คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บริษัท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3987/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานฉ้อโกง: โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายหากเงินที่จ่ายเป็นเงินส่วนตัวของกรรมการผู้จัดการ ไม่ใช่เงินของบริษัท
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามปกติโจทก์ร่วมจ่ายเงินค่าซื้อข้าวโพดหวานให้เกษตรกรภายใน 7 วัน ถึง 15 วัน นับแต่วันที่ซื้อ หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะขอรับเงินก่อนภายใน 1 ถึง 2 วัน จะต้องขายลดสิทธิการรับเงิน โดยเกษตรกรต้องแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมเอกสารเสนอเพื่อขออนุมัติกับกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก่อน เมื่ออนุมัติแล้ว ม. กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมจะสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของตนเองจ่ายไปก่อน การจ่ายเงินของ ม. ดังกล่าวจึงเป็นเงินส่วนตัวของ ม.ทั้งสิ้นหาใช่เงินของโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจาก ม. ไม่ แม้ ม. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ ม. ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากการขายลดสิทธิที่เป็นกำไรเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตามที่โจทก์ร่วมยอมรับในคำแก้อุทธรณ์ ส่วนข้อที่กล่าวอ้างว่าให้ ม. จ่ายเงินส่วนตัวไปก่อนเพื่อมิให้ผิดหลักการการจ่ายเงินในการซื้อวัตถุดิบไม่ให้เสียระบบการจ่ายเงินนั้นไม่สมเหตุสมผล ทั้งไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3642/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของกรรมการบริษัทต่อการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แม้พ้นจากตำแหน่งแล้ว
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายจะดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ต้องกระทำโดยผู้แทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยและการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นความผิดตลอดเวลาที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 อันเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุแล้วก็ตาม แต่ก็หาเป็นเหตุให้มีผลลบล้างความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุไม่ หากจำเลยที่ 2 ต้องเสียหายจากการที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องดังกล่าวหลังจากนั้นอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าปรับตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการบริษัทไม่ต้องรับผิดส่วนตัวในสัญญาซื้อขาย หากทำหน้าที่ตามอำนาจและสัญญาทำในนามบริษัท
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2548 โจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นกล่องใส่ซีดีทำด้วยดีบุก จำนวน 5,000,000 ใบราคา 1,470,432 ดอลลาร์สหรัฐ และของเล่นเป็นรถไฟฟ้าทำด้วยไม้ระบบโซนิค จำนวน 5,501,500 ชิ้น ราคา 1,603,429 ดอลลาร์สหรัฐ จากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำร้อยละ 20 ของราคาสินค้าในแต่ละประเภทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าทั้งสองประเภทและไม่คืนเงินมัดจำ จึงเป็นการผิดสัญญาต้องคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้ในการติดต่อซื้อขายสินค้ากับโจทก์ โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยที่ 2 โดยการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงจำเลยที่ 1 แต่ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ 2 เขียนเพื่อแจ้งรายละเอียดของวันเวลาตามแผนงานการผลิตกล่องใส่ซีดีตั้งแต่วันเริ่มออกแบบจนถึงวันที่จัดส่งสินค้าเสร็จสิ้น และแจ้งราคาค่าเครื่องมือสำหรับผลิตกล่องใส่ซีดีและรถไฟไม้ให้โจทก์ทราบ รวมถึงการนัดหมายเชื้อเชิญให้โจทก์มาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะส่วนตัว อีกทั้งหลักฐานการโอนเงินก็เป็นชื่อบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว มิใช่จำเลยที่ 2 ประกอบกับการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นิติบุคคลย่อมจะต้องกระทำโดยผ่านจำเลยที่ 2 ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายสินค้าที่พิพาทกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพราะกระทำละเมิดแอบอ้างชื่อจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ นั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้สัญญาซื้อขาย โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิด ข้ออ้างดังกล่าวถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9423-9424/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของกรรมการผู้ลงลายมือชื่อเช็คที่ไม่สามารถใช้ได้ แม้เป็นการกระทำแทนบริษัท
จำเลยจะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือกระทำการแทนบริษัทจำเลยก็ต้องมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เนื่องจากการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและประทับตราสำคัญของบริษัทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามฟ้อง ย่อมถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็คพิพาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับบริษัทร่วมกันกระทำผิด และกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญเนื่องจากมิได้ส่งผลให้ผู้แทนหรือนิติบุคคลพ้นจากความรับผิดทางอาญา ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ด้วย จึงไม่มีเหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482-483/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท และผลต่อการฟ้องร้องคดี การแจ้งชื่อใหม่ทางเอกสารถือเป็นการแจ้งให้ทราบ
