คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ก่อสร้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 306 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2005/2492 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมให้ก่อสร้างอาคารล้ำหลังคา และสิทธิในการฟ้องร้องเมื่อไม่ละเมิดสิทธิ
การที่ยอมให้ผู้ครอบครองที่ดินใกล้เคียงปลูกอาคาร หลังคาเหลื่อมล้ำคลุมหลังคาเรือนของตนบางส่วนเช่นนี้ ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้รื้อถอนไป และแม้ผู้ปลูกสร้างอาคารในที่ดินใกล้เคียงจะปลูกผิดเทศบัญญัติก็ดี หากมิได้ละเมิดสิทธิโจทก์ ๆ ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 764/2484

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจปกครองวัดร้าง: การก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต
คณะกรมการอำเภอมีหน้าที่ปกครองรักษาวัดร้างที่ไม่มีสุงฆ์อาศัยรวมทั้งธรณีสงฆ์ที่ขึ้นแก่วัดนั้นด้วย ถ้าผู้ใดเข้าปลูกสร้างวัดย่อมมีอำนาจสั่งห้ามได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดขอบเขตค่าเสียหายจากการก่อสร้าง, ฎีกาต้องห้ามค่าฤชาธรรมเนียม, และการพิพากษาค่าเสียหายที่เหมาะสม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 2 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 50,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำหรับคดีของโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่ชอบ หาก่อให้เกิดสิทธิฎีกาแก่จำเลยทั้งสองไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 85,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพิ่มอีก 100,000 บาท เท่ากับจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำนวน 185,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอนาคตดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาสำหรับคดีของโจทก์ทั้งสองเกินกว่า 50,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ ก็เป็นเรื่องสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งสองหามีผลย้อนไปถึงสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ซึ่งต้องห้ามให้กลับมีขึ้นมาใหม่ไม่ เพราะสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของคู่ความนั้น จำต้องพิจารณาถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความแต่ละฝ่ายแยกต่างหากจากกัน มิเช่นนั้นจะกลับกลายเป็นว่าสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองขึ้นอยู่กับการอุทธรณ์หรือฎีกาของโจทก์ทั้งสอง กล่าวคือ หากโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงด้วย หากโจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริง มิได้ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง คดีคงเหลือปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอย่างเดียว ซึ่งข้ออ้างในฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกำหนดค่าทนายความที่จำเลยทั้งสองผู้แพ้คดีต้องใช้แทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้ค่าทนายความตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์ทั้งสองก็เป็นจำนวนที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทน: ข้อพิพาทจากการร่วมประกอบการก่อสร้าง การแบ่งผลกำไรตามสัดส่วนการลงทุน
การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14938/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของคู่สัญญาและผู้ควบคุมงานในสัญญาจ้างก่อสร้าง กรณีงานล่าช้าและค่าล่วงเวลา
เมื่อความล่าช้าของงานก่อสร้างเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 สัญญาจ้างควบคุมงาน ข้อ 19 วรรคแรก ระบุกรณีที่ผู้รับจ้างของหมวดงานใดหมวดงานหนึ่งหรือหลายหมวดงานปฏิบัติงานล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างก่อสร้างเนื่องจากความผิดของผู้รับจ้างของหมวดงานนั้น ที่ปรึกษาจะได้รับค่าจ้างในอัตราตามที่ระบุไว้ในสัญญาของแต่ละหมวดงาน ตามจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติล่วงเลยกำหนดเวลานั้นต่อเมื่อผู้ว่าจ้างได้เรียกร้องเอาจากผู้รับจ้างมาจ่ายให้ที่ปรึกษา จำเลยที่ 1 ได้หักเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้จำเลยที่ 2 ในกรณีที่โจทก์ทั้งสามได้ปฏิบัติงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ทั้งสาม จึงต้องรับผิดชำระค่าควบคุมงานในส่วนที่จำเลยที่ 2 ทำงานเกินกำหนดเวลา 28 วัน ตามที่ระบุในสัญญาแก่โจทก์ทั้งสาม แต่สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้หักเงินหรือได้เรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เพื่อนำมาจ่ายให้โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเรียกเงินส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ และในระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแต่ละฉบับของคู่สัญญากำหนดไว้ว่าหากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างตามจำนวนเงินที่กำหนดและจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เมื่อโจทก์ทั้งสามได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าได้เข้ารับเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องผูกพันรับผิดตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการควบคุมงานก่อสร้าง มีหน้าที่ควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญาก่อสร้าง และให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในฐานะต้องรับผิดชอบหากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ทั้งตามข้อกำหนดในสัญญาระบุว่าการทำงานล่วงเวลาต้องได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อนทุกครั้งและต้องมีตัวแทนผู้ควบคุมงานอยู่ด้วยตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องแจ้งความจำนงไปยังโจทก์ว่าจะทำงานล่วงเวลา มิใช่โจทก์เป็นผู้สั่งและการทำงานล่วงเวลาถ้าเป็นผลทำให้งานตามสัญญาจ้างของผู้รับจ้างทำเสร็จเร็วขึ้น ถือเป็นประโยชน์ของผู้รับจ้างโดยตรง ซึ่งตามสัญญาจ้างได้กำหนดให้ผู้รับจ้างซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการทำงานล่วงเวลามีหน้าที่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 1 จึงหาต้องร่วมรับผิดชำระค่าล่วงเวลาด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514-10515/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าเป็นพ้นวิสัยจากเหตุมีคำสั่งขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ทำให้ไม่สามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อก่อสร้างใหม่ได้
