คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชดใช้ค่าเสียหาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 321 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19016/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์ อำนาจศาลอุทธรณ์ และการฟ้องคดีอาญาแม้มีการชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่แบ่งตามประเภทคดีคงมีแต่เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ส่วนในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งมีเขตอำนาจย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นในเขตอำนาจทุกประเภททั้งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงและศาลจังหวัดที่อุทธรณ์มาได้ เมื่อคดีนี้อยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่: ต้องพิสูจน์การกระทำผิดของผู้สมัครก่อน
การที่โจทก์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรายใดและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว จะให้ผู้สมัครต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช่จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งให้ได้ความอย่างแน่ชัดว่าผู้สมัครนั้นกระทำการอันมีเหตุให้โจทก์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ย่อมไม่อาจเยียวยาความผิดพลาดอันเกิดจากการออกคำสั่งซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้สมัคร หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้สมัครกระทำการดังกล่าวแล้ว คำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครย่อมไม่มีผลผูกพันให้ผู้สมัครนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง ได้
ข้อความการกล่าวปราศรัยของ อ. ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของจำเลยเข้ากับทีมงานการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินว่ามีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการของบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร หากจำเลยไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้ว ย่อมมีความหมายในทำนองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยโดยนำเรื่องงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นมาเป็นข้อต่อรอง อันมีลักษณะเป็นการหลอกหลวงหรือจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 เมื่อจำเลยมีส่วนในการก่อ หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของ อ. จนโจทก์มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยและให้มีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตาม มาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
การฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่หาจำต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9602/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง การชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการบังคับสิทธิ
การฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทจำเลยที่ 2 หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ดนตรีกรรม ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว ดังนั้น งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมแล้ว โดยไม่นำคุณค่าของงานดนตรีกรรมมาเป็นเงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ หรือผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเสร็จ เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงโดยเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอย งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงชื่อเพลง "หนุ่มดอย" ซึ่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า "ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ซึ่งการเปิดครั้งหนึ่งจะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 4 ครั้ง ตอนท้ายของเพลงจะเล่นซ้ำท่อนสร้อยเฉพาะข้อความว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ส่วนเพลง "เด็กดอยใจดี" ของจำเลยทั้งสามที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา... ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา" และในการเปิดเพลงเด็กดอยใจดี 1 ครั้ง จะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 3 ครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ซึ่งการมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อย คำร้องและทำนองในท่อนสร้อยหรือท่อนฮุกของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีจึงเป็นสาระสำคัญของเพลง เมื่อเพลงเด็กดอยใจดีมีเนื้อร้องคำว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ในท่อนสร้อยและคำว่า "ลา ลันลา" ในตอนท้ายเช่นเดียวกับเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยที่ 3 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายอัลบัมเพลงที่ประกอบด้วยเพลงเด็กดอยใจดีโดยว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ รวมทั้งงานอื่นใดอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจัดสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองแพร่ภาพแพร่เสียงแทนผู้ผลิตในสื่อต่าง ๆ แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรู้จักเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ และทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการตลาด จึงต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยให้เป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิง ช. ขับร้อง แล้วจัดทำเป็นซีดีออกจำหน่ายจนประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และ 31 (1) ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเพลงของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นความเสียหายในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ ซึ่งความเสียหายด้านชื่อเสียงตามฟ้องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือกระทำอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธินั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามจำนวนที่เห็นสมควร รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างทนายความและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ในความหมายของมาตรานี้
เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนและอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมของโจทก์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายซีดีและวีซีดีซึ่งมีเพลงที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และได้กำไรจากการอนุญาตให้ผู้อื่นนำเพลงไปให้บริการริงก์โทนแก่บุคคลทั่วไปเป็นผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต มีผลเสียหายต่อการตลาดของโจทก์ ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่าผลประโยชน์ที่เป็นกำไรซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่ให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ในทำนองซึ่งจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งใช้เฉพาะคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายของสินค้า และการชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย
ปัญหาว่า โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่ง มาฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยชอบและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัท ย. ผู้เอาประกันแล้ว แม้กรมธรรม์ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้โดยตรงหรือมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้ใด แต่ในการตีความสัญญาประกันภัยนี้ไม่อาจพิจารณาเฉพาะเพียงข้อความหรือลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเท่านั้น ต้องตีความให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามหลักการตีความสัญญาใน ป.พ.พ. มาตรา 368 กรณีนี้จึงต้องพิจารณาจากเอกสารหลักฐานอื่นๆ สำหรับกรมธรรม์นี้ในส่วนตารางด้านหน้าของเอกสารเกี่ยวกับเนื้อหาของการประกันภัยระบุอ้างถึงใบกำกับสินค้าซึ่งตรงกับใบกำกับสินค้าที่ระบุรายละเอียดของสินค้าที่เอาประกันภัย ชื่อผู้ส่งสินค้าหรือผู้ส่งของว่า คือ บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัย และผู้รับตราส่ง คือ บริษัท น. กับระบุว่ามีการขนส่งสินค้าจากท่าเรือศรีราชาไปยังปลายทางที่ประเทศอิตาลี เมื่อพิจารณาข้อความตามตารางในด้านหน้าของกรมธรรม์ก็ปรากฏว่ามีการระบุถึงการใช้สิทธิเรียกร้อง (หากมี) หรือการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าให้ทำที่ประเทศอิตาลี และยังระบุอีกว่าในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนี้ในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเหตุในทันทีเพื่อให้มีการสำรวจความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวและมีรายงานการสำรวจความเสียหายจากหรือที่ได้รับการอนุมัติจาก ก. ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลี และเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกอบกับใบตราส่งแล้วปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุรายละเอียดของสินค้าที่ขนส่งและระบุชื่อบริษัท ย. เป็นผู้ส่งของกับบริษัท น. เป็นผู้รับตราส่ง ตรงกับที่ระบุในใบกำกับสินค้า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีเหตุผลให้เชื่อว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยมีเจตนาตกลงให้การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการชำระค่าสินไหมทดแทนทำกันที่ประเทศอิตาลีซึ่งเป็นปลายทางในการขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเนื่องจากผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายเช่นผู้รับตราส่งมักจะพบการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเมื่อมีการเรียกและรับสินค้านั้นที่ปลายทางแล้ว ทั้งเมื่อพิจารณาทุนประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วจะเห็นได้ว่ามีจำนวนร้อยละ 110 ของราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้าที่ระบุเป็นราคาเทียบข้างเรือที่ท่าเรือต้นทาง (FAS) ซึ่งเป็นจำนวนทุนประกันภัยตามปกติของการประกันภัยสินค้าในการขนส่ง จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำนวนทุนประกันภัยดังกล่าวได้รวมค่าระวางการขนส่งสินค้าและหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไว้ด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของผู้เอาประกันภัย ด้วยหลักฐานเอกสารที่มีความเชื่อมโยงกันดังกล่าว ประกอบกับได้ความตามที่พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามติงใจความว่า การประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลมีระเบียบวิธีปฏิบัติในการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าจะชำระแก่ผู้ได้รับความเสียหาย โดยความเสียหายตามลักษณะในคดีนี้จะชำระให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามสัญญาซื้อขายคือผู้รับตราส่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าในประเทศอิตาลี จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างความถูกต้องแท้จริงของพยานเอกสารของโจทก์ดังกล่าวและไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการประกันภัยกับการชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งมีวิธีปฏิบัติอย่างอื่นมิได้เป็นไปตามที่โจทก์นำสืบมาแต่อย่างใด จำเลยโต้แย้งในคำให้การเพียงว่าไม่มีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้เป็นที่ทราบและมีการตกลงระหว่างบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยปริยายแล้วว่าให้บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งในประเทศอิตาลีเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น บริษัท น. จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเนื่องจากวินาศภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่จำต้องมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งกรณียังถือได้ว่า บริษัท น. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย อันเป็นเงื่อนไขในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 11.1 ที่กำหนดว่า ในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยฉบับนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย (In order to recover under this insurance the Assured must have an insurable interest in the subject - matter insured at the time of loss) ซึ่งผู้เอาประกันภัย (the Assured) ในความหมายของการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ย่อมหมายความรวมถึงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาที่ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยตามเจตนาของโจทก์ผู้รับประกันภัยและบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยที่ได้ตกลงกันโดยปริยายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัท ย. ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าดังกล่าวและเป็นผู้ส่งสินค้าที่ขายให้แก่บริษัท น. ในประเทศอิตาลีกับเป็นผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายและสูญหายของสินค้านั้นระหว่างการขนส่งไว้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล โดยผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า 14 หีบห่อ จำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการเดินเรือและใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เป็นยานพาหนะ จำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าระวางการขนส่งแล้วออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1 และในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้แก่ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐานโดยระบุให้บริษัท น. ผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง และใบตราส่งนี้ได้โอนไปยังบริษัท น. ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อสินค้าถึงปลายทาง ผู้รับตราส่งพบว่าสินค้าได้รับความเสียหาย 3 หีบห่อ บริษัท น. ผู้รับโอนใบตราส่งจึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งอันถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ในขณะเกิดวินาศภัยโดยไม่จำต้องให้บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ดังกล่าวก่อน การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวให้บริษัท น. จึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปโดยชอบด้วยข้อ 11.1 ในกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้ารับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่งได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำที่ดินจากสาธารณูปโภคอาคารชุด ศาลใช้หลักเทียบเคียงมาตรา 1314 วรรคแรก ให้ชดใช้ค่าเสียหายแทนการรื้อถอน
หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุดระบุว่า อาคารชุดจำนวน 1 หลัง มีทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 33745 แขวงหัวหมาก (หัวหมากใต้) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 305 ตารางวา สำนักงานนิติบุคคลอาคารชุด ที่จอดรถ ระบบประปา ท่อระบายน้ำเสีย ท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าภายในอาคาร โดยไม่ปรากฏว่ามีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วย ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์ส่วนกลางตามหนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุดและประกาศของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ดังนั้น จึงไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 16 ที่ห้ามมิให้แบ่งแยกทรัพย์ส่วนกลาง
เดิมจำเลยร่วมที่ 3 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารตึก 16 ชั้น เพื่อใช้พักอาศัยและจอดรถยนต์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 33746 และที่ดินพิพาท ขณะนั้นที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ ป. ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารจากกรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยร่วมที่ 3 ได้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารดังกล่าวเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยเป็นอาคารชุด โดยระบุว่าอาคารดังกล่าวตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 33745, 33746 และที่ดินพิพาท โดยจำเลยร่วมที่ 2 เป็นเจ้าของอาคารและเป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 33745, 33746 และที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ต่อมาจำเลยร่วมที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนอาคารชุดและได้รับจดทะเบียนเป็นอาคารชุดเลขที่ 10/2538 หลังจากนั้นจึงมีการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดที่สำนักงานที่ดิน ดังนั้น ความเป็นนิติบุคคลอาคารชุดของจำเลย จึงเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการก่อสร้างอาคารชุดตึก 16 ชั้น เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเมื่อมีการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินส่วนกลาง จำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 มิได้ระบุลงไว้ในคำขอจดทะเบียนอาคารชุดว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนกลางด้วย ภายหลังจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่ง เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จนกระทั่งมีการโอนที่ดินพิพาทรวมทั้งสิทธิการจำนองให้แก่กองทุนรวมบางกอกแคปปิตอล และโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากกองทุน โดยขณะที่ซื้อโจทก์ทั้งสองเชื่อว่าอาคารนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยกับสาธารณูปโภคมิได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาท แต่เมื่อรังวัดตรวจสอบแล้วพบว่า สาธารณูปโภค ได้แก่ ท่อระบายน้ำเสีย ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้ารุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยร่วมมิใช่เป็นผู้สร้างท่อระบายน้ำเสีย ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้าในที่ดินพิพาท หากแต่จำเลยร่วมทั้งสามซึ่งเดิมเป็นเจ้าของที่ดินอาคารชุด และที่ดินพิพาทเป็นผู้ขออนุญาตให้สร้างสาธารณูปโภคดังกล่าวในที่ดินภายหลังโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมา จึงทำให้ท่อระบายน้ำเสีย ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารชุดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาท กรณีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1312 เพราะการรุกล้ำมิได้เกิดจากจำเลยเป็นผู้สร้าง