แม้โจทก์ยังไม่ได้พิมพ์โฆษณาชื่อโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแก้ไขใหม่ในราชกิจจานุเบกษา และ ป.พ.พ. มาตรา 1023 บัญญัติว่า บริษัทจะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนยังไม่ได้จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาแล้วก็ตาม แต่การบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้บุคคลทั่วไปทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทมีโอกาสทราบถึงรายการต่างๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่เมื่อตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต/ใบกำกับภาษีที่โจทก์ส่งให้จำเลยที่ 1 ได้ระบุชื่อโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแก้ไขใหม่ไว้แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบถึงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถยกเอาเรื่องที่ยังไม่มีการพิมพ์โฆษณาข้อความในส่วนชื่อโจทก์ที่มีการจดทะเบียนแก้ไขใหม่มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3694/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการเข้าร่วมเป็นโจทก์: กรรมการบริษัทต้องกระทำการในนามบริษัท ไม่ใช่ส่วนตัว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คให้แก่บริษัท ส. โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นและในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ผู้เสียหายในคดีนี้คือบริษัท ส. ไม่ใช่นาย ส. แม้นาย ส. จะเป็นกรรมการของบริษัท ส. แต่การกระทำการแทนบริษัทจะต้องลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท จึงจะมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ เมื่อปรากฏตามคำร้องของนาย ส. ว่าเป็นการยื่นคำร้องในฐานะส่วนตัว ดังนั้นนาย ส. จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นาย ส. เข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาต่อมา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัท กรณีมีทรัพย์สินคงเหลือ และผลกระทบต่อสิทธิผู้ถือหุ้น
ผู้ร้องเคยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่ก็มิได้หมายความว่าหากได้จดทะเบียนแล้ว หากมีเหตุจำเป็นขัดข้องจากการชำระบัญชีกิจการของบริษัทแต่เดิมแล้วจะมีการชำระบัญชีเพิ่มเติมใหม่อีกไม่ได้ ซึ่งก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดห้ามไว้ นอกจากนี้หากกรณีมีมูลเหตุข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าหลังจากจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ผู้ร้องตรวจสอบพบว่ายังมีที่ดินที่บริษัท ย. ถือกรรมสิทธิ์อยู่อีก 2 แปลง กรณีจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัทที่ยังคงหลงเหลืออยู่โดยมิได้มีการชำระบัญชีด้วยวิธีการเช่นใด ในเมื่อบริษัทมิได้ยังคงตั้งอยู่แต่สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลไปแล้ว และย่อมกระทบกับสิทธิที่จะได้รับแบ่งคืนทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นอีกด้วย ดังนั้น คดีมีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปิดเผยความลับทางการค้าต้องเป็นการเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ มิใช่แค่ใช้ภายในบริษัท หรือขายสินค้าที่ผลิตโดยใช้ความลับนั้น
กรณีจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าจำเลยทั้งหกได้เปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์ให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า แต่ตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา แม้ตามกฎหมายจะถือว่าจำเลยที่ 6 เป็นบุคคลซึ่งแยกออกมาต่างหากจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ผู้ร่วมกันจัดตั้งจำเลยที่ 6 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปใช้เองโดยวิธีการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 6 ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เท่านั้น ข้อมูลทางการค้าหรือความลับทางการค้านั้นก็คงอยู่ในความรับรู้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หรือจำเลยที่ 6 เท่านั้น มิได้เป็นการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้เป็นที่ล่วงรู้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วไปตามความในมาตรา 33 ดังกล่าว แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7625/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จากการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า vs. สัญญากู้ยืม: หนี้ไม่มีมูลหากเป็นหนี้บริษัทต่อบริษัท
บริษัท ส. ที่โจทก์เป็นกรรมการได้มอบเงินให้บริษัท ซ. ที่จำเลยเป็นกรรมการเป็นค่าสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามข้อตกลงในฐานะส่วนตัวของโจทก์กับจำเลย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ส. กับจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ซ. ต่อมาบริษัท ซ. จะต้องคืนเงินแก่บริษัท ส. แต่ได้ทำในรูปสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อรับผิดต่อโจทก์ หนี้ที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่บริษัท ซ. มีต่อบริษัท ส. ไม่ใช่เป็นหนี้ของจำเลยในฐานะส่วนตัว สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยไม่ได้นำสืบว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ ทั้งจำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์โดยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญา จึงรับฟังไม่ได้ว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ตามที่โจทก์อ้าง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์จำต้องกล่าวในฟ้องถึงการแปลงหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6783/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะบริษัทหลังจดทะเบียนเลิก และอำนาจฟ้องคดีของโจทก์
ในขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยนายทะเบียนได้ขีดชื่อบริษัทจำเลยออกจากทะเบียนแล้ว อันเป็นผลทำให้บริษัทต้องเป็นอันเลิกกันแต่เมื่อการเลิกโดยเหตุที่นายทะเบียนขีดชื่อนั้น เป็นการเลิกโดยเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย จึงต้องมีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 และมาตรา 1249 บัญญัติไว้ว่า แม้ว่าบริษัทจะเลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี เมื่อปรากฏว่ายังไม่มีการชำระบัญชีของจำเลยจึงถือว่าบริษัทคงตั้งอยู่ตลอดมา โจทก์จึงมีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป
of 29