จำเลยร่วมถูกหมายเรียกเข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนอันเป็นกรณีร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ซึ่งตามมาตรา 58 ให้ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (3) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาหมดสิทธิที่จะขอศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอมาถูกต้องในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความชอบแล้ว
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ตามแบบแปลนท้ายสัญญาเช่า โดยมีการกำหนดเวลาเริ่มลงมือก่อสร้างและเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จไว้ การที่โจทก์ไม่สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้ สืบเนื่องมาจากพื้นที่เช่าได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานภายหลังจากทำสัญญาเช่าแล้ว การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ของโจทก์เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาเช่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ถือได้ว่าการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนกัน แม้จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาค่าตอบแทนการเช่าที่ชำระไปแล้วในวันทำสัญญาคืนจากจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16469/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยต้องมีเหตุให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้อย่างเด็ดขาดและถาวร การขาดแหล่งทุนไม่ใช่เหตุพ้นวิสัย
การชำระหนี้ที่ตกเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 มีความหมายว่า ในเวลาที่คู่สัญญาก่อหนี้นั้น วัตถุแห่งหนี้เป็นสิ่งที่สามารถชำระหนี้ได้ หากแต่มีพฤติการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นภายหลังจากก่อหนี้เป็นเหตุให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างเด็ดขาดและเป็นการถาวรตลอดไป ลูกหนี้จึงจะหลุดพ้นจากหนี้ได้
จำเลยทำสัญญาจะขายอาคารชุดให้แก่โจทก์ การที่สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยถูกระงับไม่ให้ดำเนินกิจการ ไม่ใช่พฤติการณ์ที่ทำให้การก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยตกเป็นอันพ้นวิสัย เป็นเพียงเหตุขัดข้องที่ทำให้จำเลยต้องแสวงหาแหล่งทุนใหม่ อันอาจทำให้จำเลยต้องเสียเวลาในการก่อสร้างอาคารชุดและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้จำเลยก่อสร้างอาคารชุดอย่างสิ้นเชิง การที่สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยถูกปิดกิจการไม่เป็นพฤติการณ์ที่ส่งผลให้การก่อสร้างอาคารชุดตกเป็นอันพ้นวิสัย จำเลยไม่หลุดพ้นจากหน้าที่ต้องสร้างอาคารชุดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10926/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน (สำเนาหนังสือราชการ) ในการพิสูจน์ความเสียหายจากงานก่อสร้าง
เมื่อจะเริ่มขุดท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือในงานราชการของกรุงเทพมหานครพร้อมแบบแปลน ให้หน่วยงานสาธารณูปโภคทราบ แสดงว่าเอกสารเป็นสำเนาหนังสือราชการ ซึ่งต้นฉบับถูกส่งให้แก่หน่วยงานสาธารณูปโภคแล้ว จำเลยสามารถหาสำเนามาส่งศาลเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น ซึ่งจำเลยระบุไว้ในบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 30 เมษายน 2555 และได้นำมาถามค้าน ส. พยานโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้คัดค้านการยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมและการอ้างส่งเอกสารศาลจึงรับฟังเอกสารเป็นพยานหลักฐานในสำนวนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6698/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน: จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่ก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์จะชำระค่างวดแล้ว
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยทั้งหกจึงมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือ ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และแม้สัญญาจะไม่มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งหกจะต้องดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในเวลาอันสมควร เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดตามสัญญา คงเหลือเงินเพียงงวดสุดท้ายที่จะต้องชำระให้จำเลยทั้งหกในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่จำเลยทั้งหกกลับให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยมิได้ปฏิบัติการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ให้แล้วเสร็จ ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยทั้งหกจึงมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 211 โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดและถือว่าจำเลยทั้งหกเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยทั้งหกจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการรับผิดชำระหนี้ของผู้รับโอนสิทธิ
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ในค่าก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยที่ 2 และยังไม่ทราบจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ จึงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้จำนวน 10,250,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากจำเลยที่ 2 ทั้งหมดตามสัญญาจ้างเผื่อไว้ โดยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ระบุว่าหากเงินที่ได้รับโอนตามสิทธิเรียกร้องเกินกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ ให้โจทก์คืนส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น แม้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 3 จะมีข้อตกลงว่า หากเกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้รับโอนอันเนื่องมาจากการรับโอนสิทธิในการรับเงินรายนี้ ผู้โอนยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับโอนทั้งสิ้นก็ตาม ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันยอมชำระหนี้แก่โจทก์แม้จะได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายและไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือเป็นข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องก็สมบูรณ์ตามกฎหมายโดยจำเลยที่ 2 ไม่อาจโต้แย้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์
of 31