คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บังคับคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองเมื่อมีการบังคับคดี: ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น
ถ้าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่น ตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่การบังคับคดีดังกล่าวต้องไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นของบุคคลภายนอกหรือบุคคลใดที่มีอยู่เหนือสิทธินั้น ตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 หมวด 2 ส่วนที่ 6 สิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี ได้ความว่า จำเลยที่ 14 ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 69 แปลง ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดในคดีนี้ นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 12 ต่อธนาคาร พ. ต่อมาผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคาร พ. ที่มีต่อจำเลยที่ 12 ทั้งหมด และมีการจดทะเบียนการโอนสิทธิเรียกร้องต่อเจ้าพนักงาน ดังนี้ เมื่อผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องทั้งปวงที่ธนาคาร พ. มีต่อจำเลยที่ 12 หากธนาคาร พ. มีสิทธิในฐานะผู้รับจำนองแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 14 ซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 12 อย่างไร ผู้ร้องย่อมรับโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวด้วย และสิทธิในฐานะผู้รับจำนองดังกล่าวของผู้ร้องย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 324 (1) ซึ่งบัญญัติให้บุคคลใดที่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในกรณีเป็นผู้รับจำนอง บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นได้ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีข้อจำกัดว่าบุคคลนั้นจะต้องเป็นบุคคลภายนอกเหมือนเช่นมาตรา 322 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกที่อาจจะได้รับการกระทบกระทั่งจากการบังคับคดี แตกต่างกับสิทธิของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 324 ดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 322 บัญญัติไว้แต่ต้นว่าเป็นกรณีภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 324 ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 322 เป็นกรณีนอกเหนือจากสิทธิที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 324 ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดิน 69 แปลง อันเป็นสิทธิตามกฎหมายสารบัญญัติที่กฎหมายให้การรับรองคุ้มครอง ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมีฐานะเป็นจำเลยที่ 13 ในคดี ก็ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองสิทธิของตนในฐานะผู้รับจำนองได้ และการที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 69 แปลง ก่อนเจ้าหนี้อื่นก็หาได้กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับคดีแก่เงินจำนวนดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะโจทก์ยังสามารถร้องขอให้บังคับคดีแก่เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการไม่ดำเนินการตามข้อตกลงยกเว้นการบังคับคดี - ความรับผิดทางแพ่ง - ค่าเสียหาย - ค่าฤชาธรรมเนียม
การที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้กันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายกล่าวคือ โจทก์ได้รับการผ่อนเวลาชำระหนี้และไม่ต้องกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ส่วนจำเลยก็มีทางได้รับชำระหนี้โดยไม่จำต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยงดการบังคับแก่โจทก์ไว้ก่อนนั่นเอง จำเลยจึงต้องดำเนินการงดการบังคับคดี และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีสำหรับกรณีที่พิพาทนี้ได้ ย่อมต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (3) กล่าวคือ จำเลยต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไว้ โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้งดการขายทอดตลาดมอบไว้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไป เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะไปดูแลการขายทอดตลาดหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (1) การที่โจทก์ไม่ไปดูแลการขายทอดตลาดหาได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย หรือจะถือว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหาย อันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิด เมื่อการทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยต้องถูกขายทอดตลาดไปจำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวรวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง
เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มีภาระจำนองกับธนาคาร อ. และถูกขายทอดตลาดโดยจำนองติดไปย่อมเป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นภาระหนี้ไปตามจำนวนดังกล่าวและต้องนำมาคิดหักจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันทำละเมิด
ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่ว่านี้หมายถึง การกระทำเกี่ยวกับสินค้าที่ขายหรือผลิต หรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดผลหรือมีลักษณะตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันด้วยข้อพิพาทที่เกิดจากสินค้าที่ขาย หรือผลิต หรือการให้บริการ อันเป็นการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนั้นเอง แต่การกระทำที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ยึดไว้ตามที่โจทก์กับจำเลยตกลงกัน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไป ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากตัวสินค้าและบริการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการรื้อถอนอาคารอันตราย ผู้รับโอนสิทธิไม่ต้องรับผิดค่าธรรมเนียม
ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์และเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 โดยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถว 3 ชั้น ของจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกันซึ่งโจทก์ได้ยึดเพื่อดำเนินการบังคับคดีไว้แล้ว ต่อมาสำนักงานเขตคันนายาวแจ้งผู้คัดค้านให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวเนื่องจากมีสภาพหรือมีการใช้งานที่อาจเป็นอันตราย เมื่อการที่อาคารต้องถูกรื้อถอนไปในระหว่างการบังคับคดีและไม่อาจนำมาขายทอดตลาดได้เกิดจากการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยไม่ใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือความไม่สุจริตของโจทก์หรือผู้ร้องซึ่งรับโอนสิทธิและหน้าที่จากโจทก์ ทั้งมิใช่การถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) (3) (4) (6) และ (7) ที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ผู้ร้องต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินส่วนตัว vs. สินสมรส: การยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ก่อนยึด
แม้ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 20948 จะเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินกรรมสิทธิ์รวมโฉนดเลขที่ 2996 โดยที่ดินพิพาท 2,000 ส่วน ผู้ร้องรับโอนมาจาก จ. มารดาจากการยกให้โดยเสน่หาจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ส่วนที่ดินอีก 492 ส่วน ที่ผู้ร้องซื้อมาจาก น. ระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาท ผู้ร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 492 ส่วน ให้แก่ ว. น้องสาวของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 492 ส่วนนั้นแล้ว คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เฉพาะในที่ดิน 2,000 ส่วนเท่านั้น กรณีจึงไม่มีสินสมรสระคนปนอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทอันจะเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรส ทั้งพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องและเจ้าของรวมอื่นได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดแล้ว กรณีจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ร้องจึงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20948 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงมิใช่สินสมรสของจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง ซึ่งโจทก์จะยึดนำออกขายทอดตลาดได้ จึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกัน และการบังคับคดีตามคำพิพากษา
