คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลพิจารณา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 292 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215-2234/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าชดเชยครูเอกชน: ศาลพิจารณาเหตุผลการจ่ายเงินอุดหนุนเกินจริง และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
แม้ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ หมวด 7 จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่หรือครูกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 ถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 จึงมีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 8 ได้โดยไม่จำต้องเสนอข้อขัดแย้งให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานวินิจฉัยชี้ขาดตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ ก่อน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 จึงมีอำนาจฟ้อง
โรงเรียนของจำเลยได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน (เพิ่มเติม) จากงบประมาณสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเพื่อปรับเงินเดือนให้ครู วันที่ 18 สิงหาคม 2548 จำเลยนำเงินอุดหนุนของเดือนเมษายน 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เข้าบัญชีโจทก์คนละ 12,222 บาท แล้วถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์คนละ 5,515.51 บาท ในวันเดียวกันโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งยี่สิบทราบวันที่ 30 สิงหาคม 2548 โจทก์ทั้งยี่สิบจึงไปร้องทุกข์ให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ถอนเงินออกจากบัญชีของโจทก์ทั้งยี่สิบโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งยี่สิบทราบตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นเวลาถึง 12 วัน จำเลยมีเวลาพอที่จะชี้แจงเหตุผลที่ถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์ทั้งยี่สิบได้แต่ก็ไม่กระทำ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกิดจากความบกพร่องของจำเลย และมีเหตุสมควรที่โจทก์ทั้งยี่สิบจะติดตามหาสาเหตุที่เงินในบัญชีของตนถูกถอนไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบจงใจทำให้ผู้รับใบอนุญาต (จำเลย) ได้รับความเสียหายและทำให้โรงเรียนของจำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 34 (2) (5) ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยจรรยา มรรยาท วินัย และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ครูใหญ่ หรือครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 6 (5) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบด้วยเหตุนี้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบ
เมื่อจำเลยจ่ายเงินเพิ่มตามวุฒิเข้าบัญชีโจทก์ทั้งยี่สิบโดยใช้ฐานการคำนวณจากอัตราเดือนละ 900 บาท เป็นเงินคนละ 12,222 บาท แต่จำเลยได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนไม่ถึงอัตราเงินเพิ่มตามวุฒิ อีกทั้งจำเลยไม่ผูกพันต้องจ่ายเงินเพิ่มตามวุฒิในอัตราเดือนละ 900 บาท แก่โจทก์ทั้งยี่สิบ จำเลยชอบที่จะจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบตามสัดส่วนของเงินที่ได้รับ การที่จำเลยจ่ายเงินอุดหนุนให้โจทก์ทั้งยี่สิบเกินส่วนที่ได้รับโดยนำเงินของจำเลยสมทบเพิ่มไปด้วยจึงเป็นการจ่ายโดยผิดหลง จำเลยจึงชอบที่จะติดตามเอาเงินของจำเลยที่จ่ายสมทบเพิ่มคืน จำเลยชี้แจงเหตุผลแก่โจทก์ทั้งยี่สิบและครูทั้งโรงเรียนแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 และวันที่ 2 กันยายน 2548 ว่าจำเลยได้รับเงินอุดหนุนมาไม่พอ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบยังคงยืนยันร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยลักทรัพย์และยืนยันให้ดำเนินคดีแก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเป็นบุคคลไม่ยอมรับฟังเหตุผลและความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่เหมาะสมแก่การเป็นครู (อาจารย์) ผู้สั่งสอนถ่ายทอดความรู้และจริยธรรมให้แก่นักเรียนผู้เป็นศิษย์ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 6 กำหนดไว้ในข้อ (1) มิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู จำเลยเป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน โจทก์ทั้งยี่สิบเป็นครู (อาจารย์) จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 จึงไม่ถูกต้อง ค่าชดเชยที่จำเลยต้องรับผิดจ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบต้องบังคับตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกความผิดฐานแจ้งความเท็จและการเบิกความอันเป็นเท็จ ศาลพิจารณาพฤติการณ์และเจตนาของผู้เบิกความ
แม้ในคดีก่อนจำเลยเบิกความโดยเชื่อและสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้ลักเอาทรัพย์ไป เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีโจทก์และจำเลยอยู่ในบ้านพักจำเลยเพียง 2 คน แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยหลงลืมสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองที่อ้างว่าได้หายไปไว้ที่บ้าน ร. โดยในวันรุ่งขึ้นจำเลยทราบทางโทรศัพท์จาก บ. และจำเลยไปรับทรัพย์ของจำเลยที่อ้างว่าได้หายไปคืนจาก บ. จากนั้นจำเลยก็ไปแจ้งให้พนักงานสอบสวนบันทึกเรื่องการได้รับทรัพย์คืนไว้เป็นหลักฐานในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังไปขอโทษโจทก์และเป็นผู้ประกันตัวโจทก์ในระหว่างสอบสวน ต่อมาจำเลยก็พยายามบรรเทาผลร้ายดังกล่าวด้วยการเสนอชดใช้ค่าทำขวัญเป็นเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เรียกร้องเป็นเงินถึง 600,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยเข้าใจโจทก์คลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลยไป แม้หลังจากจำเลยรู้ความจริงแล้ว จำเลยมิได้ถอนคำร้องทุกข์ดังที่โจทก์ฎีกา ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยรู้ว่าคดีนั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ได้จึงไม่เป็นข้อพิรุธ ทั้งในคดีก่อนศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยว่าจำเลยปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8792/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานใหม่ในคดีแรงงานอุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างต้องเป็นคู่ความในคดี
โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 8 (4) ซึ่งการพิจารณาคดีแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ วิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ หลักในการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้แล้วหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เพราะการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการสอบสวนไว้โดยเฉพาะ ทั้งกระทำการสอบสวนและใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเพียงลำพังคนเดียว การสอบสวนหาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงอาจมีข้อบกพร่องได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงานคู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น
