คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อนุญาโตตุลาการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 274 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายที่มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ ศาลมีอำนาจคุ้มครองประโยชน์ก่อนอนุญาโตตุลาการ
เหตุบกพร่องของสัญญาไม่ว่าจะเป็นการแสดงเจตนาลวงหรือกลฉ้อฉลของผู้คัดค้านอันนำไปสู่ข้ออ้างของผู้ร้องว่าเป็นการกระทำละเมิดของผู้คัดค้าน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหาและความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อขาย จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญา และการมีผลใช้บังคับของสัญญา ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 การยื่นคำร้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญา หาใช่มูลละเมิด และตามคำร้องดังกล่าวเป็นการตั้งสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับข้อโต้แย้งตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงในสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 ทั้งผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องดังกล่าวแล้วว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์ตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่ผู้คัดค้านหรือเพื่อจะทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ย่อมมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามสัญญาประนีประนอมฯ ที่ทำผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย: สัญญาฯ มีผลเสมือนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
เมื่อพิจารณาถึงสัญญาประนีประนอมยอมความประกอบคำร้องและคำคัดค้านแล้วเห็นได้ว่ากรณีเป็นข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน ดังนั้น แม้มีทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท ก็สามารถไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านอ้างเกี่ยวกับการขายที่ดินพิพาทว่าเป็นเท็จอันเป็นเหตุของการกระทำอันไม่สุจริตที่กล่าวอ้างเป็นข้อเท็จจริงในส่วนเนื้อหาของข้อพิพาทที่ต้องพิจารณากันในชั้นไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท แม้ผู้คัดค้านอ้างทํานองว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่การจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจําต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงข้างต้นเสียก่อน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคห้า กําหนดให้สัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ตกลงกันตามมาตรา 61/2 วรรคสี่ มีผลเช่นเดียวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และในกรณีตามมาตรา 61/2 วรรคเจ็ด ที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่พิพาทอีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ออกคำบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยให้นํากฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในคดีร้องขอให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคเจ็ด ประกอบ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 42 ถึง 44 นั้น ไม่ได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความพิสูจน์โต้แย้งข้อเท็จจริงในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท และศาลไม่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงในชั้นไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินดังกล่าวซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2050/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น และในสถานการณ์นี้จะสั่งให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและ อ. ซึ่งเป็นผู้รับโอน และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้าน อันเป็นคําชี้ขาดที่มีผลบังคับให้ผู้คัดค้านชําระหนี้ตอบแทนโดยเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. กลับมาเป็นของผู้คัดค้านแล้วโอนให้แก่ฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งการจะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. ได้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านกับ อ. เป็นคู่พิพาทหรือคู่ความในคดีจึงจะบังคับได้ เมื่อ อ. เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคําชี้ขาดในกรณีนี้จึงไม่อาจบังคับกับ อ. บุคคลนอกคดีได้ การยอมรับหรือการบังคับตามคําชี้ขาดในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การที่อนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และ ที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น ทั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งโดยขอเพียงให้ผู้ร้องทั้งสามชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ผู้คัดค้านเป็นคําชี้ขาดที่เกินคําขอของผู้คัดค้าน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายืนตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเรื่องกรรมสิทธิ์วิลล่า ย้ำศาลต้องไม่ก้าวก่ายดุลพินิจอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยสรุปได้ความว่า ข้อเสนอที่จะขายที่ดินพิพาทในราคาพิเศษให้ผู้คัดค้านนั้นไม่ถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 และไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 152 ทั้งประเด็นเรื่องสิทธิเหนือบ้านพักหรือวิลล่า 16 และความสมบูรณ์ของข้อตกลงพิพาทนั้นเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งไม่จำต้องจดทะเบียน กรณีจึงเป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่สามารถเรียกร้องและบังคับกันได้ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ส่วนการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนดอันจะมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ใช่ประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าสัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นโมฆะจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยเจตนาของผู้ร้องและผู้คัดค้านในขณะทำสัญญา อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและเป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลจะแทรกแซงโดยเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำชี้ขาดเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านมีกรรมสิทธิ์เหนือวิลล่า 16 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
of 28