คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กฎหมายไทย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำสัญญาประกันภัยผ่านตัวแทนในไทย ทำให้กฎหมายไทยใช้บังคับ แม้โจทก์เป็นชาวต่างชาติ คดีขาดอายุความ
โจทก์เป็นนิติบุคคลของประเทศอังกฤษมอบหมายให้บริษัท ท. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นตัวแทนติดต่อจำเลยที่ประเทศไทยเพื่อประกันภัยอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทอดโทรทัศน์ของโจทก์ เมื่อคู่สัญญามิได้แสดงเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สัญญาโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์มี ภ. ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัท ท. เป็นตัวแทนในการติดต่อทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยในประเทศไทยการที่จำเลยตกลงรับประกันภัยและส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัท ท. ต้องถือว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยทำหรือเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคสอง สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานที่ทำสัญญาประกันภัยและการบังคับใช้กฎหมายไทย กรณีสัญญาทำผ่านตัวแทนในไทย
โจทก์มอบให้บริษัท ท. เป็นผู้เช่าอุปกรณ์เพื่อใช้ในการถ่ายทอดโทรทัศน์จากโจทก์ ทั้งยังให้บริษัท ท. ชำระค่าเบี้ยประกันภัย และมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย คำบรรยายฟ้องก็ระบุว่ามอบหมายให้บริษัท ท. ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นตัวแทนติดต่อกับจำเลยที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อบริษัท ท. เป็นตัวแทนติดต่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์กับจำเลย จำเลยตกลงรับประกันภัยอุปกรณ์พร้อมกับส่งกรมธรรม์ประกันภัยไปให้บริษัท ท. ซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย จึงถือว่าสัญญาดังกล่าวทำหรือเกิดขึ้นในประเทศไทยและต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยตามมาตรา 13 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882
??
??
??
??

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันช่วงต่างประเทศ: การเกิดขึ้นของสัญญาตามกฎหมายไทย และอัตราดอกเบี้ยผิดนัด
จำเลยขอให้โจทก์ออกหนังสือประกันการปฏิบัติตามสัญญาของกิจการร่วมค้า อ. ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยจำเลยยอมประกันช่วงผูกพันตนด้วยเงื่อนไขทำนองเดียวกันต่อโจทก์ (Instructions and Counter Guarantee) โจทก์ออกหนังสือประกันการปฏิบัติตามสัญญา (Letter of Guarantee, Performance Security) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าได้บอกเลิกสัญญากับกิจการร่วมค้า อ. เพราะเหตุผิดสัญญา และขอให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือประกันดังกล่าว การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและเรียกให้จำเลยชำระเงินจึงเป็นการปฏิบัติไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยรับทราบแล้วแจ้งกลับมายังโจทก์เพียงว่า ศาลในประเทศอิตาลีมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ และกิจการร่วมค้า อ. แจ้งจำเลยว่าจะเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ร่วมเจรจาระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ขอให้โจทก์หยุดชำระเงินไว้ก่อน นั้น ทั้งสองเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลที่จะปลดเปลื้องความรับผิดของโจทก์ที่มีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือปลดเปลื้องจำเลยจากความรับผิดที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาประกันช่วงแต่อย่างใด เพราะเป็นข้ออ้างที่ขัดกับข้อความรับผิดตามหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงนั้นเอง การที่โจทก์ไม่พิจารณาคำทักท้วงดังกล่าวหรือสืบหาข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์ชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อถูกเรียกให้ชำระตามเงื่อนไขและภาระผูกพันในหนังสือประกันย่อมเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันช่วง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
โจทก์ทวงถามเป็นหนังสือไปยังจำเลยโดยการส่งโทรพิมพ์ (First Written Demand by Tested Telex) ตรงตามเงื่อนไขในสัญญาประกันช่วงแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ระบุทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าคู่สัญญาแสดงเจตนากำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิกำหนดอัตราดอกเบี้ยฝ่ายเดียว คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศอิตาลีทำคำเสนอทางโทรพิมพ์มายังโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย โจทก์ไม่ได้ตกลงรับว่าจะออกหนังสือประกันให้ตามที่จำเลยเสนอมาในทันที แต่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในคำสนองว่าโจทก์จะออกหนังสือประกันให้ก็ต่อเมื่อจำเลยยอมประกันช่วงแก่โจทก์ว่าจำเลยจะชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้รับประโยชน์คืนให้แก่โจทก์ เมื่อคำสนองดังกล่าวมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย จึงถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งมีผลเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 359 วรรคสอง แม้จำเลยได้รับโทรพิมพ์ดังกล่าวแล้ว สัญญาขอให้ออกหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลยก็ยังหาได้เกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลีดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยมีโทรพิมพ์ ตอบกลับมายังโจทก์ว่าจำเลยให้อำนาจโจทก์ระบุข้อความรับผิดในการประกันช่วงดังกล่าวได้ โดยมิได้มีข้อความเพิ่มเติมหรือเงื่อนไขอย่างใดอีก โทรพิมพ์ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นคำสนองของจำเลย ดังนี้ สัญญาขอให้ออกหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่โจทก์ได้รับโทรพิมพ์ดังกล่าวที่ประเทศไทยตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคแรกจึงต้องใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาเกิดคือกฎหมายไทยบังคับและต้องฟ้องคดีต่อศาลไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6292/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ - ดอกเบี้ยทบต้นขัดต่อกฎหมาย - การใช้กฎหมายไทยในสัญญา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ผู้คัดค้านในฐานะผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดจึงอาจยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 43 ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุตามมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่จะไม่บังคับตามคำชี้ขาดหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
สัญญาซื้อขายหุ้นกำหนดว่า ความสมบูรณ์ การตีความ และการดำเนินการตามสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการขัดกันของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายหุ้นของอนุญาโตตุลาการจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นรายวัน ซึ่งก็คือให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยได้นั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคสอง และเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ของอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงคงรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น
of 3