ผลของคดีที่นายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานอาจกระทบถึงสิทธิจากลูกจ้าง หากนายจ้างมิได้ฟ้องลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยในคดีด้วยศาลแรงงานก็ควรที่จะเรียกลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมอยู่แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้อง ณ. ลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยที่ 2 แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในชั้นตรวจรับคำฟ้องจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนเสียด้วยเพื่อให้ ณ. ลูกจ้างยังคงเป็นคู่ความในคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6685/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบกพร่องฟ้องอุทธรณ์: การไม่ลงชื่อผู้เรียงฟ้อง ส่งผลต่อการพิจารณาของศาล
จำเลยยื่นฟ้องอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้ทำความผิดตามฟ้องแล้วลงชื่อผู้อุทธรณ์และผู้เขียนหรือพิมพ์ จำเลยไม่ได้ลงชื่อผู้เรียงฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070-1071/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา: ระยะเวลาการยื่นคำร้อง และการพิจารณาจากทรัพย์สินที่มีอยู่
บริษัทจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 12,585.10 บาท ทั้งยังมีสินทรัพย์เป็นสินค้าคงเหลือจำนวน 38,124,414.13 บาท จำเลยที่ 1 ยังมีเครดิตขอกู้ยืมเงินได้อีกและมีทรัพย์จำนองในคดีนี้เป็นหลักประกันจึงไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สิน การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่อ้างว่าสินทรัพย์ที่เป็นสินค้าคงเหลือ เป็นมูลค่าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ติดจำนองไว้กับโจทก์ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลภายนอกจึงไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินมาวางศาลเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้ และทรัพย์จำนองมีมูลค่าต่ำกว่าหนี้เงินกู้ จำเลยที่ 1 พยายามติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ เป็นการคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยโดยคำสั่งหลังเสร็จการไต่สวนแล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะคัดค้านโดยการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น มิใช่โดยการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของตนได้ คือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระเสียภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดกรณีหนึ่ง หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา156 วรรคสี่ อีกกรณีหนึ่ง แม้กฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะในการยื่นคำร้องขอไว้ แต่เมื่อการใช้สิทธิดำเนินการในกรณีแรกคือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต้องนำมาชำระภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 การใช้สิทธิดำเนินการในกรณีหลัง ก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการใช้สิทธิเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เหมือนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลพิเศษและสมควร ศาลพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี
การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ส่วนศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป
การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามคำร้องของจำเลยมีพฤติการณ์พิเศษ แต่การที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในครั้งต่อ ๆ ไปอีกหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องได้ความว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้วยังจะต้องมีเหตุอันสมควรอีกด้วย ซึ่งการพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ และหากนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไปจากศาลชั้นต้นจนถึงวันที่ครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 5 เป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ นับว่าเป็นระยะเวลาเพียงพอที่จำเลยจะเรียงอุทธรณ์ได้แล้วเสร็จ การที่จำเลยมาขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 อีก แสดงให้เห็นว่ามิได้ใส่ใจที่จะดำเนินการให้เสร็จลุล่วงไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยอีก
ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในการยกคำร้องข้อหนึ่งว่า "...ข้ออ้างตามคำร้องหาใช่พฤติการณ์พิเศษไม่..." แต่เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวประกอบข้อความอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว ก็มีความหมายเพียงว่า กรณีตามคำร้องไม่ใช่เหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยอีกต่อไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธความรับผิดของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยร่วม ศาลต้องพิจารณาเหตุแห่งการปฏิเสธอย่างชัดเจน
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ฟ้องหรือไม่ มิได้พิจารณาแต่เพียงว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องที่ตนมีอยู่หรือไม่เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมหรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้ศาลยังต้องพิจารณาให้ได้ความว่า บริษัทจำเลยร่วมขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์หรือไม่อีกด้วย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในบริษัทจำเลยร่วม และไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยร่วมโดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธ คำให้การของจำเลยจึงเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก: ศาลพิจารณาโรคซึมเศร้าและพฤติกรรมรุนแรงของผู้ร้องในการกำหนดสิทธิเลี้ยงดู
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องมิได้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสาม ก็ชอบที่จะพิพากษาให้ผู้ร้องไปจดทะเบียนรับผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง เป็นการพิพากษาที่เกินคำขอและขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้และการบังคับจำนอง: ศาลมีอำนาจพิจารณาดอกเบี้ยจำนองเกิน 5 ปีได้ แม้หนี้ประธานขาดอายุความ
แม้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับตามฟ้องจะขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและคดีไม่มีประเด็นว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ศาลย่อมไม่มีอำนาจหยิบยกประเด็นเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นวินิจฉัย แต่ในส่วนของหนี้จำนอง เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้จำนองสามารถบังคับเอากับทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานขาดอายุความ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ อันเป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ระบุไว้ในคำพิพากษาให้ชัดแจ้งด้วยว่าดอกเบี้ยย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี ให้นำมาใช้เฉพาะกรณีที่โจทก์บังคับจำนองเท่านั้น เป็นการพิพากษาให้สิทธิของโจทก์ในการบังคับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญในส่วนของดอกเบี้ยน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กและการกระทำอนาจาร ศาลพิจารณาพยานหลักฐานและปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง
แม้ผู้เสียหายไม่ได้เบิกความถึงการกระทำชำเราของจำเลยอีกกระทงหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายซึ่งพนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคสี่ ให้คู่ความฟังแล้ว จึงต้องถือสื่อภาพและเสียงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคสาม เมื่อสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำชำเราอีกกระทงหนึ่งนั้น ต้องถือว่าผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นพิจารณาแล้ว
of 30