์มีหนังสือขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์และทำการขายทอดตลาดแทน และต่อมาศาลแขวงมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีอำนาจพิจารณา ทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ที่บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่กำหนดไว้ในมาตรา 271" และมาตรา 271 บัญญัติให้ ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 276 และมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น คือศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เพราะขณะมีการยึดทรัพย์คดีนี้ศาลแขวงขอนแก่นยังมิได้มีคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษา: ศาลต้องแจ้งคู่ความเพื่อคัดค้านก่อนออกคำสั่ง
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 271 กำหนดว่า ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีและมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น ดังนั้น กระบวนการบังคับคดีให้เป็นไปคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทุกชั้นศาล จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นในชั้นต้น และมาตรา 357 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ได้กำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวนั้นจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล" ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้จำเลยทั้งสองกระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คำร้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 นั้น เป็นคำร้องที่ ป.วิ.พ. มิได้บัญญัติว่าให้ทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) บัญญัติห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ผู้เสียหายมีสิทธิขอคืนทรัพย์สิน
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำห้องชุด 84 ห้อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเงิน 40,000,000 บาท หากขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ชดใช้คืนเพียงเท่าที่ขายได้ กรณีขายทอดตลาดได้เงินเกินจำนวนดังกล่าว ให้เงินส่วนที่เกินพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินนั้น เมื่อเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำไปซื้อห้องชุดเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐาน อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้าน กรณีจึงต้องคืนห้องชุด 84 ห้องแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหก โดยไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 6 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในเวลาที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา กำหนดว่า การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง (1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง (2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 249 หรือในข้อกำหนดนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย เมื่อคำร้องขออนุญาตฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ระบุถึงประเด็นปัญหาตามฎีกาประเด็นใดไว้ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะขออนุญาตฎีกาในประเด็นปัญหานั้น และปัญหานั้นได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การยึดทรัพย์ และการคำนวณหนี้สุทธิที่ค้างชำระ
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสิบข้อ 8 ตกลงกันว่า หากจำเลยทั้งสิบผิดนัดชำระหนี้ยอมโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารแนบท้ายส่วนที่เหลือทั้งหมดแก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีมูลค่าเท่ากับมูลค่าคงเหลือจากการปลอดจำนอง คล้ายกับเป็นการโอนทรัพย์สินตีใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม แต่ผลจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้จำเลยทั้งสิบพ้นจากการถูกบังคับคดีโดยได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้และหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไปเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่า ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังสามารถประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินต่อไปรวมถึงการโอนขายที่ดินในโครงการแก่ผู้ซื้อโดยปลอดจำนองเป็นรายแปลงและมีโอกาสหาเงินผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์แม้จะได้รับดอกเบี้ยแต่ต้องแบกรับความเสี่ยงหากท้ายที่สุดจำเลยทั้งสิบไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องหาวิธีลดความเสี่ยงโดยตกลงว่าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว หากจำเลยทั้งสิบไม่อาจชำระหนี้ก็ต้องโอนทรัพย์จำนองส่วนที่เหลือจากการขายทั้งหมดแก่โจทก์ หากบังคับจำนองรายแปลงอาจจะยุ่งยากและขายไม่ได้ สัญญาประนีประนอมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบมิใช่การทำสัญญาตีใช้หนี้ที่จำเลยเพียงเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินไปชำระหนี้แก่โจทก์ หากแต่เป็นการประนีประนอมยอมความโดยแต่ละฝ่ายต่างยอมสละสิทธิบางอย่างของตนเพื่อแลกกับประโยชน์ที่จะได้มา ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างพิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มค่าและเป็นธรรม ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่กัน ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันราคาท้องตลาดทรัพย์ที่ต้องโอนชำระหนี้แก่โจทก์เพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาตลาดที่ตกลงกันไว้ก็ตาม ฝ่ายจำเลยจะกลับมาอ้างว่าต้องตีราคาใหม่ตามราคาท้องตลาดปัจจุบันเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่ทำสัญญาไว้ย่อมเป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือการใช้สิทธิบังคับชำระหนี้แต่ประการใด กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม อีกทั้งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการระงับข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ซึ่งกระทำต่อหน้าศาลและคู่ความได้ตรวจสอบแล้วไม่มีฝ่ายใดคัดค้านว่าสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาข้อหนึ่งข้อใดฝ่าฝืนต่อกฎหมายจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ว่าถูกอีกฝ่ายฉ้อฉลหลอกลวงหรือคำพิพากษาขัดต่อกฎหมายดังที่ยกขึ้นเป็นเหตุขอให้เพิกถอนการบังคับแต่ประการใด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมถึงที่สุดและผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 147
หมายบังคับคดีระบุชัดเจนว่าให้จำเลยทั้งสิบปฏิบัติตามคำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสิบต้องรับผิด แม้ระหว่างปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยทั้งสิบชำระเงินบางส่วน ซึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 ก่อน เหลือเท่าใดจึงจะเป็นจำนวนหนี้ที่โจทก์สามารถบังคับคดียึดทรัพย์สินจำเลยทั้งสิบได้ การคำนวณดังกล่าวเป็นขั้นตอนของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการต่อไป และเมื่อทราบจำนวนหนี้สุทธิก็สามารถยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบโดยไม่ต้องรอให้จดทะเบียนรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนเพราะตามคำพิพากษารวมถึงสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องจดทะเบียนรับโอนทรัพย์สินส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนจึงจะบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบได้ การยื่นหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ได้ข้ามขั้นตอนกฎหมาย การออกหมายบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีใหม่หลังมีสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ศาลต้องพิจารณาในคดีเดิม
สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีก่อนถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอยู่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเข้าไปในคดีเดิมตาม มาตรา 7 (2) โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีดังกล่าวมาฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีใหม่ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ตาม มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
of 270