คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ป.วิ.พ.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 269 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10431/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และผลของการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เสียเอง จึงไม่ชอบ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์และสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยรวดเร็วจึงวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยให้เสร็จไปว่า คำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ จำเลยเพียงแต่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางต่อศาลชั้นต้น มิได้นำเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้น คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 234 ให้ยกคำร้อง จึงมีผลเป็นการที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง คู่ความฎีกาต่อไปอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6381/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้เฉพาะตัว ทุนทรัพย์น้อยกว่าสองแสนบาท ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248
ค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองเป็นระยะเวลา 18 ปี นานเกินไปไม่เหมาะสมกับความเสียหาย ถือว่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องวางพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หมายถึงค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษาเดิมเท่านั้น ไม่รวมค่าใช้จ่ายภายหลัง
เงินค่าธรรมเนียมที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หมายถึงเฉพาะค่าธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล หารวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีแล้ว ค่าใช้จ่ายในการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองจึงหาใช่ค่าธรรมเนียมที่ต้องนำมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7752/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์โรงงานเดิมที่เคยถูกพิพากษาแล้ว ถือเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145, 148
คดีก่อนที่ ช. ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองสืบเนื่องมาจากโรงงานน้ำมันพืชที่ ช. ซื้อมาปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทและขณะนั้น ช. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้ร้องด้วย แต่ศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องขออันแสดงว่า การที่ปลูกสร้างโรงงานน้ำมันพืชดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ส่วนคดีนี้แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลคนละคนกับ ช. ซึ่งเป็นผู้ร้องขอในคดีก่อน แต่โรงงานน้ำมันพืชที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่ผู้ร้องอ้างใช้สิทธิครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นโรงงานเดียวกันกับคดีก่อนที่ ช. ยื่นคำร้องขอ และเป็นเหตุผลเดิม จึงถือได้ว่า ช. และผู้ร้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามอีก จึงเป็นการยื่นคำร้องขอในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 กรณีพิพาทเรื่องการจัดการมรดกและพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาททั้งหมด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ป. เพียงผู้เดียว ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรม การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกัน แม้ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องเคยส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์แล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8324/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิถอนฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 ศาลอนุญาตได้แม้จำเลยคัดค้านหากยังไม่ได้ยื่นคำให้การ
ป.วิ.พ. มาตรา 175 ไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องแสดงเหตุผลในการถอนฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว โดยจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี เป็นการใช้สิทธิขอถอนฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำต้องฟังจำเลยที่ 2 ก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นคำคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ แต่คำคัดค้านมิใช่คำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7777/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซ้ำ และสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156/1 วรรคท้าย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฉบับที่สองของจำเลยโดยให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156/1 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3626/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนเกิน 5 ปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 ทำให้เงินตกเป็นของแผ่นดิน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 หมายถึงให้คู่ความหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับดำเนินการขอรับเงินดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดห้าปี หากไม่ดำเนินการขอรับไปภายในห้าปีนับแต่คดีถึงที่สุด เงินดังกล่าวยังคงค้างจ่ายอยู่ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดทำระบบบัญชีการเงินต่าง ๆ ของศาลและการนําเงินส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและสั่งคืนค่าขึ้นศาล 10,000 บาท แก่โจทก์ โดยทนายโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์มาศาลจึงถือว่าทราบคำสั่งในวันดังกล่าวแล้ว ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2558 โจทก์ยื่นคําแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจคืนและออกเช็คคืนค่าขึ้นศาลแล้ว แต่โจทก์ไม่มารับ แสดงว่าเงินค่าขึ้นศาลที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้คืนแก่โจทก์ยังค้างจ่ายอยู่ในศาล เมื่อโจทก์เพิ่งมาแถลงขอรับเงินดังกล่าวในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จึงพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ดังนั้น หากนับระยะเวลาดังที่โจทก์อ้างว่าเมื่อศาลอนุญาตแล้วจะมารับเมื่อใดก็ได้ จะทำให้ระยะเวลาการรับเงินยืดเยื้อออกไปไม่สิ้นสุด ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรานี้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ทนายโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ยื่นคําแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเอาเงินค้างจ่ายภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและต้องเริ่มนับระยะเวลาสิทธิการเรียกเอาเงินค้างจ่ายนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินตามคำสั่งอนุญาตของศาลนั้น เป็นฎีกาข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำในประเด็นผิดสัญญาซื้อขาย: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
คดีเดิมมีประเด็นวินิจฉัยว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งหม้อกำเนิดไอน้ำซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาในการส่งมอบงานล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการขอขยายระยะเวลาฎีกา ส่วนคดีนี้ประเด็นวินิจฉัยเป็นเช่นเดียวกับคดีเดิมว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งหม้อกำเนิดไอน้ำ เมื่อการซื้อขายสินค้าของทั้งสองคดีเกี่ยวกับการซื้อขายตามสัญญาฉบับเดียวกัน แม้คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดส่งมอบสินค้าไม่ถูกต้องตามสัญญา เหตุละเมิดที่อ้างก็สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดสัญญาฉบับเดียวกันนั้นเอง ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกัน แม้โจทก์อ้างในฎีกาว่าความเสียหายนี้มิได้เกี่ยวกับเครื่องจักรตามสัญญาแต่แท้จริงแล้วมูลเหตุของความเสียหายที่อ้างมาจากการผิดสัญญาส่งมอบหม้อกำเนิดไอน้ำถูกต้องครั้งเดียวกันนั้นเอง เมื่อโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีเดิมศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ในประเด็นว่าจำเลยกระทำละเมิดส่งมอบสินค้าไม่เป็นไปตามสัญญาทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
of 27