คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ปลอมแปลงเอกสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 263 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกง-ปลอมแปลงเอกสาร: การกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว, เอกสารราชการ/เอกสารทั่วไป
แบบส่งเงินอายัด เป็นเอกสารที่ธนาคารจัดส่งเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 326/2558 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ รวมทั้งไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) และ (9) จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) เท่านั้น
ส่วนใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่เพื่อมอบให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานในการชำระภาษีบำรุงท้องที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แต่ไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ล้วนเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อหลอกลวงโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองทยอยมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้ง รวม 70 ครั้ง เป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำคดีอาญา และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร การกระทำความผิดร่วมกัน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 กฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจพิเศษในการสั่งลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดของจำเลยคดีนี้เป็นเรื่องปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งบริษัท
กองบังคับการปราบปรามนั้น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 จึงมีอำนาจสอบสวนคดีได้ทั่วราชอาณาจักรตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เพื่อที่จะไม่ให้ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกับอำนาจของพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุโดยตรง โดยให้คดีในลักษณะต่าง ๆ ที่ถือว่ามีความสำคัญหรือยุ่งยากเป็นพิเศษ เพื่อให้อยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เช่น เมื่อได้มีการรับเรื่องร้องทุกข์ไว้ดำเนินการแล้ว พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามก็มีอำนาจทำการสอบสวนไปได้ก่อนในเบื้องต้นพร้อมทั้งทำเรื่องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบและให้มีคำสั่งอนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไปตามระเบียบ ดังนั้น เอกสารที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามรวบรวมไว้ ย่อมเป็นเอกสารที่ได้มาโดยถูกต้องชอบดัวยกฎหมาย แม้ภายหลังผู้บังคับบัญชาจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไป ก็เป็นเพียงเรื่องภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีระเบียบกำหนดให้คดีในลักษณะดังกล่าวต้องมีการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุดำเนินการต่อไปเท่านั้น ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี ก็ได้มีการเรียกโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายให้มาดำเนินการร้องทุกข์ใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยในลักษณะที่คล้ายกับว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีเริ่มดำเนินการสอบสวนใหม่เองทั้งหมด ส่วนเอกสารหลักฐานที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งมาให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีก็รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนในลักษณะเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการสั่งสำนวนเท่านั้น หากเห็นว่า ยังขาดตกบกพร่องอยู่ในส่วนใดก็สามารถใช้ดุลพินิจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ได้ หรือหากเห็นว่าหลักฐานที่รวบรวมไว้โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามและส่งมาให้รวมไว้ในสำนวนการสอบสวนมีความชัดเจนเพียงพอแล้วก็สามารถใช้เอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นกลักฐานในสำนวนการสอบสวนต่อไปเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการสั่งคดีได้ โดยไม่ต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ร่วมกันปลอมเอกสาร รวมทั้งร่วมกันใช้เอกสารปลอม และสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการปลอมเอกสารหรือลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทหรือที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 นั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพียงเพื่อต้องการให้นายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรีจดทะเบียนแก้ไขจำนวนผู้ถือหุ้น แก้ไขจำนวนกรรมการเข้าและออก และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท พ. จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย
of 27