และมิใช่การสร้างโรงเรือน หากแต่เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรง จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 1314 วรรคแรก ซึ่งกำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 1310 บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใดๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย โดยโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างแต่ต้องใช้ค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป เว้นแต่ถ้าการนี้จะทำไม่ได้โดยให้ใช้เงินเป็นพอสมควร โจทก์ทั้งสองจะเรียกให้จำเลยซื้อที่ดินทั้งหมดก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาว่าท่อระบายน้ำเสีย ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้าซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาคารชุดหากให้มีการรื้อถอนย่อมจะก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดอย่างยิ่ง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้รื้อถอนไปได้ คงได้แต่เรียกให้จำเลยชดใช้ราคาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าทดแทนมาด้วย จึงไม่อาจบังคับให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10163/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจโจทก์ในการบังคับชดใช้ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่ และข้อยกเว้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
การที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 เป็นการดำเนินการในฐานะที่โจทก์เป็นองค์กรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 4 ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้จำเลยชำระเงินตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6081/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีชดใช้ค่าเสียหายในคดีอาญา: การรับมอบสินค้าคืนไม่เป็นเงื่อนไขการชำระหนี้
คำพิพากษาในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ฐานจำเลยหลอกลวงขายสินค้าเครื่องพิมพ์ดีดแก่โจทก์ และขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 55,440 บาท โดยให้จำเลยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีดคืนไปซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลย และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 55,440 บาท แก่โจทก์ โดยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีด 12 เครื่องคืนไปทั้งหมด เป็นคำพิพากษาที่พิพากษาไปตามสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นคดีอาญาและมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการกระทำผิดทางอาญาที่ทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายในมูลละเมิด โดยบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 55,440 บาท เป็นสำคัญ แม้จะมีคำพิพากษาให้จำเลยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 12 เครื่อง คืนไปด้วยก็ตาม แต่ก็มิได้พิพากษากำหนดให้เป็นเงื่อนไขว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเครื่องพิมพ์ดีดแก่จำเลยในลักษณะการชำระหนี้ต่างตอบแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาในส่วนที่บังคับให้จำเลยชำระเงิน โจทก์ชอบที่จะขอให้บังคับคดีจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยไม่ต้องคำนึงถึงกรณีการรับมอบคืนเครื่องพิมพ์ดีดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 2-3 มีหน้าที่รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชดใช้ค่าเสียหายจากการขายที่ดินผิดสัญญา แม้จะอ้างอำนาจกรรมการ
ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติว่า ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ตามบทบัญญัติดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการในขอบอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว กิจการดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อได้ความว่า ในการทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการ โดยมอบอำนาจให้ ว. ดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ภายในเงื่อนเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันอยู่และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 อันเป็นเวลาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบดีว่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การใช้สิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอ้างสิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้มาต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ไม่
จำเลยที่ 4 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริตกับพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้และต้องเสียเปรียบจากการจดทะเบียนนั้นก็ตาม โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนนั้นได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2553 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การชดใช้ค่าเสียหายจากการบุกรุกป่า - ศาลต้องยึดตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญา
พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ คดีถึงที่สุด โดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพคิดเป็นจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ คดีนี้กรมป่าไม้ซึ่งเป็นผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลมาจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ หาได้ไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การชดใช้ค่าเสียหายจากความผิดบุกรุกป่า ศาลต้องใช้ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาอาญา
พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นแล้ว โดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่และป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพคิดเป็นจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ คดีนี้เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลมาจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ นั้น หาได้ไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว
of 33