คำร้องของโจทก์ที่ 1 มีคำขอให้ประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งกำหนดว่าจะให้ถือตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกันคดีใด เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้ประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกัน ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ส่งคำร้องนั้นแล้วมีคำสั่งยกคำร้องเสียได้ กรณีนี้เป็นเรื่องของอำนาจร้องจึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจและพิจารณาสั่งคำร้องไปตามลำดับชั้นศาล ศาลชั้นต้นหาได้มีคำสั่งยกคำร้องโดยก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยชี้ขาดว่าให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบังคับคดีจำนอง: สิทธิจำนองยังคงอยู่ แม้พ้นระยะเวลาบังคับคดี
ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และ 745 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. ดังนั้น เมื่อ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 274 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตาม ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งหลังจำเลยเสียชีวิต: ศาลมีอำนาจบังคับคดีจากทายาทได้
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีในคดีส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง สิทธิในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และสิทธิของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยังคงมีอยู่ ไม่ระงับไป
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิของตนเองต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน
ดังนั้น การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 จึงเป็นการแต่งตั้งตัวแทน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย อำนาจของทนายจำเลยหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายไม่ เมื่อทนายจำเลยมิได้ดำเนินการในคดีส่วนแพ่งภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ สิทธิในการบังคับคดีที่เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ความรับผิดตามคำพิพากษาย่อมตกทอดแก่ทายาทของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการเพิกถอนการขายทอดตลาด: ศาลมีอำนาจดุลพินิจในการงดการบังคับคดีและพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า คำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีกับคำร้องของดการบังคับคดีที่จำเลยทั้งสี่ยื่นต่อศาลชั้นต้นถือเป็นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ซึ่งชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดี นั้น เมื่อพิจารณา ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสาม บัญญัติว่า "การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้น ให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวในตอนท้ายอันเกี่ยวกับการที่ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีจะขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ก็ได้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง มิได้เป็นบทบังคับศาลให้ต้องมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีแต่ประการใด การพิจารณาว่าในระหว่างนั้นมีเหตุสมควรงดการบังคับคดีหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งตามดุลพินิจที่เห็นสมควรเป็นรายกรณีไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ว่า "ศาลได้มีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีคำร้องนี้จึงตกไปในตัว" จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นยกคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นตามที่เห็นสมควร และเมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ตามคำขอของจำเลยทั้งสี่ ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยเหตุใด ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (1) ถึง (4) กับมาตรา 290 แล้ว การบังคับคดีและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำไปเพื่อบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญา การบังคับคดีรื้อถอนทรัพย์สิน
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง อ้างว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน คือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊ส รวมทั้งอาคารพักพนักงานจำนวน 2 ชั้น ฯลฯ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยเป็นผู้ขออนุญาตและปลูกสร้างเอง การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินอีก 13 เดือน แม้ไม่ได้ระบุถึงกรณีให้รื้อถอนหรือขนย้ายถังแก๊สใต้ดิน ถังน้ำมันใต้ดิน และอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ตกลงให้ทรัพย์สินของจำเลยบนที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ ไม่มีเหตุที่โจทก์จะเก็บถังน้ำมัน ถังเก็บแก๊สแอลพีจี และสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ ตามพฤติการณ์แห่งคดี เห็นได้ว่า ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยต้องการย้ายทรัพย์สินของตนออกจากที่ดินพิพาท และโจทก์ต้องการให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยออกไปจากที่ดินเช่นกัน เมื่อจำเลยไม่ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีรื้อถอน การใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมาย และความรับผิดในละเมิด
แม้ในคดีก่อนศาลพิพากษาให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมออก มิได้ระบุให้รื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนด้วย แต่ก่อนทำการรื้อถอนเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้นว่าขณะเข้าทำการรื้อถอนพบว่ากำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่จะต้องรื้อถอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโจทก์ และขอหารือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการรื้อถอนต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ให้โจทก์รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมทั้งหมดออก ย่อมมีความหมายว่าโจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ไม่สามารถกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อมต่อกับกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่โจทก์ทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ในระหว่างการพิจารณาได้ และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำทางภาระจำยอมต่อไป โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การรื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่เป็นการบังคับคดีที่เกินไปกว่าคำพิพากษาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
ป.วิ.พ. มาตรา 296 เบญจ วรรคสอง (เดิม) กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ ณ บริเวณที่จะทำการรื้อถอนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก็เพื่อให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันใดเท่านั้น หาใช่ว่าจะต้องทำการปิดประกาศให้ทราบล่วงหน้าทุกครั้งที่จะเข้าทำการรื้อถอนไม่ เมื่อได้ความว่าในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 และหรือในวันต่อ ๆ ไปจนกว่าจะทำการแล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมสามารถทำการรื้อถอนในวันดังกล่าวและวันต่อมาได้โดยไม่จำต้องปิดประกาศแจ้งกำหนดนัดรื้อถอนให้โจทก์ทราบใหม่ทุกครั้ง การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร้องขอและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภาระจำยอมจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย มิได้กระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิด จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
of 270