คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลพิจารณา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 292 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์โดยทำร้ายร่างกายและใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ศาลพิจารณาความผิดตามบทบัญญัติที่เหมาะสม
จำเลยมาทวงหนี้จากผู้เสียหายโดยอ้างว่าเป็นหนี้ค่าอาหารบิดาจำเลย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้ จำเลยจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอาเงินของผู้เสียหายไป แม้เงินที่เอาไปจะมีจำนวนเท่าที่ผู้เสียหายเป็นหนี้บิดาจำเลยแต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆ โดยชอบที่จะกระทำเช่นนั้นได้ กรณีถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเอาเงินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เมื่อพิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแล้ว ถือว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้พิทักษ์มีอำนาจกระทำการแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ ต้องมีเหตุการณ์เฉพาะเกิดขึ้นแล้วจึงจะพิจารณาได้
คำร้องขอที่ให้ศาลมีคำสั่งว่า จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ร้องจะมีคำขอมาด้วยกันเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ได้ด้วยตนเองไม่ได้ เนื่องจากคำร้องขอของผู้ร้องเป็นแต่เพียงการขอล่วงหน้าโดยยังไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ตามที่ขอเกิดขึ้นจริง จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะให้ศาลนำมาพิจารณาวินิจฉัยเพื่อใช้ดุลพินิจได้ ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอส่วนนี้ของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายความผิดฐานจ้างงานคนต่างด้าว และการพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เมื่อข้อเท็จจริงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นฎีกาเพียงผู้เดียวถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความของศาลฎีกาแล้ว แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สถานบริการที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการที่เปิดเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ในวันเวลาเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบพบหญิงสัญชาติพม่า 30 คน นั่งอยู่ในตู้กระจกใสอันเป็นที่เปิดเผยเพื่อรอให้บริการแก่ลูกค้า เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้งหมดทำงานเป็นหญิงบริการให้แก่ลูกค้าในสถานบริการเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้ง 30 คน พ้นจากการจับกุมไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เป็นความผิดก็มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับสถานเดียวต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ต่างจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2329/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าระวางขนส่งสินค้า ศาลพิจารณาหลักฐานเอกสารและการโต้แย้งของจำเลยเพื่อพิพากษาตัดสิน
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้คำจำกัดความของคำว่า "อุปกรณ์แห่งค่าระวาง" ว่า "ค่าใช้จ่ายอย่างใดที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง..." ดังนั้น ค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวางจึงมีอายุความเป็นอย่างเดียวกัน ในกรณีนี้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้กำหนดอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าระวางไว้ แต่ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3) บัญญัติไว้ว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี...(3)...ค่าระวาง..." อายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าระวางจึงมีกำหนด 2 ปี ตามบทมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4012/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกหนี้และการใช้สิทธิโดยสุจริต แม้จำนวนหนี้ที่ฟ้องต่างจากที่สืบได้ ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนหนึ่ง แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนแล้ว คงเหลือหนี้ไม่ถึงจำนวนตามคำฟ้องนั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินจากจำเลยเกินกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีตามกฎหมายดังที่จำเลยฎีกา เนื่องจากจำเลยชอบที่จะต่อสู้คดีได้และหากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลก็ไม่ได้พิจารณาเฉพาะคำฟ้องของโจทก์เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาจากคำให้การจำเลยและพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบ ดังนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2615/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แม้ไม่มีเจตนาฉ้อโกง แต่ศาลยังต้องพิจารณาเรื่องเงินที่ได้รับจากผู้เช่า และให้ฟ้องคดีแพ่งใหม่เพื่อความชัดเจน
สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ที่ตกลงว่าหากผู้เช่าจะให้เช่าช่วงต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า ไม่ใช่สาระสำคัญที่คู่สัญญาจำต้องปฏิบัติ การที่บริษัท จ. ผู้เช่าเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถนำอาคารพาณิชย์ที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า ประกอบกับการเช่าทรัพย์สินผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จ. และเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่านำอาคารพาณิชย์ไปให้โจทก์ร่วมเช่าและได้เงินต่างๆ ไปจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาทุจริตที่จะฉ้อโกงโจทก์ร่วม จึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
ศาลพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาเพราะว่าจำเลยไม่ได้ฉ้อโกงโจทก์ร่วมเนื่องจากขาดเจตนาทุจริต แต่ศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยได้รับเงินค่าเช่าบางส่วน เงินค่าประกันอาคารและอุปกรณ์ เงินค่าเซ้ง และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟไปจากโจทก์ร่วม แต่ทางนำสืบของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่ชัดเจนว่าโจทก์ร่วมได้ชำระค่าเช่านอกจากค่าเช่าล่วงหน้าเท่าใด อาคารและอุปกรณ์เสียหายเพียงใด เงินค่าน้ำและค่าไฟฟ้ามีการค้างชำระหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และโจทก์ร่วมอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่เช่านานเท่าใด ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดในส่วนคดีแพ่งได้ว่ามีเพียงใด หากจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง ก็จะทำให้คดีอาญาเนิ่นช้าศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมไปฟ้องคดีแพ่งใหม่ ตามมาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01: ศาลชั้นต้นพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากยังไม่ฟังพยาน
ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลย คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะซื้อขายที่ดินพิพาทก็ต่อเมื่อที่ดินพิพาทได้มีการยกเลิกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และได้ออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแล้ว หาใช่มีเจตนาตกลงซื้อขายที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนและห้ามมิให้ทำการซื้อขาย อันจะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ ส่วนที่ดินพิพาทจะสามารถดำเนินการยกเลิกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินได้จริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ จำเป็นต้องฟังพยานหลักฐานของคู่ความให้เสร็จสิ้นกระแสความเสียก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นด่วนพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องนั้น จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยการพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญากู้ยืมที่มีการแก้ไขจำนวนเงิน ศาลพิจารณาจากจำนวนเงินที่ตกลงกันแต่แรก
โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิดแม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นเป็น 120,000 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน แต่ก็ไม่ทำให้หลักฐานกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่าที่กู้ไปจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องพิจารณาครบทุกข้อหาในคำฟ้อง แม้โจทก์เน้นย้ำเฉพาะการไขข่าวแพร่หลาย มิใช่ถ้อยคำหยาบคาย
โจทก์บรรยายฟ้องโดยตอนแรกบรรยายถึงการที่จำเลยพูดกล่าวถ้อยคำซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ ส่วนตอนหลังบรรยายถึงการที่จำเลยนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้วนำหลักฐานการแจ้งความไปเผยแพร่แล้วโจทก์สรุปว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความที่ทำให้โจทก์เสียหาย เห็นได้ว่าข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาละเมิดคือการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความของจำเลยอันทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่การที่จำเลยพูดถ้อยคำหยาบคายต่อโจทก์ไม่ ทั้งทนายโจทก์ก็แถลงยืนยันต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องรวม 4 ครั้ง ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยตามที่ทนายโจทก์แถลงไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับการพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยดังกล่าว การพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าขนส่งและการรับสารภาพของจำเลย ศาลพิจารณาความถูกต้องของหนี้และดอกเบี้ย
ตอนแรกจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะชำระเงินให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันวางบิล แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอผ่อนผันเป็นชำระเงินภายใน 90 วัน โดยจำเลยทั้งสองยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ตกลงด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์วางบิลเรียกเก็บเงิน จำเลยทั้งสองไม่ชำระโดยมียอดหนี้ค่าขนส่งสินค้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าเสียหายตามที่ตกลงกันไว้เดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,402,302.29 บาท และจำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาท 4 ฉบับ ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แล้วโจทก์ขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดจริงตามฟ้องโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท เป็นเบี้ยปรับก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือ 15 ต่อปี หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ จึงรวมเอาหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายไว้ด้วยก็ดี ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและขัดกับข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพจึงไม่ชอบ
of 30