คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อนุญาโตตุลาการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 274 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4184/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการที่ไม่เป็นธรรมในคดีผู้บริโภค: สิทธิในการฟ้องร้องต่อศาล
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ออกใช้บังคับแก่คดีผู้บริโภคภายใต้หลักการให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะเพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาทและมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับ สำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจําเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด การที่จําเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐานให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะ เช่นนี้ นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง กับมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญา ข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จําต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3458/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการกรณีค่าชดเชยและการทำคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกายกคำอุทธรณ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งตามมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยเร็ว และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง และให้ศาลแรงงานกลางส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อันเป็นการผิดหลงที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาคดี ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ จึงเห็นควรให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวนั้นเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างเป็นอย่างน้อย แต่กฎหมายมิได้มีข้อห้ามมิให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ หากนายจ้างฝ่าฝืนมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายก็มีผลใช้บังคับได้ คดีนี้ผู้ร้องทำสัญญาจ้างแรงงานกับผู้คัดค้าน ข้อ 1 มีกำหนดเวลาจ้าง 4 ปี ข้อ 4.1 ให้ค่าจ้างปีละ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ข้อ 9.3 ผู้ร้องเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุ ผู้คัดค้านจะได้รับค่าชดเชย 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือค่าจ้าง 1 ปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากันเป็นเงินบาท จำนวนนี้ให้ถือเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานของไทย โดยสัญญาไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้คัดค้านจะต้องทำงานขั้นต่ำมานานเท่าใด และไม่มีเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านทดลองงาน ถือได้ว่า ผู้ร้องได้สมัครใจทำสัญญาจ้างแรงงานปฏิบัติต่อผู้คัดค้านเรื่องเงินค่าชดเชยสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ สัญญาจ้างแรงงานเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวมีผลผูกพันและใช้บังคับคู่ความได้ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยมีสาเหตุมาจากผู้คัดค้านทำงานไม่เป็นที่พอใจของผู้ร้องและทำงานไม่มีประสิทธิภาพซึ่งผู้ร้องได้ตักเตือนแล้วจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งผู้ร้องจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้คัดค้าน 108,333.33 บาท แต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างของผู้ร้องมิใช่การเลิกจ้างโดยมีสาเหตุและไม่พบเหตุการณ์ใดเชื่อมโยงไปถึงการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 9.2 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดค่าเสียหายของคณะอนุญาโตตุลาการที่นำเงินช่วยเหลือของผู้ร้องจ่ายแก่ผู้คัดค้านมาคำนวณไว้ในส่วนการกำหนดค่าเสียหายอื่นที่ผู้คัดค้านร้องขอ ซึ่งศาลแรงงานกลางให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาคำร้องเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: เหตุสุดวิสัยและดุลพินิจศาล
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง มาบังคับใช้กับกรณีนี้ได้ หากแต่กำหนดเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 การดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องทั้งสองเป็นไปตามความจำเป็นโดยสุจริต พฤติการณ์แห่งคดีถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะใช้อำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องให้ก่อนที่จะสั่งรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองในคดีไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่หากศาลชั้นต้นซึ่งได้พิจารณาในชั้นตรวจรับคำร้องเห็นว่าคำร้องยื่นเกินกำหนดระยะเวลา 90 วัน ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ก็ต้องมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นเสีย มิใช่สั่งรับคำร้องขอไว้ก่อน อันทำให้เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งขยายระยะเวลาเช่นว่านี้ให้แล้ว จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวข้องกับอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากอุทธรณ์ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ทำนองว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไม่เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา โดยมิได้พิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริง จึงเป็นการวินิจฉัยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น แต่เนื้อหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องล้วนเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยคดีผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องจึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับที่ผู้ร้องอุทธรณ์ทำนองว่า คณะอนุญาโตตุลาการไม่วินิจฉัยตามที่กำหนดประเด็นข้อพิพาท เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปอีก คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อประมวลจริยธรรมอันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้ได้โดยอนุโลมตามมาตรา 25 วรรคสองและวรรคสาม คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว เพราะหากเห็นว่าประเด็นปัญหาใดแม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยได้ อันเป็นอำนาจทั่วไป อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการและเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามมาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4252/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ: สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลแม้มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ
แม้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงกันร่วมกันให้ใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 23 วรรคหนึ่ง อันถือเป็นกรณีที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องผูกพันกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับดังกล่าวก็ตาม แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนต้น หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยคำคัดค้านของอนุญาโตตุลาการโดยวิธีการตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการข้างต้น หรือเป็นกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง หากการคัดค้านไม่บรรลุผล คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านย่อมสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ และข้อบังคับข้อ 23 หมายความเพียงว่า เป็นที่สุดสำหรับกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่การตัดสิทธิคู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านมิให้สิทธิทางศาลตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406-1407/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการ: คำชี้ขาดชอบด้วยกฎหมายเมื่อพิพาทอยู่ในขอบเขตสัญญาและไม่เกินข้อตกลงเสนอข้อพิพาท
การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า พฤติการณ์เป็นการถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดจึงเป็นโมฆียะเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงได้ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.อนุโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง การอุทธรณ์ทำนองว่า การทำบันทึกข้อตกลงเป็นไปด้วยความสมัครใจ จึงมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายและมิได้ตกเป็นโมฆียะ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดต่อวิธีพิจารณาหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เข้าเหตุที่จะอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาพิพาทที่ระบุให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (กรุงเทพมหานคร) จึงเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้อย่างกว้าง เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านชำระเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้ายอันเนื่องมาจากการว่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ถือเป็นกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาพิพาทดังกล่าว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยได้และไม่ใช่คำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงว่ามีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อบันทึกข้อตกลงทำขึ้นเนื่องจากผู้ร้องเรียกร้องเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้าย ย่อมถือเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องและเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งต้องวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเช่นเดียวกัน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นอำนาจในการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่และความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 19 วรรคสาม อนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ หรือการขาดคุณสมบัติตามที่คู่พิพาทตกลงกัน โดยคู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง หากการคัดค้านโดยวิธีตามที่คู่พิพาทตกลงกันหรือตามวิธีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ไม่บรรลุผล หรือในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง และเมื่อศาลไต่สวนคำคัดค้านนั้นแล้วให้มีคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านนั้น และในระหว่างการพิจารณาของศาล คณะอนุญาโตตุลาการซึ่งรวมถึงอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้านอาจดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปจนกระทั่งมีคำชี้ขาดได้ ทั้งนี้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติข้างต้นเห็นได้ว่า แม้ผู้ร้องทั้งสองจะยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้วินิจฉัยต่อศาลชั้นต้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง แล้ว แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศ. ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านแต่งตั้งก็อาจดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปได้หากศาลไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนี้ การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหยุดการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลการไต่สวนคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้วินิจฉัย แม้จะอ้างในหัวคำร้องว่าเป็นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหยุดการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราวเป็นการด่วน แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามคำร้องแล้วเห็นได้ว่าเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนท้าย ทั้งยังมีลักษณะเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิที่คู่สัญญาที่ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มิใช่การขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. ดังที่ผู้คัดค้านอ้างในอุทธรณ์ ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้ได้ตามกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872-3873/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องร้องคดีสัญญาจ้างทำของ การแจ้งข้อพิพาท และผลของการวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทกล่าวอ้างว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาจ้างงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาอันถือเป็นสัญญาจ้างทำของ และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี โดยนับจากวันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ร้องที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 แล้ว ส่วนเงื่อนไขให้ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งเพื่อหาข้อยุติก่อนส่งเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญานั้นมิอาจถือเป็นเงื่อนไขให้เริ่มนับอายุความได้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย
แม้การที่ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรก อาจถือเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แต่เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการในคดีดังกล่าวมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุว่าผู้คัดค้านไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท กรณีย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 193/18 เมื่อผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทครั้งหลังเกิน 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำสั่งรับฟื้นฟูกิจการต่อคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ: ต้องงดการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
เมื่อมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วย่อมมีผลต่อการดำเนินคดีแพ่งแก่ลูกหนี้ โดยต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่ง ม. 90/12 (4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องไว้เพื่อพิจารณาแล้ว ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงต้องด้วยกรณีที่คณะอนุญโตตุลาการต้องงดการพิจารณาไว้จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยไม่ได้งดการพิจารณาไว้จึงเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะประเด็นความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16 คดีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยในคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เพียงแต่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลเท่านั้น และคำสั่งศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายถึง 1 ปีเศษ อีกทั้งเหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็เป็นเพราะความบกพร่องทางจิต คือเป็นคนไอคิวต่ำเท่านั้น มิใช่เหตุทุพพลภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า ผู้ร้องเคยมีสามีและเคยมีบุตรมาแล้ว 3 คน อันเป็นข้อสนับสนุนได้อีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพพลภาพ ส่วนข้อที่อ้างว่าขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เคยให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งว่า ทางนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องอ้างใบรับรองแพทย์ว่าผู้ร้องหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปกติ แพทย์ได้ให้ความเห็นว่าผู้ร้องมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาอยู่ระดับปัญญาอ่อน ไอคิวเท่ากับ 65 เทียบเท่ากับอายุ 9 ปี มีพยาธิทางสมอง และสภาพจิตใจในลักษณะการรับรู้ความเป็นจริงไม่เหมาะสม มีปัญหาการตัดสินใจและการปรับตัว จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการดำเนินชีวิต มีความบกพร่องในการวางแผนการตัดสินใจ การรับรู้ความเป็นจริง ถูกชักจูงใจได้ง่าย สามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นปกติได้ กิจกรรมที่มีความซับซ้อนต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแล ความเห็นแพทย์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้หย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ จึงไม่อาจหาเลี้ยงตนเองได้ตามปกติ แต่คณะอนุญาโตตุลาการมิได้หยิบยกใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ขึ้นพิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการจะหยิบยกหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมกระทำได้โดยชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
of 28