คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ปฏิบัติหน้าที่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 307 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ลักทรัพย์ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ: การยกฟ้องคดีอาญา
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180
โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362
ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10082/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความคุ้มครองประกันภัย: การปฏิบัติหน้าที่พนักงานประจำเรือหลังส่งผู้โดยสาร
แม้ว่าขณะ ส. เสียชีวิต ส. ไม่ได้อยู่ในเรือโดยสารหรือขณะกำลังขึ้นหรือลงเรือโดยสารโดยตรงเสียทีเดียว แต่เป็นการเสียชีวิตขณะที่ ส. นำเรือโดยสารไปเก็บหลังจากส่งผู้โดยสารเรียบร้อยจึงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานประจำเรือ ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยได้ขยายความคุ้มครองพนักงานประจำเรือ กรณีประสบอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย ตามตารางกรมธรรม์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529-3530/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้จำเลยเสียหาย มีสิทธิเลิกจ้างและฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
โจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ในคืนเกิดเหตุรถไถหายไป ด. พนักงานขับรถไถของจำเลยเข้างานช่วงเวลาเดียวกับโจทก์ทั้งสอง ด. จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานว่า หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการต้องปฏิบัติตามคำบรรยายลักษณะงานที่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ในข้อ 3.6 ให้ต้องตรวจสอบการทำงานของช่างขับ (พนักงานขับรถ) ให้ปฏิบัติตามกฎของจำเลย โดยจะต้องนำรถไถเข้าไปจอดภายในโรงงาน และตามระเบียบปฏิบัติ ข้อ 14 ให้ติดตามการทำงานของช่างขับอย่างใกล้ชิด และข้อ 15 ให้ติดตามผลเป้าหมายงานทุก ๆ ชั่วโมง แม้ ด. จะละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ หากโจทก์ทั้งสองยึดถือระเบียบการทำงานอย่างเคร่งครัด โจทก์ทั้งสองก็จะทราบในทันทีก่อนรถไถหายไปว่า ด. ไม่นำรถไถเข้าไปเก็บไว้ในโรงงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3)
ฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการขอให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจจะกระทำได้ ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่: การเดินทางไปเบิกความถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่
จ่าสิบตำรวจ ว. เป็นข้าราชการตำรวจ ในสังกัดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลในการไต่สวนการตายตามหมายเรียกพยานบุคคลของศาล ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากเห็นสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เมื่ออุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเป็นพยานศาลเป็นการกระทำโดยประมาทธรรมดา จ่าสิบตำรวจ ว. จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ แม้แต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากงานที่ทำเป็นประโยชน์และไม่มีความเสียหาย
แม้ภายหลังที่จำเลยเข้าทำงานแล้วจะปรากฏว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งไปก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่แล้วโดยไม่ปรากฏความเสียหายแต่อย่างใด การพ้นจากตำแหน่งของจำเลยจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงงานที่จำเลยได้กระทำไปในหน้าที่ และเมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นจากโจทก์เพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นก่อนที่จะพ้นจากหน้าที่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำที่ไม่ถึงขั้นดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือศาล แม้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่
จำเลยไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์ร่วมทุจริต เพียงแต่สงสัยในพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้พิพากษาในคดีที่จำเลยถูกผู้อื่นฟ้องที่มีคำสั่งให้งดชี้สองสถานกับงดสืบพยานในคดีนั้น แม้ว่าเป็นอำนาจและดุลพินิจของโจทก์ร่วม แต่ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจที่คลาดเคลื่อน เพราะหลังจากนั้นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ร่วมเป็นองค์คณะ และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลย และที่โจทก์ร่วมสั่งไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไว้แล้ว นอกจากนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 เวลา 10.50 นาฬิกา แต่โจทก์ร่วมไม่ได้สั่งอุทธรณ์ในวันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ร่วมสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยประทับตรายางวันเดือนปี คือ เมษายน 2554 แต่มีการลบวันที่ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 27 และเขียนด้วยลายมือโจทก์ร่วมเป็นวันที่ 30 การที่จำเลยไปพบ ส. ซึ่งรับราชการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ที่โจทก์ร่วมรับราชการอยู่ในเขตอำนาจเพียงประสงค์จะให้ ส. ดูแลผู้พิพากษาในภาคให้มากกว่านี้ ไม่ได้ไปพบในลักษณะที่ว่าจะให้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ร่วม แม้ตามบันทึกเรื่องราวที่จำเลยมอบให้ ส. จะมีข้อความเกินเลยไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นการปรับทุกข์และระบายความทุกข์กับ ส. ที่ดูแลผู้พิพากษาภายในภาค 7 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 136 และ 198

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16467/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่: การใช้รถประจำตำแหน่งและการพิสูจน์ความประมาทเลินเล่อ
ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 12 กำหนดขอบเขตไว้ชัดเจนว่า การใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้รวมถึงการใช้รถยนต์เพื่อเดินทางไป - กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ประจำตำแหน่งออกจากบ้านพักที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อไปปฏิบัติราชการที่ศาลจังหวัดพัทยา จึงเป็นการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ตามระเบียบดังกล่าวแล้ว
จำเลยดูแลรักษารถยนต์และนำเข้าตรวจสภาพเมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ อันเป็นการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ และก่อนเกิดเหตุจำเลยให้พนักงานขับรถนำรถยนต์ไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการแล้ว แต่ไม่พบความบกพร่อง รถยนต์สามารถใช้งานได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์มีสภาพไม่สมบูรณ์ และจำเลยขับรถโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม. ต่อ ชม. ซึ่งไม่เกินอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บนเส้นทางดังกล่าวไม่เกิน 120 กม. ต่อ ชม. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เหตุเกิดจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถอันเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยประมาทเล็งเห็นผลถึงอันตรายถึงแก่ชีวิตของเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่
เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยทั้งสาม โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งขับไปขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ และรถยนต์อีกคันหนึ่งที่มีผู้เสียหายนั่งมาด้วยขับไปขวางทางด้านหลัง ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนด้านหลังรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พร้อมพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังพุ่งตรงไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านหน้าของรถยนต์ พันตำรวจโท ฉ. ที่ขวางอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอาจชนผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตร ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 289 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นความผิดพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ สำหรับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ
เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 และมาตรา 8 ทวิ ต่างเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเองแยกจากกันได้ การพิจารณาว่าจำเลยจะกระทำความผิดตามมาตรา 8 ทวิ หรือไม่ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 7 มาก่อน และมาตรา 8 ทวิ ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าใช้บังคับใช้กับอาวุธปืนที่มีหรือไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับ ดังนั้น ต้องถือว่าใช้บังคับกับอาวุธปืนทั้งที่มีและไม่มีเครื่องหมายประจำอาวุธปืนของนายทะเบียนประทับ ซึ่งกรณีปกติย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมาตรา 8 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในมาตรานี้มิให้บังคับแก่ (1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหาร และตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นพาอาวุธปืนของกลางติดตัวออกไประงับเหตุทะเลาะวิวาทอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แม้อาวุธปืนของกลางจะไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนและจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางก็ตาม ย่อมไม่ใช้บังคับแก่จำเลยในกรณีนี้ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สเปรย์พริกไทยไม่ใช่ 'อาวุธ' ตามกฎหมาย และการนำเข้าศาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นความผิด
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น สำหรับสเปรย์พริกไทยได้ความว่า ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลักจาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่าการผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นขอความร่วมมือไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
of 31