คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หลบหนี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 297 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17905/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การบังคับใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลัง และการนับระยะเวลาหลบหนี
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนี้ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดอาญา จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เกินกว่าสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8784/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีขับรถประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การหลบหนี และประเด็นการรับรองพยานหลักฐาน
โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยผู้ร้องเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิตดังกล่าว มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดในคดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5185/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การช่วยเหลือคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง: ข้อหาครบองค์ประกอบตามฟ้องหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยกับพวกร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยเหลือหรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าว โดยให้ที่พำนักพักพิงที่หลบซ่อน ก่อนนำขึ้นรถยนต์กระบะเพื่อขนพาคนต่างด้าวจากบ้านทุ่งมะกอก ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปส่งที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารพาคนต่างด้าวจำนวน 7 คน ไปส่งที่สวนมะม่วงของ ป. เพื่อรอส่งต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นการกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือหรือช่วยด้วยประการใด ๆ ตามองค์ประกอบบทบัญญัติดังกล่าว หาใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ อันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่า, หลบหนีไม่ช่วยเหลือ, ประมาท, กระทำอนาจาร: ศาลฎีกาแก้เป็นจำคุกฐานพยายามฆ่าและไม่รอการลงโทษ
วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลงทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง แล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ ทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุ เป็นเวลานานถึง 8 วัน และไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11149/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ก่อเหตุแล้วไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและหลบหนี มีองค์ประกอบความผิดฟ้องได้
คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ว่า ภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถในทางและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก. แล้ว มิได้หยุดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บตามสมควร และมิได้นำเหตุที่เกิดไปแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีโดยจำเลยหลบหนีไป และขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตราที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า มิได้หยุดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บตามสมควร โดยไม่ได้บรรยายว่าหยุดอะไรนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นแล้วว่า จำเลยเป็นผู้ขับขี่รถในทางและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยมิได้หยุดรถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดี จึงมิใช่ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5497/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาเหตุบรรเทาโทษจากพฤติการณ์หลังเกิดเหตุ และการมอบตัวต่อเจ้าพนักงาน
การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษนั้น หมายถึงหลังเกิดเหตุจำเลยต้องเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและรับสารภาพความผิด แต่ได้ความจากคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่า หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไป จึงไปขอออกหมายจับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ขณะจำเลยนั่งรถผ่านด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจ การที่จำเลยยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยดีเป็นเพราะมีหมายจับมากกว่าจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษที่จะพึงลดโทษให้จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 78

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดและหลบหนี ความผิดตามมาตรา 339 วรรคแรกประกอบมาตรา 340 ตรี
การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แซงปาดหน้าให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมหยุดแล้วชิงทรัพย์และขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ มีเจตนาใช้รถเพื่อหลบหนีและพาทรัพย์สินไป กระทบความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม
จำเลยเดินไปหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้พูดหรือทำกิริยาอาการอย่างใดที่ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุเพื่อหลบหนีและผู้เสียหายวิ่งตามไปทันขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว แล้วจำเลยถูกผู้เสียหายกระชากคอเสื้อและบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์เพื่อแย่งเอาเงินคืน จำเลยได้เตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การที่จำเลยเตะผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายตามไปแย่งเอาเงินคืนนั้นจึงเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ผู้เสียหายขัดขวางการหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุทั้งเมื่อจำเลยได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดไว้หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุและติดเครื่องยนต์แต่ผู้เสียหายวิ่งตามไปทันจึงกระชากคอเสื้อจำเลยแล้วบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาจะใช้รถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุและใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษและรอการลงโทษเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยไม่ได้ขอให้อนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วการกระทำของจำเลยสร้างความเดือนร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี จำเลยจึงต้องระวางโทษหนักกว่าอีกกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 340 ตรี เป็นระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 7 ปี 6 เดือน ดังนั้น แม้วางโทษจำคุกขั้นต่ำแก่จำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วก็ยังคงต้องลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน โทษจำคุกจึงเกิน 3 ปี ไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่แจ้ง, อุตสาหกรรมยาสูบผิดกฎหมาย, ปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า, และการหลบหนี
จำเลยไปที่บ้านของ ว. พร้อมกับทนายความและเจ้าพนักงานตำรวจอีกคนหนึ่งเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเบิกเงินของ บ และการใช้กระแสไฟฟ้าจากโรงงานจำเลย โดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นได้แอบบันทึกเหตุการณ์ทั้งภาพและเสียงไว้ด้วยพฤติการณ์ในการบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการลักลอบกระทำก่อนวันที่จำเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานเพียง 1 วัน เพราะต้องการจะได้ข้อมูลที่แอบบันทึกไว้ เนื่องจากจำเลยฉีกเอกสารหลักฐานที่ว่าจ้าง บ. ก่อสร้างโรงงานทิ้งไปแล้ว จึงพยายามหาหลักฐานใหม่ ดังนั้น ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นใหม่ด้วยการทำเป็นดีกับ ว. แล้วลักลอบบันทึกเหตุการณ์นั้นไว้ ถือได้ว่า เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงและด้วยวิธีการที่มิชอบ ต้องห้ามมิให้อ้างเป็นพยานหลักฐานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10929/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาที่ไม่สมบูรณ์ และการลงโทษฐานหลบหนีจากเจ้าพนักงาน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้แม้ไม่ยกขึ้น
ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 190 แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง แต่คำขอท้ายฟ้องไม่ได้อ้างมาตรา 190 ซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฟ้องโจทก์ฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังจึงขาดการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการกระทำความผิดฐานนี้ ศาลจะลงโทษตามบทมาตราดังกล่าวไม่ได้ แม้คู่ความมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
of 30