พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7677/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ แม้มีวัตถุประสงค์บริษัทเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัท ด. จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้บริการรับจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามบทนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากนายทะเบียน แต่ได้ร่วมกันขายโปรแกรมการท่องเที่ยวและจัดบริการให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ และผู้เสียหายได้โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือจองที่พักให้แก่จำเลยทั้งสองเลย นอกจากความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังเป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 80 ด้วยอีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5119/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งความร้องทุกข์นอกเหนือเจตนาผู้แทนบริษัท และความชอบธรรมในการฟ้องคดีอาญา
โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 แม้โจทก์ร่วมจะทำหนังสือมอบอำนาจให้ ร. ผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์ ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 กับพวกได้โดยมิได้ระบุข้อหาความผิดไว้ แต่การมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้รับมอบอำนาจก็ต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับหรือเจตนาที่ผู้แทนนิติบุคคลให้ไว้ เมื่อปรากฏว่าตามรายงานการประชุมของโจทก์ร่วม ที่ประชุมมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์แก่จำเลยที่ 1 กับพวกในข้อหาบุกรุกเท่านั้น มิได้มีมติให้ดำเนินคดีในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย การที่ ร. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จึงเป็นการกระทำนอกเหนือจากเจตนาของโจทก์ร่วม การแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ร่วมถือว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรม: ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจฟ้องแทนบริษัท หากมิใช่การเรียกค่าสินไหมจากกรรมการ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบจะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์อ้างว่าใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโดยมีคำขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกเป็นโมฆะ หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง นั้น ในการเพิกถอนนิติกรรมซึ่งได้กระทำโดยจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการมิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว บริษัท ท. ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม การที่โจทก์ขอให้หมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) และมาตรา 57 (3) (ข) นั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และไม่มีสิทธิก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัท จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเรียกบริษัท ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนรายการจดทะเบียนบริษัท: โจทก์ต้องเพิกถอนมติที่ประชุมก่อน จึงจะขอให้จำเลย (นายทะเบียน) เพิกถอนรายการจดทะเบียนได้
เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า ล. กับพวกร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทโดยอาศัยมติที่ประชุมอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวก่อน และหากโจทก์ชนะคดีจึงจะมีสิทธินำคำพิพากษาไปยื่นต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะนายทะเบียนให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นคดีนี้จึงไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นนายทะเบียนมิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จ การที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทก็เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับจดทะเบียนไว้โดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะนายทะเบียนให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นคดีนี้จึงไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นนายทะเบียนมิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จ การที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทก็เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับจดทะเบียนไว้โดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดในหนี้ภาษีของบริษัท หากมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้
จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งบริษัท
กองบังคับการปราบปรามนั้น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 จึงมีอำนาจสอบสวนคดีได้ทั่วราชอาณาจักรตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เพื่อที่จะไม่ให้ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกับอำนาจของพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุโดยตรง โดยให้คดีในลักษณะต่าง ๆ ที่ถือว่ามีความสำคัญหรือยุ่งยากเป็นพิเศษ เพื่อให้อยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เช่น เมื่อได้มีการรับเรื่องร้องทุกข์ไว้ดำเนินการแล้ว พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามก็มีอำนาจทำการสอบสวนไปได้ก่อนในเบื้องต้นพร้อมทั้งทำเรื่องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบและให้มีคำสั่งอนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไปตามระเบียบ ดังนั้น เอกสารที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามรวบรวมไว้ ย่อมเป็นเอกสารที่ได้มาโดยถูกต้องชอบดัวยกฎหมาย แม้ภายหลังผู้บังคับบัญชาจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไป ก็เป็นเพียงเรื่องภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีระเบียบกำหนดให้คดีในลักษณะดังกล่าวต้องมีการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุดำเนินการต่อไปเท่านั้น ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี ก็ได้มีการเรียกโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายให้มาดำเนินการร้องทุกข์ใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยในลักษณะที่คล้ายกับว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีเริ่มดำเนินการสอบสวนใหม่เองทั้งหมด ส่วนเอกสารหลักฐานที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งมาให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีก็รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนในลักษณะเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการสั่งสำนวนเท่านั้น หากเห็นว่า ยังขาดตกบกพร่องอยู่ในส่วนใดก็สามารถใช้ดุลพินิจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ได้ หรือหากเห็นว่าหลักฐานที่รวบรวมไว้โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามและส่งมาให้รวมไว้ในสำนวนการสอบสวนมีความชัดเจนเพียงพอแล้วก็สามารถใช้เอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นกลักฐานในสำนวนการสอบสวนต่อไปเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการสั่งคดีได้ โดยไม่ต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ร่วมกันปลอมเอกสาร รวมทั้งร่วมกันใช้เอกสารปลอม และสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการปลอมเอกสารหรือลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทหรือที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 นั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพียงเพื่อต้องการให้นายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรีจดทะเบียนแก้ไขจำนวนผู้ถือหุ้น แก้ไขจำนวนกรรมการเข้าและออก และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท พ. จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ร่วมกันปลอมเอกสาร รวมทั้งร่วมกันใช้เอกสารปลอม และสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการปลอมเอกสารหรือลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทหรือที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 นั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพียงเพื่อต้องการให้นายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรีจดทะเบียนแก้ไขจำนวนผู้ถือหุ้น แก้ไขจำนวนกรรมการเข้าและออก และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท พ. จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย